×

การประชุมสุดยอด คิมจองอึน-ปูติน กับมรดกรุ่นปู่ ความร่วมมืออันยาวนาน และสเต๊กสานสัมพันธ์

26.04.2019
  • LOADING...
Kim-Putin Summit

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซียและเกาหลีเหนือที่เมืองวลาดิวอสตอค เมื่อวันที่ 25 เมษายน จบลงด้วยมิตรภาพ แม้ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมใดๆ แต่ทั้งสองชาติต่างก็ได้รับประโยชน์จากการจัดประชุมครั้งนี้
  • ซัมมิตระหว่าง คิมจองอึน-วลาดิเมียร์ ปูติน ถือเป็นการสืบทอดมรดกความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติ ที่ปูมาตั้งแต่ยุคปู่ของ คิมจองอึน เมื่อครั้งที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต
  • การเตรียมเมนูสเต๊กเนื้อจากเมืองฮาบารอฟสก์ในงานเลี้ยงรับรอง คิมจองอึน เป็นการย้ำเตือนให้ คิมจองอึน และบรรดาชนชั้นนำเกาหลีเหนือ ระลึกเสมอว่า รัสเซียมีความสำคัญกับชาติตนเองมาเสมอนับแต่ช่วงเวลาสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือ และจะยังคงบทบาทที่สำคัญนี้ต่อไปในอนาคต เพราะ คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือคนก่อนและบิดาของผู้นำคนปัจจุบันเกิดที่ค่ายทหารของนักรบคอมมิวนิสต์เกาหลี ใกล้กับเมืองฮาบารอฟสก์ในสหภาพโซเวียต

แม้ว่าบทบาทของเกาหลีเหนือจะอึกทึกครึกโครมในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากการเดินสายเจรจาเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือกับผู้นำประเทศต่างๆ แต่ฟังดูไม่น่าเชื่อว่า ในการเจรจาเรื่องความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา ทั้งในสองเกาหลี ที่จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ชื่อของประเทศรัสเซียกลับหายไปอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่สองประเทศมีพรมแดนติดกัน และมีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนาน

 

แต่ท้ายที่สุด รัสเซียก็มีบทบาทในประเด็นความมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง เมื่อการประชุมสุดยอดระหว่าง คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ณ บริเวณมหาวิทยาลัยตะวันออกไกล (Far Eastern Federal University) มหาวิทยาลัยหลักของรัสเซียทางฝั่งตะวันออกไกลบนเกาะรุสกี้ เมืองวลาดิวอสตอค ประเทศรัสเซีย

 

 

การประชุมนี้แม้จะไม่ได้มีการประกาศล่วงหน้ายาวนานมากนัก สื่อเริ่มระแคะระคายว่าจะมีการจัดประชุมก็เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และทางการรัสเซียเพิ่งประกาศว่าจะมีการจัดประชุมครั้งนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายนเท่านั้น แต่สื่อต่างๆ บนโลกต่างก็ให้ความสนใจ

 

ประเด็นหนึ่งที่กล่าวกันมากคือ การประชุมครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากความล้มเหลวในการประชุมสุดยอดระหว่างคิมกับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เวียดนาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการประชุมครั้งนี้มีผลดีทั้งกับรัสเซียและเกาหลีเหนือ

 

ฝั่งเกาหลีเหนือได้แสดงให้โลกเห็นว่า ตนเองมีคู่เจรจาที่มากกว่าเพียงสหรัฐอเมริกาหรือจีน รวมถึงอาจใช้โอกาสนี้หาทางผ่อนคลายจากมาตรการลงโทษของนานาชาติ อันเป็นผลมาจากโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

ขณะที่ฝั่งรัสเซียก็ได้แสดงบทบาทของตนในการดำรงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีและฝั่งแปซิฟิก หลังจากที่บทบาทนี้เลือนหายไปภายหลังการประชุมสุดยอดของผู้นำเกาหลีเหนือกับชาติต่างๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

 

การมาเยือนวลาดิวอสตอคของ วลาดิเมียร์ ปูติน นั้นเจาะจงเพียงการมาเจรจากับ คิมจองอึน ในวันที่ 25 เมษายนเท่านั้น ก่อนที่เขาจะไปเยือนจีนในการประชุมกับ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในประเด็นโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ต่อไป ขณะที่ คิมจองอึน ได้ข้ามฝั่งมารัสเซียด้วยรถไฟส่วนตัวตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน และตั้งใจจะอยู่ที่วลาดิวอสตอคต่อในวันที่ 26 เมษายน ก่อนจะกลับเกาหลีเหนือ

 

คิมจองอึน เริ่มการเยือนรัสเซียโดยการเยี่ยมหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ชายแดนระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือที่สุดอย่างเมืองคาซาน เมืองซึ่งมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกิจการตะวันออกไกลของรัสเซียคอยต้อนรับอยู่ ในเมืองแห่งนี้มี ‘เรือนมิตรภาพรัสเซีย-เกาหลี’ อาคารที่พักบริเวณสถานีรถไฟประจำหมู่บ้าน ซึ่งเคยใช้รับรอง คิมอิลซอง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ และปู่ของผู้นำคนปัจจุบัน

 

เห็นได้ชัดว่า การเยือนรัสเซียของผู้นำเกาหลีเหนือไม่ได้มีลักษณะเป็นธุระทางการเมืองระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการเยือนส่วนตัว เพื่อตามรอยปู่ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลสหภาพโซเวียตด้วย

 

 

คิมอิลซอง เป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกภายหลังการสถาปนารัฐบาลคอมมิวนิสต์เกาหลีเมื่อปี 2491 ด้วยแรงสนับสนุนจากผู้นำทางทหารของสหภาพโซเวียตในเขตเกาหลีอย่าง พล.อ. ทีเรนที ชตึกคอฟ

 

แม้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของ คิมอิลซอง ช่วงแรกๆ จะยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของชตึกคอฟเป็นอย่างมาก แต่ภายหลังบทบาทของชตึกคอฟและสหภาพโซเวียตลดลง อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในสงครามเกาหลี คิมอิลซอง ก็เริ่มสถาปนาระบอบของตนเองผ่านทั้งการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490-2500 และทศวรรษ 2510 และการสร้างประดิษฐกรรมทางอุดมการณ์ของตนเอง ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นลัทธิ ‘จูเช’ ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เน้นการพึ่งพาตนเองอันโด่งดังของเกาหลีเหนือในเวลาต่อมา

 

แม้กระนั้นเกาหลีเหนือก็ยังพึ่งพาสหภาพโซเวียตอย่างมาก ท่ามกลางวาทกรรมพึ่งพาตนเองของเกาหลีเหนือ ซึ่งอันที่จริงเน้นการเสริมฐานอำนาจให้ระบอบการปกครองของ คิมอิลซอง ตัวผู้นำทั้งของเกาหลีเหนือและโซเวียตก็ยังเยือนกันและกันอยู่เสมอ ยังคงมีการแลกเปลี่ยนทั้งทางนวัตกรรมและทางวัฒนธรรม

 

 

มรดกของการแลกเปลี่ยนทางนวัตกรรมที่เห็นชัดเจนที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นความช่วยเหลือด้านพลังงานนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และจรวดโดยเกาหลีเหนือเอง ที่ทั้งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเป็นหลักประกันในการเจรจาของเกาหลีเหนือกับชาติต่างๆ ในประเด็นความมั่นคงเสมอมา

 

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจะลดลงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พร้อมๆ กับการเข้ามามีบทบาทในเกาหลีเหนือของจีนที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งรัสเซียและเกาหลีเหนือก็เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง เมื่อ วลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียในปี 2543 มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกันฉบับใหม่

 

ปูตินเองเลือกที่จะเยือนเกาหลีเหนือเป็นประเทศแรกๆ ภายหลังการรับตำแหน่ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือก็มีมากขึ้น เช่น การส่งออก และนำเข้าแร่ธาตุ เช่น น้ำมันและถ่านหิน การค้าระหว่างกันผ่านท่าเรือเมืองวอนซัน เมืองท่าตะวันออกของเกาหลีเหนือ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษราจินที่ตั้งติดกับรัสเซีย หรือการส่งออกแรงงานเกาหลีเหนือมายังรัสเซีย แม้การค้าแรงงานนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของแรงงานเกาหลีเหนือ ไม่นับว่าเงินที่ได้จากการทำงานก็ต้องหักส่วนแบ่งให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ ถือเป็นการ ‘หมุนเวียน’ เงินระหว่างเกาหลีเหนือและโลกภายนอกอีกทางหนึ่ง

 

แรงงานเหล่านี้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์และเมกะโปรเจกต์ของรัสเซีย เช่น การสร้างสนามเพื่อใช้แข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาด้วย แม้ความเป็นอยู่ในฐานะแรงงานในรัสเซียจะแร้นแค้น แต่แรงงานเกาหลีเหนือหลายคนก็ต่างแย่งกันมาทำงานหาเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของตนเอง

 

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือก็ยังคงแน่นแฟ้น มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากันเสมอ ฝั่งรัสเซียนั้นมีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจยิ่ง ศูนย์รุสกีมีร์ที่เป็นศูนย์เผยแพร่วัฒนธรรมรัสเซีย ซึ่งรัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุนได้จัดแข่งขันทักษะทางภาษารัสเซียในหมู่นักเรียนนักศึกษาของเกาหลีเหนือเป็นประจำ ในหัวข้อทั้งที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และความยิ่งใหญ่ของเกาหลีเหนือและตัวผู้นำ ทางการเกาหลีเหนืออนุญาตถึงขั้นให้ศาสนจักรคริสต์ออร์โธดอกซ์รัสเซียสร้างโบสถ์ในเกาหลีเหนือ เพื่อสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของชาวรัสเซียที่นับถือนิกายออร์โธดอกซ์ในเกาหลีเหนือ

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาเกาหลีเหนือชื่อดังของรัสเซีย ที่เติบโตมาจากความร่วมมือทางวัฒนธรรม มีทั้งนักการทูตชื่อดังที่ใกล้ชิดกับชนชั้นนำเกาหลีเหนืออย่าง อันเดรย์ คาร์ลอฟ เอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำเกาหลีเหนือปี 2544-2549 (ต่อมาเสียชีวิตจากการถูกยิงสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่เอกอัครรัฐทูตรัสเซียประจำตุรกีในปี 2559) หรือนักวิชาการด้านเกาหลีเหนือชื่อดังของโลกอย่าง อันเดรย์ ลันคอฟ ซึ่งเคยมาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคิมอิลซอง มหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาหลีเหนือ ในช่วงโซเวียต

 

ส่วนฝั่งเกาหลีเหนือมีการส่งนักศึกษามาเรียนรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เฉพาะที่มหาวิทยาลัยตะวันออกไกล มีนักศึกษาเกาหลีเหนือที่กำลังศึกษาอยู่ 49 คน ไม่นับสถาบันการศึกษาอื่นทั่วรัสเซียอีกมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมชาวเกาหลีเหนือกว่า 30,000 คนในรัสเซียด้วย

 

Kim-Putin Summit

 

การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซียและเกาหลีเหนือในวันที่ 25 เมษายน จบลงด้วยมิตรภาพ แม้ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมใดๆ ออกมาก็ตาม แต่ทั้งสองชาติต่างก็ได้รับประโยชน์จากการจัดประชุมครั้งนี้

 

รัสเซียและเกาหลีเหนือได้แสดงบทบาทของทั้งสองชาติบนเวทีโลก และพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่อาจจะย้ำเตือน คิมจองอึน และบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของเกาหลีเหนือ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือที่มีมาอย่างยาวนานที่ดีที่สุด อาจจะวางไว้ในจุดเล็กๆ อย่างอาหาร หนึ่งในเมนูอาหารจัดเลี้ยงรับรองในการประชุมสุดยอดครั้งนี้คือ สเต๊กเนื้อจากเมืองฮาบารอฟสก์

 

แม้ฮาบารอฟสก์จะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเขตตะวันออกไกลของรัสเซีย และวัตถุดิบหลายอย่างก็อาจจะจัดเตรียมมาจากที่นี่ แต่ก็ลืมไม่ได้เช่นกันว่า ตามเอกสารของฝั่งรัสเซีย คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือคนก่อน และบิดาของผู้นำคนปัจจุบันนั้นเกิดที่ค่ายทหารของนักรบคอมมิวนิสต์เกาหลี ใกล้กับเมืองฮาบารอฟสก์ในสหภาพโซเวียต (แม้ในประวัติทางการของเกาหลีเหนือจะบอกว่า คิมจองอิล เกิดที่ค่ายทหารบริเวณภูเขาแพกตู ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวเกาหลีทั้งมวลก็ตาม)

 

การเตรียมเมนูอาหารด้วยวัตถุดิบส่วนหนึ่งจากฮาบารอฟสก์นั้นอาจจะย้ำเตือนให้ คิมจองอึน และบรรดาชนชั้นนำเกาหลีเหนือยังระลึกเสมอว่า รัสเซียมีความสำคัญกับชาติตนเองมาเสมอ นับแต่ช่วงเวลาสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือ และจะยังคงบทบาทที่สำคัญนี้ต่อไปในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X