โปรเจกต์ฟุตบอลโลกปี 2018 ได้จบลงเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่กรรมการผู้ตัดสินเป่านกหวีดหมดเวลาการแข่งขันนัดที่ 10 ของศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมชาติไทยพ่ายให้กับออสเตรเลียไป 1-2 และเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้เห็น สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ผู้รักษาประตูวัย 35 ปีลงสนามในนามทีมชาติไทยเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากรับใช้ทีมชาติมายาวนานกว่า 13 ปี
โดยการผ่านเข้ามาเล่นในรอบ 12 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี และ ถือว่าเป็นการเดินทางมาพบกับด่านต่างๆ ทั้งหมด 10 เกม กับทีมชั้นนำของเอเชียทั้งหมด 11 ทีม เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่า เราดีพอหรือยังที่จะก้าวขึ้นมาสู่เวทีนี้
การแต่งตั้ง ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง จุดเริ่มต้นของการเดินทาง
หากจะย้อนกลับไปศึกษาที่มาของฟุตบอลทีมชาติไทยในปัจจุบัน อาจต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น นั่นก็คือการได้ โค้ชซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตนักเตะระดับตำนานของทีมชาติไทยเข้ามาคุมทีม โดยในวันนั้น ศรัทธาของแฟนบอลทั้งในทีมชาติและตัวโค้ชยังมีเพียงน้อยนิด ด้วยตัวของซิโก้ ซึ่งเป็นโค้ชที่ผลงานยังไม่โดดเด่นนัก ในฐานะโค้ชและทีมชาติ พวกเขากำลังประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก เนื่องจากผลงานในการแข่งขันแค่ระดับภูมิภาคอาเซียนก็ยังถูกตั้งคำถาม
แต่ด้วยลักษณะที่เป็นสุภาพบุรุษลูกหนังและสไตล์การทำทีมที่เน้นเปิดโอกาสให้ดาวรุ่งในยุคนั้น ทำให้ซิโก้ประเดิมแชมป์แรกด้วยการคว้าเหรียญทองฟุตบอลชายซีเกมส์ได้ที่เมียนมา ในปี 2013 ซึ่งถือเป็นเหรียญทองซีเกมส์ครั้งแรกในรอบ 6 ปี แรงศรัทธาในตัวนักเตะและโค้ชทีมชาติไทยก็กลับมาอีกครั้ง
โดยวันที่ทีมเดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ธีราทร บุญมาทัน กัปตันทีมในขณะนั้นเดินนำทีมออกมาพบสื่อมวลชนและแฟนบอลพร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเหรียญทองซีเกมส์คล้องอยู่ที่คอ หลายๆ อย่างก็เริ่มดีขึ้นจากนั้น
ด้วยการเปิดโอกาสให้กับนักเตะเยาวชน และปรัชญาฟุตบอลที่เน้นความสวยงามของการต่อบอลที่เกิดจากความคุ้นเคยในการเล่นฟุตบอลร่วมกันของนักเตะ ทำให้ทีมชาติไทยดูกลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง และในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ทีมชาติไทยก็กลับมาโชว์ศักยภาพ และทวงความเป็นเจ้าอาเซียน ด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 โดยเอาชนะมาเลเซียในรอบชิงชนะเลิศ
ทีมชาติไทยภายใต้การคุมทีมของซิโก้ได้ทวงบังลังก์ต่างๆ ให้กับทีมชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นการจบอันดับที่ 4 ในเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งที่ 4 การคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนได้ 2 สมัย อีกหนึ่งเหรียญทองซีเกมส์ แชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพครั้งที่ 44 และการพาทีมชาติไทยกลับเข้ามาแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้ายได้อีกครั้ง
แต่ความสำเร็จต่างๆ ไม่ได้นำมาแค่เสียงชื่นชมหรือแฟนบอลที่เดินทางมาชมเต็มความจุของสนามเกือบทุกนัด แต่สิ่งที่มาพร้อมๆ กันคือความคาดหวังที่ดูจะมากขึ้นทุกครั้งที่ทีมชาติไทยสามารถโชว์ทักษะการต่อบอลที่เหนือชั้นกว่าทีมในภูมิภาคเดียวกัน
ฟุตบอลโลกรอบที่ 3 กับการพบยอดทีมแห่งเอเชียอีกครั้ง
ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อิหร่าน, เกาหลีใต้, จีน, ซาอุดีอาระเบีย, อิรัก, กาตาร์, ยูเออี, ซีเรีย และอุซเบกิสถาน หากพูดกันตามตรงแล้ว ชื่อชั้นของฟุตบอลไทยยังดูเป็นรองมาก เพราะดูจากคุณภาพของทีม นักเตะ โค้ช และลีกในประเทศแล้ว ทีมระดับท็อปของอาเซียนดูจะยังห่างไกลจากทีมระดับท็อปของเอเชียมากนัก
และก็เป็นอย่างที่หลายๆ คนคาดคิด แต่ไม่ใช่ที่หลายๆ คนคาดหวัง เมื่อซิโก้ คุมทีมลงสนามไปทั้งหมด 7 ใน 10 นัด ด้วยผลงานแพ้ 6 เสมอ 1 มีเพียง 1 คะแนนเท่านั้น
เสียงเชียร์ซึ่งเคยร้องเป็นหนึ่งเดียวกันเริ่มแตกออกเป็นสองฝั่ง ทั้งฝ่ายที่เรียกร้องให้โอกาสซิโก้ เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาไทยให้โอกาสและเวลา จนซิโก้ พาไทยก้าวกลับขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งไม่พอใจกับการที่ซิโก้เรียกใช้แต่นักเตะชุดเดิม และเชื่อว่าซิโก้ยังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะคุมทีมชาติไทยในการแข่งขันระดับสูงของเอเชียได้
จนกระทั่งวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซิโก้จึงประกาศผ่านอินสตาแกรม ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ยุติบทบาทของคนที่มาช่วยกอบกู้ชื่อเสียงทีมชาติไทย ในวันที่ขาดศรัทธาจนดึงแฟนบอลกลับเข้าเต็มสนามได้อีกครั้ง
ฟุตบอลทีมชาติไทยในยุคของ มิโลวาน ราเยวัช
หลังจากที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เปิดรับสมัครหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย ช้างศึกก็ได้พบกับกุนซือคนใหม่ที่มีชื่อว่า มิโลวาน ราเยวัช หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวเซอร์เบีย ที่เคยคุมทีมชาติกานา ลงสนามในศึกฟุตบอลโลกปี 2010 ที่แอฟริกาใต้มาแล้ว
โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อราเยวัชเข้ามาคุมทีม กุนซือชาวเซอร์เบียเน้นคุมเข้มในด้านของระเบียบวินัย ตั้งแต่การฝึกซ้อมยันการทำงานของผู้สื่อข่าว โดยวันแรกที่ทีมชาติเดินทางไปเก็บตัวที่สนามเกียรติธานี คันทรี คลับ มีการตีเส้นอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ได้แบบจำกัด เพื่อไม่ให้รบกวนการฝึกซ้อม
ตัดภาพมาสู่สนามใหญ่ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนัดที่ 8 ไทยเปิดสนามราชมังคลากีฬาสถานพบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ซึ่งผลของการสร้างระเบียบวินัยมากขึ้นก็เริ่มออกดอกออกผล ด้วยการเล่นสไตล์ที่รัดกุม และ เน้นเกมสวนกลับ มีการใช้แท็กติกมาปรับเปลี่ยนในช่วงระหว่างเกมมากขึ้น ซึ่งถือว่าตอบโจทย์สิ่งที่แฟนบอลหลายคนเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ จนสุดท้ายไทยสามารถเสมอไป 1-1 เก็บแต้มที่ 2 ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกได้สำเร็จ
นอกจากราเยวัชจะแสดงผลงานจากการใช้แท็กติกมาช่วยไทยรับมือกับทีมที่ดูจะเหนือกว่าไทยแล้ว แมตช์นั้นยังเป็นเกมแจ้งเกิดของกองหลังคู่ใหม่ พรรษา เหมวิบูลย์ และ เฉลิมพงษ์ เกิดแก้ว ที่เล่นร่วมกันได้อย่างลงตัว รวมถึงการเรียกตัว ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ มารับหน้าที่ในแดนกลางเป็น ผู้เล่นแบบ Box-to-Box ที่ทำหน้าที่ทั้งตัดเกมและเคลื่อนบอลไปข้างหน้า ซึ่งฐิติพันธ์ก็ทำได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเปิดโอกาสให้ แคมป์-สรรวัชญ์ เดชมิตร จากแบงค็อก ยูไนเต็ด มาเป็นตัวสร้างสรรค์เกม ก็เป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ที่เราได้เห็นในยุคของราเยวัช
ราเยวัชยังพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพครั้งที่ 45 ด้วยการเอาชนะเบลารุสด้วยจุดโทษ ก่อนจะกลับมาแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนัดสุดท้ายในบ้านพบกับอิรัก
ซึ่งเกมนี้ไทยพลาดท่าพ่ายคาบ้านไป 1-2 จากการที่ต้องเหลือผู้เล่นเพียง 10 คน จากใบเหลือง 2 ใบของฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ จนมาในเกมล่าสุดเราก็พ่ายให้กับออสเตรเลียไป 1-2
จบทั้งหมด 10 นัด ไทยมี 2 คะแนน ปิดฉากฟุตบอลโลก 2018 อย่างเป็นทางการ
วิวัฒนาการนักเตะที่เกิดจากลีกที่แข็งแกร่ง
เห็นจากตัวเลือกที่ซิโก้นำมาใช้ จนมาถึงยุคของราเยวัช เราได้เห็นนักเตะมากหน้าหลายตาตบเท้าเข้ามาติดทีมชาติไทย จนสามารถสร้างนักเตะได้หลายชุดที่สามารถลงเล่นได้หลายแท็กติก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากลีกอาชีพของไทยที่แข็งแกร่งขึ้น และจากเป้าหมายของสมาคมกีฬาฟุตบอลที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมฟุตบอล เพื่อนำความฝันของเราเข้าสู่ความจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นก็คือการผ่านไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั่นเอง
โดยหลังจากจบการแข่งขันในนัดนี้ ชนาธิป สรงกระสินธ์ จะเดินทางกลับไปทำหน้าที่ของเขา นั่นก็คือพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักฟุตบอลชั้นนำของอาเซียนในลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นกับคอนซาโดเล ซัปโปโร ขณะเดียวกันนักเตะไทยคนอื่นๆ ก็ต้องกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน นั่นก็คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เพื่อยกระดับการแข่งขันในลีกให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
เราต้องการทุกคน ไม่ใช่แค่คนในสนามกับเป้าหมายฟุตบอลโลก
โปรเจกต์ฟุตบอลบอลโลก 2018 จบลงแล้ว และเรามีเวลาอีก 3 ปีในการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดมาก่อนหน้านี้ โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลได้เริ่มต้นดำเนินแผนการระยะยาว ทั้งการจ้างเอคโคโน บริษัทลูกหนังจากบาร์เซโลนาเข้ามาดูระบบเยาวชนตั้งแต่ทีมชาติชุด U14-U21 เพื่อพัฒนาระบบเยาวชนของเราให้แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่กำลังปูทางและเปิดโอกาสให้กับนักเตะไทยได้ไปค้าแข้งต่างประเทศ
โดยเฉพาะ เอาด์ เฮเวเลย์ เลอเวน (โอเอชแอล) สโมสรฟุตบอลจากลีกดิวิชัน 2 ของเบลเยียม ที่ คิงเพาเวอร์ บริษัทไทยได้เข้าไปเทกโอเวอร์ และได้ส่งนักเตะ 4 คน ประกอบไปด้วย อนนต์ สมากร, ธาวิน มหจินดาวงษ์, จิรัฐติกาล วาพิลัย และสมประสงค์ พรมศร ไปเซ็นสัญญาร่วมกับสโมสร โอเอช ลูเวิน ในลีกรองเบลเยียม ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทยที่กำลังจะมีนักเตะ 4 คนเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลอาชีพในยุโรปอย่างเป็นทางการ
ฟุตบอลไทยกำลังมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยการประสานงานของหลายฝ่ายตั้งแต่สมาคมกีฬาฟุตบอล บริษัทเอกชนและรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้เล่นคนที่ 12 ของเราดูเหมือนจะขาดหายไปในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกตั้งแต่นัดที่ 8 รวมถึงฟุตบอลถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ซึ่งจากการถ่ายทอดสดจะเห็นได้ชัดว่า แฟนบอลไม่ได้เดินทางเข้ามาชมการแข่งขันเต็มความจุของสนามเท่ากับเมื่อก่อน
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าน้อยใจ เพราะพลังการขับเคลื่อนทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงสมาคมฯ หรือสโมสร แต่มันเกิดขึ้นจากเสียงเชียร์ในสนาม ซึ่งบางครั้งสามารถเป็นปัจจัยที่ช่วยตัดสินชัยชนะในเกมนั้นเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น ในเวลา 3 ปีต่อจากนี้ ก่อนจะเริ่มต้นโครงการฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกสำหรับฟุตบอลโลกปี 2022 กันใหม่ ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน และทุกคนจำเป็นต้องเดินหน้าร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือการเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้
ถึงแม้ว่าเราในฐานะสื่อมวลชนหรือแฟนบอลจะเป็นเสียงเล็กๆ ที่อาจจะไปถึงหรือไม่ถึงนักฟุตบอล แต่หากพวกเราร่วมกันส่งเสียงเชียร์เป็นพลังพร้อมๆ กัน เชื่อว่าอย่างน้อยเสียงเชียร์และบรรยากาศในสนามราชมังคลากีฬาสถานของเราจะไม่เป็นรองใครในโลกอย่างแน่นอน