×

กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2019
  • LOADING...
กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คำว่า ‘กระบวนพยุหยาตรา’ หมายถึง กระบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ที่จัดเป็นริ้วกระบวนแห่ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งมีทั้งกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินโดยทางบกหรือสถลวิถี และทางน้ำหรือชลวิถี
  • สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติกันมาเป็นโบราณราชพิธี ความมุ่งหมายสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครก็คือ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมี และมีโอกาสแสดงความจงรักภักดีแก่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญคือ

 

1. ขั้นเตรียมพิธี คือการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก รวมถึงพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

 

2. พิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาพิเษก

 

3. พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษกแล้วประทับพระอัฐทิศอุทุมพร รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ รับการถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

 

4. พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ แล้วเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

 

5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค

 

จะเห็นได้ว่ากระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้คำว่า ‘กระบวนพยุหยาตรา’ หมายถึง กระบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ที่จัดเป็นริ้วกระบวนแห่ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งมีทั้งกระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินโดยทางบกหรือสถลวิถี และทางน้ำหรือชลวิถี ซึ่งกระบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยสถลวิถีเรียกว่า ‘กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค’ ส่วนกระบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยชลวิถีเรียกว่า ‘กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค’

 

สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติกันมาเป็นโบราณราชพิธี ความมุ่งหมายสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครก็คือ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าชมพระบารมี และมีโอกาสแสดงความจงรักภักดีแก่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ประเพณีเดิมในการเสด็จเลียบเมืองนั้น คงจะเสด็จถึงเมืองที่รายล้อมรอบมณฑลราชธานี พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารครอนแรมไปจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อบำรุงความสวามิภักดิ์และให้ประจักษ์ในพระบรมเดชานุภาพแก่ประชาชนทั้งหลาย

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป คงจะทรงเห็นว่าเป็นการลำบากโดยไม่จำเป็น จึงย่นระยะทางเหลือเพียงเลียบพระนครราชธานี และต่อมาก็ย่อลงมาอีกเหลือเพียงเสด็จเลียบพระนครทางเรือ ส่วนทางบกนั้นแห่เสด็จเพียงรอบพระบรมมหาราชวัง

 

ย้อนประวัติศาสตร์กระบวนพยุหยาตราสถลมารคในอดีต

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 บันทึกการเสด็จเลียบพระนครไว้ เมื่อ พ.ศ. 2328 ครั้งที่ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำรา การเสด็จฯ ครั้งนั้นทรงให้ยาตรากระบวนแห่ทักษิณาวัตรรอบพระบรมมหาราชวัง มิได้หยุดกระบวน ณ ที่ใด

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยทรงเสด็จฯ ออกทางประตูวิเศษไชยศรี ทำประทักษิณพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวที่ป้อมเผด็จดัสกร แล้วตรงไปจนถึงสะพานข้ามคลองตลาด เลี้ยวกลับขึ้นทางกำแพงพระนคร เข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระ เลี้ยวกลับเข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูเดิม ไม่ได้หยุดที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 

สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกระบวนแห่เลียบพระนครเมื่อ พ.ศ. 2367 แต่ไม่มีรายละเอียดของพระราชพิธี

 

สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทียบกระบวนหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนนมัสการและถวายดอกไม้เงิน-ทอง บูชาพระรัตนตรัย เมื่อถึงรัชกาลนี้ การจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคก็ได้เน้นไปทางโบราณราชประเพณีมากกว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพแล้ว เนื่องจากในขณะนั้นประเทศสยามตกอยู่ในวงล้อมของลัทธิจักรวรรดินิยม การศึกสงครามได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการรบสมัยใหม่มากขึ้นแล้ว

 

สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครเช่นเดียวกับในรัชกาลที่ผ่านมา

 

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเส้นทางยาตรากระบวนพยุหยาตราสถลมารคเลียบพระนครใหม่ เป็นออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปตามถนนหน้าพระธาตุ ถนนราชินี หยุดกระบวน ณ พลับพลาท้องสนามหลวง เสด็จขึ้นประทับพลับพลาให้พ่อค้า ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จขึ้นประทับพระราชยานพุดตานทอง ยาตรากระบวนข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา เลี้ยวไปตามถนนจักรพงษ์ เลี้ยวขวาถนนพระสุเมรุ เทียบพระราชยานที่เกยพลับพลาหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงธูปเทียนเครื่องนมัสการ และถวายต้นไม้เงิน-ทองเป็นพุทธบูชาพระพุทธชินสีห์ และถวายดอกไม้ธูปเทียนสักการะสมเด็จพระราชอุปัชฌาย์

 

จากนั้นเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราไปทรงนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ โดยยาตรากระบวนไปตามถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาไปตามถนนราชดำเนินกลางและถนนสนามชัย ระหว่างทางได้หยุดกระบวน แล้วเสด็จขึ้นประทับพลับพลาที่ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อให้บรรดาชาวยุโรปที่ได้ทำการค้าขายอยู่ในพระนครถวายพระพรชัยมงคล

 

เมื่อเสร็จพิธีที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแล้ว เสด็จฯ ยาตรากระบวนไปตามถนนพระเชตุพน ถนนมหาราช คืนสู่พระบรมมหาราชวัง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค

 

 

และต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยสถลวิถีเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในรัชกาลก่อนหน้า เพียงแต่ไม่ได้ให้หยุดเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลที่ท้องสนามหลวง และถนนราชดำเนินกลาง

 

และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้มีการวางหลักเกณฑ์การจัดกระบวนสำหรับเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็น 9 กระบวนคือ กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน และกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน ประกอบด้วย กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) สถลมารค กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) สถลมารค กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค กระบวนราบใหญ่ทางเรือ กระบวนราบน้อยทางเรือ และกระบวนราบย่อ

 

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ไม่มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไม่มีการเสด็จเลียบพระนครคราวบรมราชาภิเษก มีแต่จัดเป็นกระบวนราบใหญ่ ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากเกยหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายบังคมพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร

 

กระบวนพยุหยาตราสถลมาครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 โดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งขบวนบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานพุดตานทอง จากนั้นเคลื่อนขบวนออกประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาผ่านถนนหน้าพระลาน ผ่านศาลหลักเมือง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินใน ผ่านแยกผ่านพิภพลีลา เลี้ยวขวามุ่งสู่ถนนราชดำเนิน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าถนนตะนาว มุ่งหน้าสู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาที)

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงนมัสการพระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

 

จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยใช้เส้นทางถนนพระสุเมรุ เลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนิน ผ่านโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ผ่านอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอัษฎางค์ มุ่งหน้าสู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร ใช้เวลา 83 นาที) จากนั้นทรงนมัสการพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

 

 

จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยใช้เส้นทางถนนเจริญกรุง (ระยะทาง 500 เมตร ใช้เวลา 13 นาที) ทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 

จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระที่นั่งพระราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X