สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ทางการของสมาคมฯ เรื่อง การตรวจพบสารต้องห้ามในตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ฉบับที่ 3
โดยแถลงการณ์สืบเนื่องจากกรณีที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) ตรวจพบสารต้องห้ามในปัสสาวะของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยในรายการยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลกในปี 2018
ซึ่งเป็นเหตุให้สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป โดยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2020 รวมถึงการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลกในปี 2019 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่จังหวัดชลบุรีในเดือนกันยายนนี้
สำหรับการตัดสินใจครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลุ้นเหรียญรางวัลในศึกโอลิมปิกสำหรับทัพนักกีฬาทีมชาติไทย เนื่องจากโอลิมปิก ปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ไทยคว้าได้ทั้งหมด 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง รวมทั้งหมด 4 เหรียญ เป็นรองเพียงแค่จีนที่คว้าไป 5 เหรียญทอง
โดยแถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุว่า
“ตามที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) ได้ตรวจพบสารต้องห้ามในปัสสาวะของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย (AAF’s) ที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2018 ระหว่างวันที่ 2-10 พฤศจิกายน 2018 ณ กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน จำนวน 8 รายนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนการแข่งขันสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการระมัดระวังและป้องกันมาโดยตลอด อีกทั้งได้รับการตรวจปัสสาวะของนักกีฬาจากศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของประเทศไทย (National Doping Control Centre) โดยสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทย (Doping Control Agency of Thailand) ตรวจวิเคราะห์มาโดยตลอด แต่ไม่พบการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาดังกล่าวแต่อย่างใด และสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติก็ทำการตรวจปัสสาวะและเลือดของนักกีฬามาโดยตลอด รวมถึงการตรวจปัสสาวะก่อนการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน และหลังการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งโลกครั้งนี้ด้วย ซึ่งไม่พบการใช้สารต้องห้ามแต่อย่างใด
ต่อมาสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติได้ประสานกับแผนกข้อมูลประจำตัวนักกีฬาของสหพันธ์ฯ (IWF Athlete Passport Management Unit) ณ เมืองโคโลญจน์ ทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมในนักกีฬาเป้าหมาย (Target) เฉพาะประเทศไทย โดยใช้เทคนิคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น GC-C-IRMS (Gas Chromatography-Combustion-Isotope Ratio Mass Spectrometry) และแจ้งว่ามีการตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬาดังกล่าว
ทางสมาคมฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและสามารถอธิบายกับสาธารณชนได้ แม้ว่าจะยังไม่ตรวจสอบในสารตัวอย่างในขวดบีก็ตาม (การตรวจตัวอย่างเลือดครั้งที่ 2) สมาคมฯ คำนึงถึงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ จะไม่ได้เป็นผู้กระทำก็ตาม
สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเป็นสมาคมที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สร้างนักกีฬาให้ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันในระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้กับประเทศชาติมาเป็นระยะเวลายาวนานจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ และยังคงมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะส่งเสริมพัฒนากีฬายกน้ำหนักของประเทศให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาคมฯ และประเทศไทย จึงขอประกาศเจตนารมณ์ดังนี้
1. สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
2. สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการแข่งขันเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันทุกรายการ
3. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศไทยและต่อมวลสมาชิกของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจะยังคงยืนยันรับเป็นผู้รับผิดชอบจัดการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี 2019 ระหว่างวันที่ 18-27 กันยายนนี้ ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในนามของประเทศไทยต่อไป โดยไม่ส่งนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: