ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการลงทุน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานโดยรวมที่เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณการชะลอลงของการจ้างงานในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออก
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ
ความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม รวมทั้งความไม่แน่นอนของปัจจัยในประเทศ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินสกุลในภูมิภาค ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการเห็นว่ายังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย