โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ออกคำชี้แจงกรณีข่าวผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีจากการรับเลือดในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตรวจสอบข้อมูล และยอมรับว่าบุคคลในข่าวนั้นเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจริง ซึ่งเข้ารับการรักษาอาการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเมื่อ พ.ศ. 2547 หรือ 15 ปีก่อน
โรงพยาบาลไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เลือดที่ใช้ในการรักษาเป็นการรับเลือดจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งมีการคัดเลือกและตรวจเลือดผู้บริจาคตามมาตรฐานระดับสากลอยู่แล้ว นอกจาการซักประวัติพฤติกรรมความเสี่ยง ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยน้ำยาที่มีความไวสูงสุด รวมทั้งกระบวนการอื่นๆ ที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ทราบดีว่าเลือดจากสภากาชาดไทยจะมีความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว
แม้จะมีเทคโนโลยีและกระบวนการที่ทันสมัยที่สุด แต่การคัดกรองการติดเชื้อในเลือดยังมีข้อจำกัดทางการแพทย์ กรณีที่ผู้บริจาคเลือดเพิ่งได้รับเชื้อเข้ามาใหม่จะไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ เนื่องจากมีปริมาณเชื้อไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ด้วยวิธีใดๆ (Window period) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อเหล่านี้ โดยหลักปฏิบัติโรงพยาบาลต่างๆ จะให้ผู้ป่วยลงนามรับทราบถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการได้รับเลือด ซึ่งรวมถึงเชื้อเอชไอวีด้วย แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมากอย่างเช่นกรณีนี้เป็นต้น
โรงพยาบาลรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายดังกล่าว และให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งค่าดูแลรักษาและอาการข้างเคียงอื่นๆ อันเป็นผลจากการติดเชื้อ รวมทั้งการเข้ารักษาทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 266 ครั้ง คิดเป็นเงินมูลค่านับล้านบาท โรงพยาบาลขอยืนยันที่จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างดีที่สุดต่อไป รวมถึงการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าว THE STANDARD ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งให้ข้อมูลว่ายังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด ยืนยันว่าโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยด้วยกระบวนการที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากเลือดที่รับจากสภากาชาดไทย ซึ่งโอกาสในการเกิดกรณีแบบนี้จะน้อยมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลก็ได้ดูแลผู้ป่วยรายดังกล่าวมาโดยตลอด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: