×

อากาศร้อนปรอทแตก อยู่อย่างไรให้เย็นฉบับชาวสยามโบราณ

19.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • น้ำแข็งเข้ามาประเทศไทยช่วงราว พ.ศ. 2400 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขนส่งผ่านเรือกลไฟนาม ‘เจ้าพระยา’
  • การลูบเนื้อลูบตัวเป็นวิธีการทำความสะอาดร่างกายที่ย่นย่อกว่าการอาบน้ำ แม้ว่าสตรีสมัยโบราณจะแต่งกายถูกกับสภาพอากาศแล้วก็ตาม
  • ในช่วงฤดูร้อน ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองเหล่านั้นจะลดจนมีสภาพกลายเป็นชายหาดทอดตัวยาว ช่วงวันหยุดชาวบ้านในละแวกก็จะหอบหิ้วอาหาร สรรหากิจกรรมมาปิกนิกกันบนหาด ตีโป่งเล่นน้ำ นอนฟังเพลงรับไอเย็นกันชิลๆ บรรยากาศราวกับทะเลทางใต้

ซัมเมอร์เมืองไทยอากาศช่างร้อนระอุชนิดอุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียสกันทั้งประเทศ จะกิน นอน นั่ง เดินเหินก็รู้สึกว่าความร้อนช่างเป็นอุปสรรคแก่ชีวิตประจำวัน หลายคนมีวิธีคลายร้อนหลากรูปแบบ บ้างก็เข้าห้างสรรพสินค้า ตากแอร์เย็นๆ กินของอร่อย บางคนก็หลบหนีความร้อนไปใช้ชีวิตชิลยังชายหาดสวยๆ สักแห่ง แต่ใช่ว่าไลฟ์สไตล์คนเมืองหรือการหนีเที่ยวจะใช้ได้ทุกโอกาส ช่วงเวลาปกติในชีวิตประจำวันของคนต่างจังหวัดเขาคลายร้อนกันอย่างไร ชาวนา ชาวบ้าน ชาวเขาเขาอยู่กันอย่างไรหนอในอุณหภูมิร้อนทะลุปรอท คุณเคยสงสัยไหมว่าก่อนมาถึงยุคเครื่องปรับอากาศเฟื่องฟู ชาวสยามใช้วิธีใดคลายร้อน

 

แม้หลายคนจะเถียงว่า โอ๊ย! สมัยก่อนอากาศเมืองไทยยังไม่ร้อนตับแลบเท่านี้ แต่อย่าลืมสิว่าตอนนั้นไทยแลนด์แดนสมายล์ก็ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่น้ำแข็งก็ไม่มีเช่นกัน

 

 

จากสินค้านำเข้าสู่หวานเย็นประจำชาติ

จากเนื้อความในเว็บไซต์ icecoolman อ้างอิงข้อมูลจาก ‘คอลัมรู้ไปโม้ด น้าชาติ’ ของสำนักพิมพ์ข่าวสด กล่าวว่าน้ำแข็งเข้ามาประเทศไทยช่วงราว พ.ศ. 2400 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขนส่งผ่านเรือกลไฟนาม ‘เจ้าพระยา’ เดินเมล์รับส่งสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ใช้เวลา 15 วัน ‘น้ำแข็ง’ ในสมัยนั้นบรรจุหีบกลบด้วยขี้เลื่อยส่งเข้ามาถวาย จากนั้นก็แพร่หลายในหมู่เจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โดยผู้ที่สั่งนำเข้ามาคือ พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภาษีสมบัติบริบูรณ์

 

แม้น้ำแข็งจะเข้าเมืองไทยมานานตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้สัมผัสความเย็นของน้ำแข็ง โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกของไทยก่อตั้งในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 อ้างอิงจากหนังสือหมายเหตุประเทศสยาม 7 (สำนักพิมพ์ 959 พับลิชชิ่ง พ.ศ. 2549) เอนก นาวิกมูล บันทึกเรื่อง ‘แรกมีน้ำแข็ง’ ที่บอกว่า “ในสยามไสมย ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2427 หน้า 187 เริ่มมีการนำโฆษณาขายน้ำแข็งของบางกอกไอซ์ กำปะนี ลิมิเต็ด มาลงพิมพ์” นี่นับเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยบอกว่า พ.ศ. 2427 เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งในไทยแล้ว

 

เมื่อมีโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ผลิตกันเป็นกิจจะลักษณะ ความนิยมของน้ำแข็งก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว แม้ช่วงแรกๆ ชาวบ้านชาวช่องจะไม่เชื่อว่าน้ำสามารถแข็งเป็นรูปเป็นร่างได้ พานให้เกิดสำนวน ‘ปั้นน้ำเป็นตัว’ ขึ้น จนราชการต้องนำน้ำแข็งใส่ถาดตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑสถานให้ราษฎรดู เป็นอันจบเรื่องข่าวลือ

 

เมื่อราษฎรบริโภคน้ำแข็งเป็นก็เริ่มนำน้ำแข็งมาใช้ดับร้อนอย่างแพร่หลาย มีอาชีพใหม่ขึ้น ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘เจ๊กน้ำแข็ง’ พ่อค้าชาวจีนที่นำน้ำหวานมาขายคู่กับน้ำแข็ง พัฒนาต่อยอดกลายเป็น ‘น้ำแข็งไส’ ของหวานดับร้อนประจำชาติที่นิยมในปัจจุบัน

 

ภาพจากหนังสือ สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม

 

กินน้ำเย็นจากตุ่ม ลูบเนื้อลูบตัว วิธีคลายร้อนฉบับคนโบราณ

ขณะที่คนในพระนครเริ่มหัดบริโภคน้ำแข็ง ชาวบ้านรอบนอกยังคงใช้วิธีคลายร้อนแบบภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม เช่น การปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูง มีช่องให้ลมลอดผ่าน กินน้ำเย็นจากตุ่มไหแบบดินเผาที่ใช้หลักการระบายความร้อนทางวิทยาศาสตร์จนทำให้ได้น้ำเย็นชื่นใจ หรือบริโภคอาหารธาตุเย็นเพื่อดับความร้อน เช่น ข้าวแช่ ผัดปลาแห้งแตงอุลิต หรือที่เราคุ้นหูกันในนามแตงโมปลาแห้ง

 

นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้น หนึ่งในวิธีที่ทำกันเป็นนิตย์แต่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงคือการเอาน้ำลูบเนื้อลูบตัวคลายร้อน

 

จากตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ของ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ที่ยกเอาบริบทเรื่องจริงในราชสำนักสยาม ได้กล่าวถึงวิธีคลายร้อนแบบไทยๆ ว่า ตอนที่แม่แช่มกลับมาเยี่ยมพลอยที่วัง พลอยถามแม่ว่า “แม่มาถึงเมื่อไร” แม่แช่มก็ตอบว่า “เพิ่งมาถึงเดี๋ยวนี้แหละลูก ยังไม่ได้ลูบเนื้อลูบตัวเลย”

 

 

การลูบเนื้อลูบตัวเป็นวิธีการทำความสะอาดร่างกายที่ย่นย่อกว่าการอาบน้ำ แม้ว่าสตรีสมัยโบราณจะแต่งกายถูกกับสภาพอากาศแล้วก็ตาม คือนุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาดอก แต่ก็ยังรู้สึกร้อนเป็นครั้งคราว จะอาบน้ำก็ไม่สะดวก เพราะไม่มีห้องน้ำมิดชิด ดังนั้นวิธีคลายร้อนที่ไม่ให้ตัวเหนียวเหนอะหนะก็คือการลูบเนื้อลูบตัว ถ้าเป็นชาวบ้านก็จะใช้มือวักน้ำจากภาชนะลูบไล้ใบหน้าและตามลำตัว โดยใส่ชุดเดิม ไม่ต้องเข้าห้องน้ำ จากนั้นก็ประแป้งเม็ดหรือดินสอพอง ถ้าเป็นชาววังจะละเมียดขึ้นมาอีกระดับคือใช้น้ำลอยดอกไม้ในขันเงิน วิธีการลูบเนื้อลูบตัวอาจใช้ผ้าผืนเล็กชุบน้ำบิดพอหมาดเช็ดตามตัวที่อยู่นอกร่มผ้า เสร็จแล้วชโลมด้วยน้ำปรุงหรือน้ำอบ ทาทับด้วยแป้งหอม จะทำให้เนื้อตัวเย็นสบายขึ้น

 

ไม่อยู่ทางใต้ก็มีหาดให้เล่น

นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมา กิจกรรมอีกอย่างที่คนชอบทำเวลาคลายร้อนคือการเที่ยวทะเล จะเห็นว่าสถานตากอากาศยอดฮิตของไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นทะเลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหิน บางแสน ชะอำ ฯลฯ ถึงกระนั้นใช่ว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยจะมีทะเลให้เที่ยวเล่น คนจังหวัดอื่นที่ไม่ติดทะเลหรืออยู่บนเขาเขาไปที่ไหนกัน คำตอบคือแม่น้ำลำคลอง บ้างก็ไปกระโดดน้ำเล่นตามเขื่อน ทว่าในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองเหล่านั้นลดจนมีสภาพกลายเป็นชายหาดทอดตัวยาว ช่วงวันหยุดชาวบ้านในละแวกก็จะหอบหิ้วอาหาร สรรหากิจกรรมมาปิกนิกกันบนหาด ตีโป่งเล่นน้ำ นอนฟังเพลงรับไอเย็นกันชิลๆ บรรยากาศราวกับทะเลทางใต้

 

 

อันที่จริงวิธีคลายร้อนแบบไทยมีอะไรน่าสนใจอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นดื่มน้ำเย็นลอยดอกไม้ ที่ถ้าเอามาถกในปัจจุบันก็คือน้ำอินฟิวส์ชนิดหนึ่ง น้ำดื่มผสมน้ำยาอุทัยทิพย์ นวัตกรรมแป้งเย็นที่ทาแล้วเย็นสบายตัว การสวมเสื้อผ้าคอกระเช้า ฯลฯ ซึ่งบางอย่างเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันก็ยังเหมาะกับยุคสมัยได้ดี

 

ฤดูร้อนอย่ากลัวความร้อน แต่จงเอาความสนุกของภูมิปัญญาและวิธีการต่างๆ มาช่วยให้คุณอยู่เย็นอย่างมีคุณภาพ #อยู่ให้เย็นอยู่ให้เป็น อยู่อย่างคนป๊อปๆ แบบ THE STANDARD POP

 

ภาพ: shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X