ปัญหาการทำแท้งถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในสังคมเกาหลีใต้ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีความผิดทางอาญา ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงที่ลักลอบทำแท้งจะต้องได้รับโทษปรับเป็นเงิน 2 ล้านวอน (ราว 57,000 บาท) หรือจำคุก 1 ปี ในขณะที่แพทย์ผู้ให้การช่วยเหลืออาจต้องโทษจำคุกนานถึง 2 ปี
การทำแท้งเกิดขึ้นทุกวันในเกาหลีใต้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Pai Chai คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงชาวเกาหลีมากกว่า 500,000 คนทั่วประเทศลักลอบทำแท้งผิดกฎหมาย ตลอด 66 ปีที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับโทษทางกฎหมายเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีทางเลือก พวกเธอจึงจำเป็นต้องเข้ารับบริการของสถานพยาบาลทำแท้งเถื่อน ซึ่งไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การทำแท้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ร่วมสายโลหิต เป็นโรคร้ายแรงที่การตั้งครรภ์อาจส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตผู้ตั้งครรภ์ และในบางกรณีก็ยังจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกด้วย โดยมีผู้หญิงเกาหลีจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าพวกเธอไม่มีสิทธิตัดสินใจในเรือนร่างของตน กฎหมายแบนการทำแท้งทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงเลือกปฏิบัติแก่เพศหญิง ทำให้พวกเธอจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสอง
ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาว่ากฎหมายแบนการทำแท้งขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผลวินิจฉัยสรุปว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงกลุ่มนี้จะเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว พร้อมจัดหาสวัสดิการรองรับการทำแท้งถูกกฎหมาย
เมื่อปี 2017 ชาวเกาหลีใต้กว่า 235,000 คน ลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายแบนการทำแท้ง ในขณะที่ช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นของรัฐบาลพบว่า 75% ของผู้หญิงเกาหลีต้องการให้รัฐบาลพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายแบนการทำแท้งใหม่อีกครั้ง
จียง (นามสมมติ) หนึ่งในผู้หญิงเกาหลีที่มีประสบการณ์การทำแท้งเปิดเผยว่า “หลังจากที่ทำแท้งเสร็จแล้ว ฉันเลือดออกเยอะมากๆ ฉันจะต้องกลับไปที่โรงพยาบาลที่น่ากลัวแห่งนั้นอีกครั้ง ซึ่งฉันยอมตายดีกว่าถ้าจะต้องกลับไปที่นั่น แพทย์และพยาบาลที่นั่นดูไม่ค่อยสนใจคนไข้ ตอบคำถามและอธิบายข้อมูลแบบขอไปที ฉันตกเลือด ฉันไม่รู้จะทำอย่างไรดี”
ทางด้านแอมเนสตี้สากลระบุว่าทุกคนควรมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรือนร่างของตนเอง รัฐควรเข้ามามีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาเหล่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่จะตามมา อาจจะถึงเวลาแล้วที่สังคมเกาหลีต้องเปลี่ยนแปลง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: