เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในยุโรปมีไข่จำนวนมากถูกปนเปื้อนด้วยสารฟิโพรนิล (Fipronil) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์มในยุโรป เพราะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เห็นว่าเป็นสารอันตราย โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีกับเด็ก ทำให้ยุโรปต้องเร่งสั่งปิดฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวนหลายร้อยฟาร์ม เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต้องระงับการขายและเรียกคืนไข่จำนวนหลายล้านฟองเพื่อนำไปทำลายทิ้ง
ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้บริโภคยุโรปว่า แล้วจะยังรับประทานไข่ได้อยู่ไหม? หากเรากินไข่ออร์แกนิกล่ะจะปลอดภัย (กว่า) ไหม? และเนื้อไก่หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของไข่ อย่างเส้นพาสต้า ฯลฯ มีการปนเปื้อนด้วยไหม? สำหรับคนไทย “คุณมั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่คุณรับประทานนั้นปลอดภัย?”
ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งตัดสินใจดำเนินนโยบายป้องกันไว้ก่อน โดยการเรียกคืนสินค้าไข่จำนวนหลายล้านฟองที่ขายออกไปแล้วในตลาด ที่มาจากแหล่งผลิตที่ต้องสงสัย และนำไปทำลายทิ้ง และทางการยุโรปกำลังเริ่มทดสอบเพิ่มเติมทั้งในสินค้าเนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช่ไข่ไก่ด้วย คาดว่าต้นตอเรื่องนี้ มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
ในเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารในเนเธอร์แลนด์หรือ NVWA ได้สั่งปิดฟาร์มไปกว่า 180 ฟาร์ม ซึ่งมีกำลังการผลิตไข่กว่า 40 ล้านฟองต่อสัปดาห์ ทางการเบลเยียมก็เร่งทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง
แต่ไข่จากฟาร์มดังกล่าวถูกขายออกไปหลายประเทศในยุโรป รวมทั้ง เบลเยียม อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ผ่านเครือข่ายธุรกิจอาหาร นอกจากนั้น ยังส่งออกไปขายถึงฮ่องกงด้วย (ไม่ต้องห่วง ไม่ได้ส่งออกไปขายในไทย) ส่วนเยอรมนียิ่งเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนหนัก โดยเฉพาะไข่ที่มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
โดยทางการเยอรมนีเปิดเผยว่า พบระดับการปนเปื้อนในไข่จากเพื่อนบ้านมีมากถึงระดับ 1.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเนเธอร์แลนด์ก็พบในระดับ 0.72 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เกินไปจากกฎหมายอียูที่อนุญาตให้มีการปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ดูเรื่องราวการตรวจสอบกรณีไข่ปนเปื้อนในยุโรปได้ที่นี่ Timeline Europe’s eggs scandal
SOURCE: AFSCA release and POLITICO reporting
เหมือนเป็นฝันร้ายของอียู เพราะปกติอียูมีชื่อเสียงในด้านการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงและกฎระเบียบที่ควบคุมอย่างเข้มงวด แบบที่ผู้ส่งออกไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรู้กันว่าต้องทำงานหนักแค่ไหน กว่าจะผ่านด่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารของอียูที่มีชื่อเสียงว่าสูงที่สุดในโลก และส่งสินค้าอาหารเข้าไปขายในตลาดยุโรปได้
แต่สถานการณ์ลักษณะนี้ ส่อให้เห็นปัญหาหลายอย่าง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎระเบียบของอียู ที่คุมเข้มความปลอดภัยจากภายนอก แต่กลับหละหลวมในประเทศของตัวเอง
แต่ด้านดีของเรื่องไข่ครั้งนี้มีอยู่ว่า การปนเปื้อนในอาหารลักษณะนี้เป็นที่จับตา ถูกนำมาตรวจสอบและแสดงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและเปิดเผยในยุโรป (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ถูกเปิดเผย) อย่างน้อยทำให้อุตสาหกรรมอาหารของยุโรปยิ่งเกิดความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของอียู เพราะความปลอดภัยของอาหารถือเป็นเรื่องที่เขาดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง บนพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาตร์
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เรื่องไข่ๆ ในยุโรปทำให้เกิดความสงสัยว่า หากเราอยากรู้ว่าอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในบ้านเรา ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกในด้านรสชาติ และความอร่อยนั้นปลอดภัยแค่ไหน? ใครจะบอกเราได้อย่างเต็มปาก
อยากส่งเสริมให้ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนในวงการอาหาร ออกมาให้ข้อมูลและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น อย่างน้อยก็สินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หลักๆ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ว่าท่านมีระบบการควบคุมความปลอดภัยอย่างไร สินค้ามาจากไหน อาจเริ่มที่ระดับยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ก่อนเลย เอาแบบยึดบนพื้นฐานและข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ และการตรวจสอบในห้องแล็ปแล้ว
อยากเห็นองค์กรพิเศษ (จะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐก็ได้) ไว้คอยตรวจสอบภาครัฐและภาคธุรกิจอีกที ว่าระดับความปลอดภัยของอาหารนั้นเป็นไปตามที่กำหนดจริงหรือไม่
อยากให้มีการสุ่มนำสินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไม่ว่าจะออร์แกนิก ไม่ออร์แกนิก นำไปตรวจสอบในแล็ป เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล (จะยึดของอียูเป็น benchmark ก็ได้) แล้วนำมาเปิดเผยให้ประชาชนรู้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มี โซเชียลมีเดีย ยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งถูกจับตา จะยิ่งทำให้ผู้ผลิตต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยให้สูง
สิ่งสุดท้ายที่อยากเห็นคือความโปร่งใส และการสร้างความมั่นใจในชีวิตและสุขภาพให้ประชาชนไทย ให้เรามั่นใจว่าเรากำลังรับประทานอาหารที่ ‘ปลอดภัย’ อยู่ คุณลองถามตัวเองวันนี้ว่า “คุณมั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่คุณรับประทานนั้นปลอดภัย?” อันนี้เป็นมาตรฐานแรกๆ ที่ประเทศต้องมีให้ประชาชน เมื่อพูดถึงความกินดีอยู่ดี พร้อมๆ ไปกับเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องเงินในกระเป๋าอย่างเดียว