×

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562: พระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2019
  • LOADING...
พระสุพรรณบัฏ

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการเตรียมการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีขนาดกว้างยาวพอที่จะจารึกพระปรมาภิไธยได้ โดยจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • พระราชลัญจกรประจำรัชกาลคือดวงตราสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในเอกสารราชการแผ่นดิน ทำด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลม กลางวงกลมแกะเป็นรูปครุฑ รอบขอบภายในจารึกพระปรมาภิไธย

หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการเตรียมการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือการถวายพระสุพรรณบัฏเฉลิมปรมาภิไธย ก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และต้องเชิญแผ่นดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาลขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

 

ขั้นตอนการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

การจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เมื่อกำหนดพระฤกษ์ได้วันจารึกพระสุพรรณบัฏแล้ว ตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนโหรหลวงจะสวดบูชาเทวดา เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเวลาพระฤกษ์ พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานในพิธีจะทรงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล จากนั้นจึงเริ่มพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

 

พระสุพรรณบัฏ

ขบวนพระราชอิสริยยศเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2493

 

การจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2493 เวลา 9.26-10.28 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี มีหลวงบรรเจิดอักษรการ (ทับ สาตราภัย) หัวหน้ากองปกาศิต ในหน้าที่อาลักษณ์จารึกอักษรพระปรมาภิไธยลงในพระสุพรรณบัฏ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) โหรจารึกดวงพระบรมราชสมภพลงในแผ่นทอง และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ศิลปินในหน้าที่นายช่างแกะพระราชลัญจกร

 

พระสุพรรณบัฏ

ดวงพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

 

ในพระอุโบสถตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง 3 ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำว้า หัวหมูสำหรับบูชาพระฤกษ์ อาลักษณ์ผู้จารึกพระสุพรรณบัฏแต่งกายด้วยเครื่องขาวและรับศีล เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ประธานพิธี จุดเทียนเงินเทียนทองทุกโต๊ะจารึกแล้ว อาลักษณ์นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชอาสน์) คล้องสายสิญจน์ และหันหน้าไปสู่ทิศมงคล ได้เวลาพระฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย อาลักษณ์และโหรลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ ส่วนนายช่างทำหน้าที่แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน ในระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตร สังข์ และพิณพาทย์

 

พระสุพรรณบัฏคืออะไร

พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีขนาดกว้างยาวพอที่จะจารึกพระปรมาภิไธยได้ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระสุพรรณบัฏกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว พระสุพรรณบัฏนี้จะต้องทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจึงต้องกำหนดพระฤกษ์อันเป็นมงคลสำหรับการจารึกก่อนการพระราชพิธี

พระสุพรรณบัฏ

 

พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ แต่เดิมมาเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีตให้ได้เสียงที่ไพเราะและสื่อความถึงพระคุณวิเศษและสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น

         

พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างเดียวกัน คือขึ้นต้นว่า

 

‘พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี’ และลงท้ายด้วย ‘บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว’

 

ต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วย ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทร’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร’

         

ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏปรากฏดังนี้ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร’

 

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลคืออะไร

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลคือดวงตราสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในเอกสารราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชลัญจกรทำด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลม กลางวงกลมแกะเป็นรูปครุฑ รอบขอบภายในจารึกพระปรมาภิไธย

 

พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงพระบรมราชอิสริยยศและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์

 

พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงพระบรมราชอิสริยยศและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์

 

ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อจารึกแล้วเชิญประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลาเบื้องหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช 3 รอบและพักไว้ในพระอุโบสถ

 

ครั้นถึงวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงตั้งขบวนแห่เชิญไปตั้ง ณ มณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

 

การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

สำหรับการจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ ผู้แทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง

 

โดยมี นายฉัตรชัย ปิ่นเงิน โหรหลวง เป็นผู้จารึกดวงพระบรมราชสมภพ นายสุนทร วิไล ช่างศิลป์ประจำพระองค์ เป็นผู้แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล พร้อมเจ้าพนักงานอาลักษณ์ที่ทำหน้าที่จารึกพระสุพรรณบัฏ

 

สำหรับพระสุพรรณบัฏที่จารึกพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลในที่ 23 เมษายน เวลา 9.49 น. นั้น ประธานพระครูพราหมณ์จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม หลังจากที่ทรงรับน้ำอภิเษกเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ครบทั้ง 8 ทิศแล้ว และจะมีพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยในวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 9.00 น. ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

    • หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X