×

3 มกราคม 2535 – กำเนิด ‘พรรคสามัคคีธรรม’ ฐานเสียงหนุน รสช.

โดย THE STANDARD TEAM
03.01.2019
  • LOADING...
พรรคสามัคคีธรรม

พรรคสามัคคีธรรม ได้ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการจดจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524

 

ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2535 โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค

 

ภายหลังจากที่พรรคสามัคคีธรรมได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วนั้น ก็ได้มีนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงทยอยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกล่าวกันว่าพรรคสามัคคีธรรมนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานเสียงสนับสนุนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรม ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2535 นายประมวล สภาวสุ และนายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ตัดสินใจย้ายจากพรรคชาติไทยไปอยู่พรรคสามัคคีธรรม

 

เมื่อมาถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสามัคคีธรรมซึ่งมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยได้รับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น 79 ที่นั่ง ซึ่งเอาชนะพรรคชาติไทยที่ได้รับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น 74 ที่นั่ง ซึ่งภายหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว พรรคสามัคคีธรรมก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอีก 4 พรรค ซึ่งประกอบด้วย พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง) พรรคกิจสังคม (31 ที่นั่ง) พรรคประชากรไทย (7 ที่นั่ง) และพรรคราษฎร (4 ที่นั่ง) รวมเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 195 เสียง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 165 เสียง

 

หากแต่ในเวลาต่อมา นายณรงค์ถูกปฏิเสธการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) จากสหรัฐฯ ฐานมีส่วนพัวพันเกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุที่ผิดกฎหมาย ทำให้นายณรงค์ในฐานะหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

 

พรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร ได้มีมติให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจ และในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังได้มีกระแสคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากทั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชน จนเกิดการชุมนุมประท้วงและลุกลามจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเวลาต่อมา

 

พรรคสามัคคีธรรมยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 พรรคสามัคคีธรรมจึงได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อพรรค เป็น ‘พรรคเทิดไท’ โดยที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเกือบทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 พรรคเทิดไทมิได้ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นเหตุให้ถูกศาลฎีกาประกาศยุบพรรคในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ปิดตำนานพรรคการเมืองซึ่งถูกมองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคณะรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X