ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิด Digital Disruption ขึ้นในแทบจะทุกธุรกิจ องค์กร และอาชีพ จนพูดได้ว่า ทุกชีวิตได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงแห่งยุคสมัย ไม่เว้นแม้แต่สถานศึกษา เพราะหลักสูตรที่มีมาแต่เดิมนั้นอาจจะตอบโจทย์โลกแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่ได้อีกต่อไป หลักสูตรการศึกษาที่สถาบันการศึกษามีอยู่แต่เดิมมานมนาน ก็อาจจะก้าวตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ประกอบกับความรู้ความสามารถของอาชีพบางสาขานั้นกลับไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ส่งผลให้บัณฑิตใหม่ที่จบออกมานั้นไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเร่งปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย
นี่เป็นเหตุผลที่ THE STANDARD มาพบกับ อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ Panyapiwat Institute of Management หรือ PIM (พีไอเอ็ม) ซึ่งมีความโดดเด่นในฐานะที่เป็นต้นแบบ ‘Corporate University’ เต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย และเน้นหนักในรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ‘Work-based Education’ ทุกหลักสูตร เพราะผ่านการแก้ไข ปรับปรุงกระบวนการและการปฏิบัติงานจริง จนกล้าพูดได้ว่า สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจารย์ทุกคนเข้าใจโมเดลนี้ และสามารถนำไปใช้กับการเรียนการสอน รวมไปถึงนักศึกษาและผู้ปกครองเองก็มีความเข้าใจร่วมกันกับสถาบันเช่นกัน ตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษาและระหว่างศึกษา อีกทั้งยังมุ่งให้นักศึกษาของสถาบันฯ ได้มีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติงานจริงแล้ว ทางสถาบันฯ ยังพร้อมที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา
วิถีแห่ง Corporate University
สถาบันอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ
“พีไอเอ็มหรือสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งก่อตั้งและได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ที่นี่เปิดมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ผลิตนักศึกษาออกมา 8 รุ่น กำลังจะมีรุ่นที่ 9 รวมแล้วมีผู้สำเร็จการศึกษากว่า 10,000 คน คิดเป็น 97.4% ของบัณฑิตมีงานทำ”
เมื่อพูดถึงคอนเซปต์ของ Corporate University อาจารย์พรวิทย์อธิบายให้เราเข้าใจว่า ในแวดวงธุรกิจนั้น บริษัทใหญ่ทั้งหลายมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมพนักงานให้รู้จักทำงานของบริษัทตัวเองให้เป็น ตัวอย่างของธุรกิจเอกชนที่ก่อตั้ง Corporate University นั้นก็มีกันอยู่ทั่วโลกอย่าง McDonald University, General Motors University, Ford University, Boeing University ฯลฯ
“บริษัทใหญ่ๆ เช่นนี้ โดยแทบทั้งหมดก็จะมีหน่วยฝึกอบรม ไม่ว่าจะอบรมทางด้าน Hard Skill เช่น สามารถใช้เครื่องจักรเป็น หรือเมื่อไปขายของก็จะต้องรู้จักเรื่องของ Product Knowledge ว่าสินค้านั้นมีคุณสมบัติและทำงานอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องมี Soft Skill สามารถสอนให้พูดจากับคนได้ พรีเซนต์งานเป็น รู้จักว่าการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร การดีลงานกับลูกค้าเป็นอย่างไร”
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
“ยกตัวอย่าง ร้าน 7-Eleven ก็มีหน่วยฝึกอบรม ซึ่งหน่วยฝึกอบรมของบริษัทใหญ่ที่ดำเนินการมานานๆ ก็จะสั่งสมประสบการณ์จนเกิดเป็น ‘องค์ความรู้’ กลายเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมการเรียนการสอน แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งนอกเหนือจากการฝึกอบรมก็ยังต้องไปหาความรู้ใหม่ๆ เข้ามา เพราะการจะดำเนินการกิจการของธุรกิจได้นั้น จะต้องมองไปข้างหน้า เนื่องด้วยความต้องการของตลาดและลูกค้านั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยถึงแนวโน้มของผู้บริโภคและความต้องการของแรงงาน เพื่อที่จะตอบโจทย์ แล้วนำความรู้นี้กลับไปยังบริษัท และนี่คือคอนเซปต์โดยรวมของ Corporate University ซึ่งถ่ายเทความรู้กันไปมาระหว่างทั้งสถาบันการศึกษาและบริษัท ผ่านทั้งการศึกษาวิจัย ทางอาจารย์ซึ่งเป็นบุคลากรของบริษัทที่มารับหน้าที่สอนเป็นอาจารย์พิเศษ และนักศึกษาที่ได้มีโอกาสไปแสวงหาประสบการณ์การทำงานจริง นี่คือข้อแตกต่างที่โดดเด่นของ Corporate University”
ต้นฉบับ ‘Work-based Education’ Model
มากกว่าการศึกษา คือ ‘ประสบการณ์’ ทำงานจริง
อาจารย์พรวิทย์ชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์สำคัญในการศึกษาหาความรู้นั่นคือ เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ ว่าความรู้ใหม่ๆ นั้นเป็นที่ต้องการสำหรับนำไปประกอบธุรกิจ ดังนั้น คนที่เรียนรู้ตรงนี้ย่อมจะมีข้อได้เปรียบโดดเด่น ไม่เหมือนกับการเรียนการสอนที่ผู้สอนก็สอนไป ผู้เรียนก็เรียนไป โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่า ตลาดงานที่รองรับอยู่นั้นต้องการอะไร นี่คือสาเหตุใหญ่และข้อแตกต่างของ Corporate University ซึ่งสำหรับพีไอเอ็มนั้นยังเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ทั้งยังเป็นต้นแบบของ Work-based Education ที่หลักสูตรการศึกษาเน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มอบโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานจริงให้อยู่ภายในหลักสูตร
“แค่การเรียนใน Corporate University อย่างเดียวอาจไม่พอ หลักสูตรของเราจึงได้เน้นอีกอย่างคือ เรื่องของ Work-based Education ซึ่งเราเป็นต้นแบบของการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยในประเทศไทยแห่งแรก นั่นคือการส่งนักศึกษาไปทำงานในระหว่างเรียน ซึ่งพีไอเอ็มนั้นเราได้จัดให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการฝึกงานจริงภายใต้หลักสูตรตลอด 4 ปี เลยทีเดียว เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อม เรียนจบไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที เพราะระหว่างที่เรียนนั้น เขาก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้ชีวิตการทำงานจริงๆ ได้ฝึกใช้ทักษะที่จำเป็นสำหรับตลาดแรงงาน อุตสาหกรรม และบริษัทหรือองค์กรต่างๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว แถมจบไปแล้วยังมีข้อได้เปรียบเรื่องการหางานอีกด้วย เพราะเมื่อเขามีทักษะที่คนจ้างมองหาอยู่ ก็ย่อมจะเป็นที่ต้องการ
“และอีกอย่างที่สำคัญก็คือ ข้อดี ซึ่งนอกจากเขาจะได้รับโอกาสและประสบการณ์ จนสามารถทำงานได้จริงแล้ว หากในโลกของการทำงานจริงๆ นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของฝีมือการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องทัศนคติที่ดีในการทํางาน ความมีวินัย ความตรงต่อเวลา การรู้จักทำงานเป็นทีม ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ซึ่งบริษัทที่รับเขาเข้าไปฝึกปฏิบัติงานและให้โอกาสในการทำงานจริง ก็จะได้เห็นว่า เด็กคนไหนมีแวว มีศักยภาพ และทัศนคติในการทำงานที่ดีพอที่จะรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรอีกด้วย ถือเป็นข้อได้เปรียบอีกอย่างในการที่จะได้งาน”
University of Networking
มหาวิทยาลัยที่อุดมไปด้วยเครือข่ายและพันธมิตรทั่วโลกคือจุดแข็ง
พีไอเอ็มเป็น Corporate University มหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แต่พีไอเอ็มก็ไม่ได้ผลิตบุคลากรสำหรับเพื่อทำงานในร้านขายปลีก 7-Eleven เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ในทางตรงกันข้าม เมื่อทางซีพี ออลล์ มีพันธมิตรทางการค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ พีไอเอ็มจึงเป็น University of Networking ซึ่งได้ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่ในธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น แต่รวมถึงสร้างหลักสูตร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทพันธมิตรทางการค้าเหล่านั้นด้วย ในประเด็นนี้อาจารย์พรวิทย์ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า
“ในช่วงแรกที่พีไอเอ็มตั้งขึ้นมา เรามีเพียงแค่คณะบริหารธุรกิจเท่านั้น จนเมื่อผ่านไปหลายปี เครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำในเรื่องของการสื่อสาร รองเท้า อาหาร ฯลฯ มีความต้องการบุคลากร เราจึงผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับเขา โดยนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน ยกตัวอย่างเช่น การเชิญคนของเขามาสอน การส่งนักศึกษาของเราไปฝึกปฏิบัติงานด้วย หรือร่วมมือกันในเรื่องของงานวิจัยถึงแนวโน้มต่างๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมาในการที่จะนำไปใช้ในการดำเนินกิจการหรือสร้างเป็นหลักสูตรที่ทันสมัย เพื่อจะนำมาต่อยอดในการสร้างบุคลากร เราสามารถนำ Pain Point ของพาร์ตเนอร์มาวิเคราะห์ว่ามีอะไรบ้าง ว่าเขาต้องการให้บุคลากรของเขานั้นมีความรู้ความสามารถในด้านไหนบ้าง แล้วจึงออกแบบหลักสูตรเพื่อที่จะนำมาพัฒนาสร้างบุคลากรเหล่านั้นขึ้นมา พีไอเอ็มจึงเป็น Corporate University ที่ไม่ใช่สำหรับเฉพาะซีพี ออลล์เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงคือ เรากลายเป็น Corporate University ของเครือข่ายบริษัทที่ยินดีมาร่วมมือกับเรา
“ยกตัวอย่างคอนโดมิเนียมทั้งหลายที่จำเป็นต้องมีนิติบุคคล ต้องการการบริหารจัดการและบริการลูกบ้าน ซึ่งจะมีเรื่องของไฟดับ น้ำรั่ว แต่ปรากฏว่า คนที่เข้ามาทำงานในนิติบุคคล บางคนก็รู้เฉพาะแค่เรื่องของบัญชี การตลาด บางคนก็รู้เฉพาะเรื่องเครื่องยนต์ก็เรียนจบวิศวะฯ ซึ่ง 2 คนนี้ไม่เคยอยู่ในคนเดียวกันสักที เราก็เลยเอา 2 ศาสตร์นี้จับมาอยู่ในวิชาเดียวกัน เมื่อถึงเวลาทำงานจริง เขาก็รู้เรื่องที่จำเป็นต้องรู้เกือบหมดทุกอย่าง อีกตัวอย่างก็คือ หลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเกษตร ซึ่งตรงนี้เกิดจากการวิจัยของเรา ซึ่งทำให้รู้ว่าคนที่เรียนเกษตรเพียงอย่างเดียว จบไปรู้แต่เรื่องการเกษตร แต่คิดในเรื่องของต้นทุนไม่ได้ ขายของก็ไม่ได้ จึงต้องพัฒนาสร้างเกษตรกรที่ทำการเกษตรได้และค้าขายเป็นขึ้น หลักสูตรที่เราสร้างขึ้นมาล้วนเกิดจากความต้องการในตลาด”
ปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากคณะบริหารธุรกิจ พีไอเอ็มมีหลักสูตรหลากหลายสาขา อาทิ นิเทศศาสตร์ การจัดการธุรกิจอาหาร การจัดการธุรกิจการบิน นวัตกรรมการจัดการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเกษตร การจัดการโลจิสติกส์และคมนาคม ศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครอบคลุมทั้งปริญญาตรี โท และ เอก สอนเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ รวมไปถึงหลักสูตรระยะสั้น สามารถที่จะผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของซีพี ออลล์ รวมถึงบริษัทพันธมิตรหลากหลายนับร้อยนับพัน ซึ่งล้วนต้องการบุคลากรได้เป็นอย่างดี
หลักสูตรที่ก้าวให้ทันตามยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลง
ในประเด็นนี้อาจารย์พรวิทย์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า
“ข้อได้เปรียบของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ก็คือ เรามีความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ ดังนั้น ก็จะเห็นเทรนด์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย ทันโลก ไม่ใช่ว่าธุรกิจไปถึงไหนแล้ว มหาวิทยาลัยยังสอนแบบเดิมๆ อยู่ ไม่รู้เรื่องความเป็นไปของโลกภายนอก ที่นี่รับรองว่าไม่เป็นแบบนั้น เพราะว่าคนในภาคธุรกิจเองก็มาเป็นอาจารย์สอนที่นี่ และเด็กของเราก็มีโอกาสได้ไปทำงานอยู่ในธุรกิจนั้นๆ เขาจึงมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ที่จะทำงานให้เข้ากับยุคสมัย เราปรับปรุงหลักสูตรในทุกสาขา เพื่อให้คนตระหนักในเรื่องของเรื่อง Disruption”
อาจารย์พรวิทย์ยกตัวอย่างให้เห็นถึงเทรนด์ของหุ่นยนต์ที่กำลังจะมาถึงอย่างแน่นอน ซึ่งทำให้สถาบันได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไปจนถึงหลักสูตรที่กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการอย่าง Individual Based Curriculum หรือหลักสูตรที่เรียนตามความต้องการของผู้เรียนว่าอยากเป็นหรือทำอะไร เพียงแค่เดินเข้ามาบอก แล้วทางสถาบันก็จะมีการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ยังกล่าวเน้นย้ำถึงภารกิจของสถาบันการศึกษาในยุคปัจจุบันเอาไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า
“เด็กและเยาวชนทั้งหลายนั้นจะต้องตระหนักให้ได้ว่า พวกเขาจะต้องเติบโตขึ้นมาและมีอาชีพ แล้วอาชีพทั้งหลายในโลกนี้มันมีอะไรบ้าง ตัวของเขาเองถนัดอะไร อยากจะเป็นอะไร ประกอบอาชีพอะไร สถานศึกษาของไทยบางแห่งอาจจะไม่ได้มีโอกาสที่เอื้อให้เด็กๆ ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ เขาอาจจะมองเห็นเพียงแค่ครู หมอ พยาบาล ตำรวจ ไปรษณีย์ แต่เขามองไม่เห็นอาชีพผู้จัดการอาคาร หรือจัดการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่เห็น Software Engineer เขาอาจจะเห็นนักหนังสือพิมพ์ แต่ไม่เห็นคนออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ต้องมีการแนะนำให้เด็กรู้ การที่มีคนทำงานมาเล่าก็จะทำให้เด็กได้เปิดหูเปิดตา การที่เด็กได้ไปสัมผัสในสถานที่ทำงานจริง ก็จะทำให้รู้ว่ามีอาชีพ มีตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ นอกเหนือจากที่เขาเคยรู้จัก และทำให้ค้นพบอาชีพที่ตัวเองอยากจะทำ
“ในฐานะของสถานศึกษาและความเป็นครูก็จะต้องมองว่า เราต้องการที่จะสร้างให้เด็กที่เราผลิตออกไปตอบโจทย์ของสังคมอย่างไร ตอนนี้เมื่อ Disruption มาถึง จึงยิ่งต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการศึกษา ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของสถานศึกษาในปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้ เราจะเห็นกันได้ว่า ทุกวันนี้มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด มีอาชีพต่างๆ ที่น่ากลัวว่าจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ และในอนาคตก็จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมาด้วย คำถามก็คือว่า มีการศึกษาที่ก้าวตามทันโลกและสร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ นั้นขึ้นมาหรือเปล่า นี่คือหน้าที่ของสถานศึกษาที่ต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมบุคลากรเหล่านั้นให้พร้อมสร้างหลักสูตร เพื่อที่จะตอบโจทย์ เหมือนอย่างเช่นที่พีไอเอ็มเรากำลังทำอยู่”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- Panyapiwat Institute of Management หรือ PIM อ่านว่า พีไอเอ็ม
- พีไอเอ็มได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2550 ปัจจุบันเปิดสอนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ปริญญาตรี 10 คณะวิชา 26 สาขา อาทิ การจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่, ธุรกิจอาหารและภัตตาคาร, ภาษาต่างประเทศธุรกิจ, การจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง, ศึกษาศาสตร์, นิเทศศาสตร์, การบริการและการท่องเที่ยว, ธุรกิจการบิน, การบริหารคนและองค์การ, อสังหาริมทรัพย์และทรัพยากรอาคาร, วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์, ยานยนต์, ไอทีและคอมพิวเตอร์, อุตสาหกรรมเกษตร และนวัตกรรมการจัดการเกษตร ปริญญาโท 4 สาขาวิชา ปริญญาเอก 1 สาขาวิชา และ 2 วิทยาลัยนานาชาติ