‘ยุงนั้นร้ายกว่าเสือ’ เราคงเคยได้ยินวลีนี้มาเนิ่นนาน และจากข้อมูลทุกสถิติที่ผ่านมา ก็ยืนยันความจริงตามวลีนั้น
ในทุกๆ ปี ‘ยุง’ คือสัตว์ที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของประชากรโลกมากกว่าสัตว์อื่นทุกชนิด มากกว่างูพิษ 7.5 เท่า มากกว่าจระเข้ 750 เท่า มากกว่าเสือหรือสัตว์ในตระกูลแมวเป็น 10,000 เท่า และมากกว่าปลาฉลามเป็น 100,000 เท่า [อ้างอิง]
โดยลำพังแล้วตัวยุงเองไม่มีอันตราย แต่ที่ติดมากับยุงคือโปรโตซัวหรือไวรัสมรณะหลากหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคที่อันตรายถึงชีวิตแก่มนุษย์ทั้งสิ้น ตั้งแต่ไข้ป่าหรือมาลาเรีย ที่มียุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นพาหะ โรคไข้เลือดออกเดงกี ไข้เหลือง ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ที่มียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะ นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์จำนวนมากมายในทุกปีทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยโรคที่มียุงเป็นพาหะที่ระบาดมากที่สุดคือโรคไข้เลือดออก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 50,079 ราย เสียชีวิต 65 ราย โดยผู้ป่วยกลุ่มอายุ 10-14 ปีมีอัตราป่วยสูงสุด สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน [อ้างอิง]
ความอันตรายของยุงที่เหนือกว่าสัตว์ทุกชนิดนี้เอง ที่นำไปสู่การคิดค้นหนทางต่างๆ ในการกำจัดหรืออย่างน้อยก็จำกัดขอบเขตในการแพร่ระบาดของยุงให้ได้มากที่สุด
วิธีกำจัดนั้นก็มีสารพัด ตั้งแต่วิธีเก่าๆ เช่น การฉีดยาฆ่าแมลง ซึ่งพบในภายหลังว่าเป็นอันตรายต่อทั้งตัวมนุษย์เองและสิ่งแวดล้อม แถมยุงบางสายพันธุ์ก็เริ่มมีวิวัฒนาการจนดื้อยาฆ่าแมลงแล้ว [อ้างอิง] ไปจนถึงการคิดค้นหาทางขัดขวางวงจรชีวิตของยุงตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน เช่น หาทางฆ่าลูกน้ำด้วยการปล่อยสารประกอบหรือตัวเบียนชนิดต่างๆ ลงไปในน้ำ ไปจนถึงวิธีที่สลับซับซ้อนกว่านั้น เช่นการแพร่แบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้ยุงตัวผู้เป็นหมัน จากนั้นก็ปล่อยยุงที่ติดเชื้อนี้ออกไปผสมพันธุ์กับยุงในธรรมชาติ เพื่อขยายความเป็นหมันออกไปเรื่อยๆ [อ้างอิง]
แต่วิธีการกำจัดหรือจำกัดการแพร่ระบาดของยุงที่ดูง่ายดายแบบไม่น่าเชื่อก็มีอยู่ เมื่อล่าสุดมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Acta Tropica เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าเสียงเพลงบางจังหวะที่สร้างความบันเทิงให้มนุษย์เรานั้น กลับสร้างปัญหาให้ยุงลายถึงขั้นไม่อยากสูบเลือด ไม่อยากผสมพันธุ์กันเลยทีเดียว
เพลงจังหวะขจัดยุงที่ว่านั้นคือ ดั๊บสเตป Dubstep
Dubstep คือเพลงอิเล็กทรอนิกส์แขนงหนึ่ง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นศตวรรษปี 2000 เอกลักษณ์ของเพลงแนวนี้อยู่ตรงที่ริทึมของเพลงจะเป็นลักษณะ half-time ซึ่งจะให้ความรู้สึกหน่วงคล้ายเรกเก้ มีเสียงเบสที่ต่ำและแตก เล่นในลักษณะ bass drop และมีเสียงสูงปรี๊ดหลายช่วงความถี่จากคีย์บอร์ดผสมผสานกับการเอาเสียงร้องเข้าไปมิกซ์ แล้วเล่นกลับออกมารัวเร็วคล้ายหุ่นยนต์ วงดนตรีที่นึกถึงวงแรกๆ สำหรับเพลงแนวนี้คือ สกริลเลกซ์ (Skrillex) และเพลงที่โด่งดังติดหูของวงนี้คือ ‘Scary Monsters And Nice Sprites’
ทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดย Hamady Dieng และ Tomomitsu Satho ได้เลือกใช้เพลงที่ว่านี้ในการทดลองเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยแบ่งยุงลายออกเป็น 2 กลุ่มภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน นั่นคือยุงลายกลุ่มแรกอยู่ในห้องที่มีเพลงจังหวะ Dubstep เปิดอยู่ กับอีกกลุ่มคืออยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงเพลงใดๆ
ผลปรากฏว่า ยุงกลุ่มที่แยกไว้ในห้องที่เปิดเพลง มีอาการที่แปลกไปและแตกต่างจากยุงในห้องที่ไร้เสียงเพลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ยุงในห้องที่ไร้เสียงเพลงจะตรงไปตามกลิ่นของเลือดที่วางล่อไว้ทันที
แต่สิ่งที่เกิดกับยุงลายตัวเมียในห้องที่เปิดเพลงแนว Dubstep คือมันจะลดความสนใจในยุงตัวผู้ และลดความต้องการดูดเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเสียงเพลงในแนวจังหวะนี้ โดยเฉพาะเพลง ‘Scary Monsters And Nice Sprites’ ที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ที่เต็มไปด้วยช่วงความถี่ต่ำของเสียง bass drop ที่ไม่เหมือนเสียงเบสธรรมดา ไปจนถึงเสียงสูงหลากหลายคลื่นความถี่ที่วนซ้ำกลับไปมาตลอดเพลง อาจส่งผลทำให้ยุงลายตัวเมียเกิดอาการสับสน (ปกติเสียงต่ำจะล่อยุงให้มาหาและเสียงสูงจะไล่ยุงไป) ทำให้ยุงลดความสนใจในการหาอาหารและการแพร่พันธุ์ลงไปเอง และเมื่อนักวิจัยเปิดเพลงในสองห้องนี้สลับกัน ยุงก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปตามการเปิดปิดของเสียงเพลง เป็นการยืนยันว่าพฤติกรรมของยุงที่ใช้ในการทดลองนี้ มาจากอิทธิพลของเสียงเพลงแน่นอน
ผลการวิจัยครั้งนี้อาจนำไปสู่การค้นคว้าเพิ่มเติมถึงอวัยวะของยุงลายที่เป็นตัวรับผลจากเสียงที่ดังมาจากภายนอก เพื่อมุ่งสร้างเครื่องมือผลิตเสียงแบบพิเศษที่เน้นย้ำในการให้ผลโดยตรงกับอวัยวะนั้น นั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกพอสมควร แต่อย่างน้อยการวิจัยครั้งนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่า แฟนเพลง Dubstep น่าจะถูกยุงกัดน้อยกว่าแฟนเพลงแนวอื่น ในเฉพาะในเขตร้อนที่ยุงลายแพร่ระบาดอยู่อย่างในเมืองไทยของเรา ที่หากมีศิลปินเพลงแนวนี้เพิ่มขึ้นมาหลายวงก็คงจะเป็นการดี
ภาพประกอบ: Weerapat L.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
- ‘ยุงร้ายกว่าเสือ’ เป็นวลีที่เกิดขึ้นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เป็นต้นตำรับของวลีนี้คือ หลวงพยุงเวชชศาสตร์ นายแพทย์ไทยคนแรกที่ได้รับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทางสาธารณสุขชั้นเกียรตินิยม จากสหรัฐอเมริกา