บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง มติที่ประชุมกรรมการบริษัทอนุมัติให้ขายหุ้นบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า คาเฟ่ เจแปน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ PACE จำนวน 2.1 หมื่นหุ้น เทียบเท่ากับ 50% ของหุ้นที่ถืออยู่ในราคาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 310 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยขายให้กับบริษัท เวลคัม จำกัด เพื่อนำกระแสเงินสดจากการขายหุ้นไปชำระเงินกู้ยืมระยะสั้นและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ถือเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับ PACE ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการการลงทุน หลังจากที่เจอมรสุมทางธุรกิจต่อเนื่องมาโดยตลอดจนต้องเพิ่มทุนหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผลประกอบการของ PACE กลับมาเป็นบวกได้ จากผลประกอบการที่ทาง PACE รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ปี 2558 มีรายได้ราว 3.5 พันล้านบาท ขาดทุนเกือบ 1.8 พันล้านบาท, ปี 2559 มีรายได้ 5.46 พันล้านบาท ขาดทุนกว่า 2.3 พันล้านบาท, ปี 2560 มีรายได้ 9.27 พันล้านบาท มีกำไร 171 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 8.8 พันล้านบาท ขาดทุนถึง 5.15 พันล้านบาท ผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROA) ติดลบ 16.26% ขณะที่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ติดลบถึง 293.59% ราคาของหุ้น PACE วันนี้ (14 มี.ค.) อยู่ที่ 23 สตางค์ต่อหุ้น ลดลง 2 สตางค์ หรือราว 8% ไม่เหลือเค้าเดิมจากที่ก่อนหน้านี้เคยทะยานขึ้นไปถึง 3.77 บาทต่อหุ้นในเดือนสิงหาคม 2559
แม้ปี 2561 ที่ผ่านมา PACE จะขายโครงการมหานคร (ปัจจุบันคือ คิง เพาเวอร์ มหานคร) ให้กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ด้วยดีลสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท แต่บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองตรงกันว่า PACE จะยังประสบกับปัญหาทางธุรกิจต่อเนื่อง เพราะต้องนำเงินราว 1 หมื่นล้านบาทซื้อหุ้นกลับคืนจาก ‘อพอลโล-โกลแมน แซ็คส์’ ซึ่งจะเหลือกระแสเงินสดไม่กี่พันล้านบาท ขณะที่ก้อนหนี้ขนาดใหญ่นับหมื่นล้านบาทที่แบกไว้ยังเป็นแรงกดดันสำคัญ และปลายปีที่ผ่านมา PACE ก็เพิ่งจะทำสัญญาขายแฟรนไชส์แบรนด์ Dean & Deluca ให้กับกลุ่มค้าปลีก Lagardère Travel Retail เพื่อนำไปขยายสาขาในสนามบินทั่วโลก การขายหุ้น 50% ใน Dean & Deluca เพื่อ ‘หมุนเงิน’ นี้จะเพียงพอต่อการต่อลมหายใจของ PACE หรือไม่ และจากนี้จะมีดีลอะไรเกิดขึ้นอีก คงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์