×

คาเมนไรเดอร์ ซูเปอร์เซนไต และอุลตร้าแมน ย้อนอดีตยอดมนุษย์ยุคเฮเซ ที่ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่

02.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • โทคุซัทสึ คือศัพท์ที่ใช้เรียกภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ต้องถ่ายทำด้วยวิชวลเอฟเฟกต์ โดยเริ่มต้นใช้คำนี้อย่างเป็นทางการจากเรื่อง Gojira (1954) และกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์สำคัญของวงการโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน
  • คาเมนไรเดอร์ ซูเปอร์เซนไต และอุลตร้าแมน คือ 3 ซีรีส์หลักที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่พวกเขาแสดงให้เห็นคือ การเรียนรู้ที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อครองใจผู้ชมให้ได้อยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม
  • ในวันที่ประเทศญี่ปุ่นผลัดเปลี่ยนยุคสมัยจากเฮเซเป็นเรวะ THE STANDARD POP ขอพาทุกคนย้อนความทรงจำไปถึงจุดกำเนิดของยอดมนุษย์โทคุซัทสึ รวมถึงบทบาทที่น่าจดจำของซูเปอร์ฮีโร่ยุคเฮเซ ที่นับว่าเป็นยุคทองของพวกเขา ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับซูเปอร์ฮีโร่รุ่นน้องในยุคเรวะรับหน้าที่สร้างความสุขให้กับผู้ชมต่อไป

เชื่อว่าผู้ชายที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีในตอนนี้ต้องมีชีวิตวัยเด็กช่วงหนึ่งที่เติบโตมากับบรรดาซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่อย่าง คาเมนไรเดอร์ ซูเปอร์เซนไต, อุลตร้าแมน และอีกหลายเรื่องที่หลายคนเรียกรวมกันว่า ‘โทคุซัทสึ’ (Tokusatsu) และความสนุก ตื่นเต้นเหล่านั้นยังคงอยู่ในความทรงจำประทับใจไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม (เชื่อว่าต้องเคยจำท่าแปลงร่างสุดเท่ไปเล่นกับเพื่อนๆ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องแอบทำคนเดียวหน้ากระจกกันบ้าง!)

 

โทคุซัทสึ นับเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของ ‘ป๊อปคัลเจอร์’ ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 30 ปีของยุคเฮเซ จากพัฒนาการด้านเนื้อเรื่องที่เข้มข้นมากขึ้น ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นซีรีส์สำหรับเด็กอย่างเดียว พัฒนาการเทคนิคพิเศษ รวมทั้งการริเริ่มไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นลูกโซ่ส่งผลต่อเนื่องไปยังซีรีส์เรื่องต่อๆ ไป จนเราสามารถเรียกว่าช่วงเวลา 30 ปีนี้คือยุคทองของโทคุซัทสึอย่างแท้จริง

 

ในวันที่ประเทศญี่ปุ่น ต้นกำเนิดวัฒนธรรมโทคุซัทสึได้เปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากเฮเซเป็นเรวะ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 THE STANDARD POP อยากขอพาผู้อ่านทุกท่านเดินทางย้อนความทรงจำตลอด 30 ปี ไปถึงจุดเริ่มต้น ความเปลี่ยนแปลง เสน่ห์ที่หาจากไหนไม่ได้ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่แห่งยุคเฮเซ ก่อนที่พวกเขาจะส่งไม้ต่อให้กับซูเปอร์รุ่นน้องแห่งยุคเรวะ เพื่อสานต่อความยิ่งใหญ่ของโทคุซัทสึให้อยู่ในหัวใจของคนดูต่อไปนานเท่านาน

 

จากตำนานราชาสัตว์ประหลาด สู่จุดเริ่มต้นของการเดินทางโทคุซัทสึ

 

เอจิ สึบุรายะ

Photo: drugstoremag.es

 

ถ้าจะลงลึกไปถึงต้นกำเนิดการเดินทางทั้งหมด ต้องย้อนเวลากลับไปในวันที่ราชาสัตว์ประหลาดออกอาละวาดเมื่อ 65 ปีก่อน

 

โทคุซัทสึ (การถ่ายทำด้วยเทคนิคพิเศษ) คือศัพท์ที่ใช้เรียกภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ต้องถ่ายทำด้วยวิชวลเอฟเฟกต์ โดยเริ่มต้นใช้คำนี้อย่างเป็นทางการจากเรื่อง Gojira (1954) ภาพยนตร์ระดับตำนานของผู้กำกับ อิชิโระ ฮอนดะ ที่ร่วมมือกับช่างเทคนิคพิเศษ เอจิ สึบุรายะ และโทโมยูกิ ทานากะ โปรดิวเซอร์จาก Toho Studios สามบุคคลสำคัญผู้ทำให้ ก็อตซิลล่า ราชาแห่งสัตว์ประหลาดมาบุกโลก

 

ฮารุโอะ นากาจิมะ

Photo: www.dreadcentral.com

 

สิ่งที่ เอจิ สึบุรายะ เลือกใช้ในวันที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน คือการนำยางรถยนต์มาหลอมทำชุดก็อตซิลล่าให้นักแสดงสวมใส่ เพื่อให้การเคลื่อนไหวของก็อตซิลล่ามีความสมจริงมากที่สุด (เทคนิค Suitmation) ชายคนแรกที่ได้รับหน้าที่เข้าไปอยู่ในชุดยาง และทำให้ราชาแห่งสัตว์ประหลาดมีชีวิตขึ้นมานั้นคือ ฮารุโอะ นากาจิมะ

 

 

Photo: mfcinerama.pl

 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างฉากบ้านเมืองขนาดเล็กเพื่อใช้ในการถ่ายทำสำหรับฉากที่ก็อตซิลล่าบุกโจมตี พร้อมติดเอฟเฟกต์ระเบิด สะเก็ดไฟ เรียกได้ว่าทีมงานพยายามค้นหาทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มความสมจริงให้มากที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีขณะนั้นเอื้ออำนวย

 

Gekko Kamen ซูเปอร์ฮีโร่รุ่นพี่ยุค 50s ที่ช่วยบุกเบิกเส้นทางให้กับรุ่นน้องในยุคต่อมา

 

Photo: tokusatsu.fandom.com และ tokupedia.tumblr.com

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุค 50s โทคุซัทสึยังไม่นิยมสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นสื่อใหม่ที่ยังไม่มีคนรู้จัก จนกระทั่งในปี 1958 โทคุซัทสึฉบับละครโทรทัศน์เรื่องแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ Gekko Kamen หรือ Moonlight Mask ซูเปอร์ฮีโร่ผู้สวมหน้ากากปิดบังใบหน้า ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจเพื่อต่อสู้กับเหล่าร้ายโดยที่ไม่มีใครรู้จักตัวจริงของเขา

 

Gekko Kamen ถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเวลานั้น โดยมีจำนวนตอนที่ออกอากาศถึง 131 ตอน และถูกสร้างเป็นฉบับภาพยนตร์ 6 ภาค เรียกได้ว่าความสำเร็จของ Gekko Kamen ทำให้เกิดซีรีส์โทคุซัทสึบนหน้าจอโทรทัศน์อย่าง คาเมนไรเดอร์ ซูเปอร์เซนไต ฯลฯ เพิ่มขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา

 

เฮเซ คาเมนไรเดอร์ การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่พร้อมความคิดสร้างสรรค์ที่ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ

 

Henshin!

 

ถ้อยคำอมตะที่ทำให้เราอยากกระโดดขึ้นมาทำท่าแปลงร่างและออกไปต่อสู้กับเหล่าร้ายไปพร้อมๆ กับคาเมนไรเดอร์ที่อยู่บนจอโทรทัศน์

 

จุดเริ่มต้นของซีรีส์คาเมนไรเดอร์นั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1971 ของยุคสมัยโชวะ ที่ทำให้คนไทยเริ่มรู้จัก ‘ไอ้มดแดง’ เป็นครั้งแรก โดยมีคาเมนไรเดอร์วีสาม, คาเมนไรเดอร์เอ็กซ์, คาเมนไรเดอร์แอมะซอน, คาเมนไรเดอร์สตรองเกอร์ เป็นตัวละครเด่นๆ ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เพียงแต่หลังจากที่เรื่องราวของบุตรแห่งดวงอาทิตย์ Kamen Rider Black RX ได้จบลงในปี 1988 เราก็ไม่ได้เห็นซีรีส์นี้บนจอโทรทัศน์อีกเลย

 

 

จนกระทั่งในปี 2000 ที่คาเมนไรเดอร์คูกะ นักรบผู้โดดเด่นดวงตาสีแดงได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง โดยคราวนี้เปลี่ยนไปตั้งแต่จุดกำเนิด ที่พระเอกไม่ได้ถูกแปลงให้กลายเป็นคาเมนไรเดอร์ และยังมาพร้อมกับธีมเรื่องที่เพิ่มแนวสืบสวนสอบสวน มีการพัฒนาบทให้เข้มข้นขึ้น เหมาะสำหรับคนดูกลุ่มที่โตขึ้น ทำให้บรรยากาศโดยรวมของซีรีส์มีความลึกลับ ซับซ้อน แตกต่างจากเวอร์ชันของรุ่นพี่อย่างเห็นได้ชัด

 

แม้กระทั่งฝั่งตัวร้ายเองก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และได้รับการพัฒนาให้มีบทบาทและมิติของตัวละครที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้น

 

หากเราย้อนเวลากลับไปดูเรื่องราวของเหล่าตัวร้ายจากซีรีส์ยุคโชวะอย่าง องค์กรช็อกเกอร์, เดสตรอน, แบล็กซาตาน, โกลกอม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีลักษณะที่เป็นเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ อาจมีความแตกต่างกันในด้านที่มาบ้าง แต่พวกเขาต่างมีจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือยึดครองโลก ซึ่งถือเป็นธีมหลักของตัวร้ายในซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ เรื่อง

 

 

 

เพียงแต่กลุ่มตัวร้ายในซีรีส์เรื่องนี้อย่าง ‘กูรอนกิ’ เหล่าปีศาจโบราณที่เคยพ่ายแพ้ให้กับคูกะในอดีต ก่อนที่จะคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง กลับมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือ ‘เกม’ หรือที่เรียกว่า ‘เกเกรุ’ โดยออกตามฆ่า ‘รินโตะ’ เผ่าพันธุ์มนุษย์ เพื่อเลื่อนชนชั้นของตัวเองไปเรื่อยๆ ตามกฎที่ถูกตั้งขึ้น หากใครเป็นผู้ชนะก็จะได้เข้าท้าชิงกับ ดากุบา ราชาแห่งกูรอนกิเพื่อขึ้นเป็นราชาคนใหม่

 

จุดประสงค์ของตัวร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากการหวังยึดครองโลก การเพิ่มความซับซ้อนให้กับตัวร้ายอย่างการแบ่งชนชั้นและต่อสู้เพื่อเลื่อนขั้นตัวเอง ถือเป็นการก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ของซีรีส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ซีรีส์ Kamen Rider เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ ของเหล่าไรเดอร์ที่นำสิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ไพ่, โทรศัพท์, เครื่องดนตรี ฯลฯ มาผสมผสานให้เข้ากับธีมของเรื่องได้อย่างสร้างสรรค์

 

รวมไปถึงการเพิ่มตัวละครพระรอง คาเมนไรเดอร์คนที่ 2 ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องเป็นครั้งแรกใน Kamen Rider Agito และการนำเหล่าไรเดอร์มาต่อสู้กันเองในซีรีส์ Kamen Rider Ryuki ทำให้เราได้เห็นคาเมนไรเดอร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และไม่ได้อยู่ในฐานะซูเปอร์ฮีโร่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

 

เรียกได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของคาเมนไรเดอร์ยุคเฮเซ ได้กลายเป็นการวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่งให้กับซีรีส์ Kamen Rider อีก 20 เรื่องในเวลาต่อมา ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ Kamen Rider ยุคเรวะในเวลาต่อไป

 

ซูเปอร์เซนไต การเดินทางของป๊อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นที่เปิดประตูสู่ชาติตะวันตก

ซูเปอร์เซนไต ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ขบวนการ 5 สี’ นับว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์โทคุซัทสึที่เดินทางสร้างความสนุกให้กับเด็กๆ มาอย่างต่อเนื่องถึง 43 ขบวนการ ตลอดระยะเวลากว่า 44 ปี

 

ในช่วง 30 ปีแห่งยุคเฮเซนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของซีรีส์นี้ที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จัก โดยเริ่มต้นจากขบวนการลำดับที่ 13 ขบวนการความเร็วสูง Turboranger ในปี 1989 ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอให้เด็กๆ บางคนถึงขนาดทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงให้ได้สวมบทบาทที่ตัวเองชอบ (ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง) แต่หากจะพูดถึงซีรีส์ที่นับเป็นปรากฏการณ์ของซูเปอร์เซนไตจริงๆ ต้องยกให้ ขบวนการไดโนเสาร์ จูเรนเจอร์ (ลำดับที่ 14) ที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1992

 

ด้วยธีมของเรื่องที่จับเรื่องราวแฟนตาซีของเทพมาผสมผสานกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีความแตกต่างจากขบวนการเซนไตรุ่นพี่ที่ส่วนใหญ่แล้วจะมาในแนววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้เหล่านักรบไดโนเสาร์เรื่องนี้มีเสน่ห์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในทันที

 

อีกหนึ่งความโดดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้ที่ได้วางรากฐานให้กับซีรีส์เรื่องต่อๆ ไป คือจุดเริ่มต้นของ ดราก้อนเรนเจอร์ ที่นับเป็นสมาชิกคนที่ 6 คนแรกที่มีบทบาทเต็มๆ (ก่อนหน้านี้เคยมี X1 Mark ใน ขบวนการแสงมาสก์แมน ที่เคยออกฉายในปี 1987 แต่มีบทบาทเพียงแค่ 1 ตอน) เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในใจจากยอดมนุษย์สีแดงของเด็กๆ ได้เป็นจำนวนมาก

 

โดย ดราก้อน เรนเจอร์ หรือบูไร มีบทบาทสำคัญในฐานะพี่ชายของตัวละครหลัก เกคิ ที่ในช่วงแรกจะต้องต่อสู้กับน้องชายตัวเองด้วยความเข้าใจผิด แต่ภายหลังบูไรก็กลับมาช่วยเหลือเหล่าจูเรนเจอร์ และกลายเป็นสมาชิกคนที่ 6 อย่างเป็นทางการ ซึ่งความสำคัญของดราก้อน เรนเจอร์ได้กลายเป็นธรรมเนียมที่ต้องสร้างตัวละครที่ 6 ในทุกซีรีส์ต่อๆ มา

 

 

Photo: geektyrant.com

 

ไม่ใช่แค่ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศฝั่งตะวันออก เหล่าจูเรนเจอร์ยังได้รับการยอมรับในระดับโลกถึงขนาด Saban Entertainment บริษัทผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จากประเทศอเมริกา ได้ซื้อลิขสิทธิ์จูเรนเจอร์ไปสร้างใหม่ในชื่อ Mighty Morphin Power Rangers ออกฉายครั้งแรกในปี 1993

 

และ Mighty Morphin Power Rangers ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา จนทำให้เกิดซีรีส์เรื่องใหม่ๆ ที่ดัดแปลงจากซูเปอร์เซนไตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2017 ที่มีการขยายซีรีส์ Power Rangers เป็นเวอร์ชันภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่ถึงแม้ว่าจะทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 142 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าซีรีส์ซูเปอร์เซนไตจากฝั่งตะวันออกมีอิทธิพลต่อชาติตะวันตกอย่างมากได้เหมือนกัน

 

อุลตร้าแมน การกำเนิดใหม่อีกครั้งของนักรบแห่งแสงที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์มากกว่าเดิม

 

Photo: ultra.fandom.com

 

นอกจากให้กำเนิดราชาแห่งสัตว์ประหลาดอย่าง เอจิ สึบุรายะ ยังได้ฝากผลงานซีรีส์อุลตร้าแมน ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 1966 จนกลายเป็นอีกหนึ่งซีรีส์โทคุซัทสึรุ่นพี่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ซีรีส์คาเมนไรเดอร์และซูเปอร์เซนไต โดยเฉพาะในยุคเฮเซที่มี ซีรีส์นักรบแห่งแสงถือกำเนิดขึ้น 16 เรื่อง และนับว่าเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก

 

โดยหลังจากที่เรื่องราวมิตรภาพของครูและลูกศิษย์ในซีรีส์ Ultraman 80 ที่ออกฉายในปี 1980 ได้ปิดฉากอุลตร้าแมนยุคโชวะลงอย่างสวยงาม ทางสึบุรายะก็ได้จับมือกับบริษัท South Australian Film จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อการสร้างอุลตร้าแมนเวอร์ชันต่างประเทศเรื่องแรก Ultraman Great ออกฉายในปี 1991 และเวลาต่อมายังได้ร่วมมือกับ Major Havoc Entertainment จากสหรัฐอเมริกา ในการนำอุลตร้าแมนภาคแรกมารีเมกใหม่ในชื่อ Ultraman Powered ออกฉายในปี 1993

 

ถึงแม้ว่าอุลตร้าแมนทั้ง 2 ภาคจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ แต่ถ้าย้อนมาดูในประเทศญี่ปุ่น เรื่องราวของนักรบแห่งแสงนั้นได้ห่างหายจากหน้าจอโทรทัศน์ไปอย่างไร้วี่แวว

 

จนกระทั่งในปี 1996 นักรบแห่งแสงถึงมีโอกาสกลับมาต่อสู้ปกป้องโลกมนุษย์อีกครั้งในวาระฉลองครบรอบ 30 ปีซีรีส์อุลตร้าแมน โดย อุลตร้าแมนทีก้า ที่มาพร้อมกับรูปร่างที่ทันสมัยและสีสันฉูดฉาด และการโชว์เทคนิคพิเศษสุดตระการตา รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ของซีรีส์จนกลายเป็นแบบอย่างให้กับซีรีส์อุลตร้าแมนเรื่องต่อๆ ไป

 

เริ่มต้นด้วยบทบาทใหม่ของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงที่ไม่ได้มาในฐานะผู้พิทักษ์จักรวาลจากดาว M78 แต่เขามาในฐานะของนักรบโบราณ ผู้จำศีลตัวเองเพื่อรอคอยวันที่ ‘ความมืด’ กลับมาอีกครั้ง ซึ่งหากอ้างอิงจากเนื้อหาของภาพยนตร์ Ultraman Tiga: The Final Odyssey อุลตร้าแมนทีก้าถือเป็นอุลตร้าแมนตัวแรกที่มีจุดเริ่มต้นเป็นอุลตร้าแมนผู้ชั่วร้ายในชื่อ ทีก้าดาร์ก

 

และความสามารถใหม่ เช่น การเปลี่ยนฟอร์มหรือสีของร่างกายเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างร่าง Multi Type ร่างเริ่มต้นและร่างหลักที่มีความสามารถสมดุลที่สุด, Power Type ร่างสีแดงที่เพิ่มพละกำลังให้กับทีก้า แต่ก็ต้องแลกกับความเร็วที่ลดลง และ Sky Type ร่างสีฟ้าที่เพิ่มความรวดเร็วให้กับทีก้า แต่ก็ต้องแลกกับพละกำลังเช่นกัน

 

รวมไปถึงร่าง Glitter Tiga ร่างสุดยอดของอุลตร้าแมนทีก้าที่ได้รับพลังจากเหล่าเด็กทั่วโลกที่ส่งแสงแห่งความหวังมาให้อุลตร้าแมนทีก้า (คล้ายๆ บอลเกงกิในดราก้อนบอล) และความโดดเด่นในร่างนี้นี่เองที่ทำให้ซีรีส์อุลตร้าแมนเรื่องต่อๆ จะต้องมีร่างสุดยอดเป็นของตัวเองทั้งหมด

 

นอกจากนี้ในซีรีส์ Ultraman Gaia ที่ออกฉายในปี 1998 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่ได้กำเนิดนักรบสีฟ้าอย่าง อุลตร้าแมนอากูล ที่ตอนแรกรับบทเป็นตัวร้ายคอยควบคุมสัตว์ประหลาดให้ออกอาละวาด แต่ตอนหลังมีบทบาทสำคัญในฐานะพระรองที่โดดเด่นมากๆ ในเรื่อง และอุลตร้าแมนอากูลก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมของซีรีส์อุลตร้าแมนเรื่องต่อๆ มาว่าจะต้องมีบทนักรบสีฟ้าที่มาเป็นพระรองด้วยเช่นกัน

 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญในด้านความคิดสร้างสรรค์ของซีรีส์อุลตร้าแมนคือ การรวมร่างของอุลตร้าแมนในอุลตร้าแมนคอสมอสฉบับภาพยนตร์ Ultraman Cosmos VS Ultraman Justice: The Final Battle ที่การร่วมร่างของอุลตร้าแมนคอสมอสและอุลตร้าแมนจัสติส เพื่อให้กำเนิดอุลตร้าแมนตัวใหม่อย่าง อุลตร้าแมนรีเจนต์ ที่สร้างความฮือฮาและเรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนๆ ได้เป็นจำนวนมาก

 

การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยที่ให้บทเรียนว่า แม้กระทั่ง ‘ยอดมนุษย์’ เองก็ต้องปรับตัว

ในช่วง 30 ปีก็ยังมีซีรีส์โทคุซัทสึอีกมากมาย อาทิ เมทัลฮีโร่ซีรีส์ (ตำรวจเหล็กจีบัน), โทมิกะฮีโร่ซีรีส์ ฮีโร่กู้ภัย (เรสคิวฟอร์ซ), โชวเซจินฮีโร่ (แกรนเซเซอร์) ฯลฯ ที่ถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยม และไม่ได้รับการสานต่อกับ 3 ซีรีส์เรื่องดังที่ได้กล่าวไป แต่ก็นับว่าเป็นตัวละครสำคัญที่ผลัดเปลี่ยนกันมาสร้างสีสันให้กับวงการโทคุซัทสึยุคเฮเซได้เป็นอย่างดี

 

ซึ่งหากมองข้ามความบันเทิงและเนื้อเรื่องที่ทางทีมงานผู้สร้างได้พัฒนามาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่คนดูอย่างเราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับทีมงานและเหล่ายอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดได้ก็คือ

 

ในวันที่เวลาล่วงผ่านไปเรื่อยๆ ต่อให้มีพลังมากขนาดไหน ประสบความสำเร็จมากเท่าไร ก็ไม่อาจหลีกหนีสัจธรรมที่ว่า ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ แม้กระทั่งยอดมนุษย์ทั้งหลายยังต้องมีช่วงที่ประสบความลำบาก ไม่ได้รับความนิยม แต่พวกเขาก็ไม่เคยยอมแพ้ หาข้อบกพร่องของตัวเอง เรียนรู้ ศึกษา หาวิธีที่จะกลับมาเพื่อเอาชนะใจผู้คนให้ได้อยู่เสมอ

 

และเราเชื่อว่าเมื่อยุคสมัยเฮเซสิ้นสุดลง บรรดาซูเปอร์ฮีโร่รุ่นน้องแห่งยุคเรวะต่างก็มีหน้าที่ที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับโลกและผู้ชมยุคใหม่ และช่วยกันสร้างสรรค์ให้วงการโทคุซัทสึยังอยู่ในหัวใจของผู้ชม ช่วยสร้างความสุขและแรงบันดาลใจต่อไปตราบนานเท่านาน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X