×

ฝุ่นพิษภาคเหนือพุ่งสูงต่อเนื่อง เชียงใหม่ยังครองแชมป์เมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก

โดย THE STANDARD TEAM
15.03.2019
  • LOADING...
chiangnai aqi

กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ประจำวันที่ 15 มีนาคม เวลา 08.00 น. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ หรือระดับสีแดง โดยมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่อยู่ในเกณฑ์ ‘เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ’

 

 

สำหรับพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานมากที่สุดอันดับ 1 คือ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีปริมาณ PM2.5 พุ่งสูงถึง 203 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ฝุ่น PM10 สูงถึง 258 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 313 รองลงมาคือ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่มีปริมาณ PM2.5 สูงถึง 175 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 อยู่ที่ 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 285 ตามมาด้วย ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ที่มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 174 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 อยู่ที่ 205 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 284

 

ด้านเว็บไซต์ AirVisual ได้เผยแพร่การจัดอันดับคุณภาพอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วโลก พบว่า เชียงใหม่ติดอยู่ในอันดับ 1 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด โดยมีค่า AQI อยู่ที่ 268 ซึ่งต่างจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษรายงานโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษเมื่อเวลา 08.00 น. เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดคือ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 อยู่ที่ 184 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า AQI อยู่ที่ 256

 

ทั้งนี้เมื่อย้อนดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณฝุ่น PM2.5 และ PM10 ในบริเวณภาคเหนือพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ สะท้อนถึงแนวโน้มคุณภาพอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ

 

 

กรมควบคุมมลพิษขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่งดการเผาในที่โล่ง เพื่อป้องกันการเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่นละอองมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขอให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงควรเฝ้าระวังสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย, หายใจลำบาก, หายใจถี่, หายใจไม่ออก, ใจมีเสียงวี้ด, ใจสั่น, คลื่นไส้, วิงเวียนศีรษะ, แน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์ ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X