×

แผนกรกฎ 52 คืออะไร? ผ่ามาตรการคุมมวลชนวันชี้ชะตา ‘ยิ่งลักษณ์’ 25 สิงหาคมนี้

21.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ข้อมูลจาก รอง ผบ.ตร. ระบุว่า เกือบทุกจังหวัดมีการปลุกระดมมวลชนให้เดินทางมาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้
  • แผนกรกฎ 52 คือ แผนควบคุมฝูงชนที่ปรับปรุงหลังวิกฤตม็อบเหลือง-แดงปี 2551
  • มีความพยายามสกัดมวลชนไม่ให้เดินทางมาหน้าศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

     25 สิงหาคม 2560 นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดตัดสินคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

     คดีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชน เพราะจำเลยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมจากประชาชน การันตีด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และยอดติดตามในเฟซบุ๊กของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ทะลุ 6 ล้านไลก์เข้าไปแล้ว

 

 

มวลชนมาเท่าไร นับอย่างไร ทำไมต้องนับ

     เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเมินมวลชนที่จะมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีจำนวนหลักพันไม่ถึงหลักหมื่นคน ทั้งนี้เชื่อว่ามวลชนที่ให้กำลังใจทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะไม่ตีกัน เพราะมีการกั้นพื้นที่ให้อยู่คนละฝั่ง และเชื่อว่าไม่น่าจะมีมือที่สาม แต่ก็ต้องป้องกันไว้ก่อน

     อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัย ‘ปัญหาอุปสรรคของกองกำกับการควบคุมฝูงชน สังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน’ โดย พ.ต.ต. อติชาต แย้มผกา อธิบายวิธีประมาณการยอดผู้ชุมนุมว่ามี 3 แบบ คือ

  • ดูว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีผู้ชุมนุมอยู่กี่คน แล้วนำพื้นที่ชุมนุมไปคูณกับจำนวนคน
  • ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณ แต่ยังใช้หลักการคำนวณตามแบบแรก
  • ใช้สถานที่ที่มีขอบเขตแน่นอน เช่น สนามกีฬา อาคาร ห้องประชุม ในการช่วยคำนวณ

 

     ตัวอย่างกรณีตำรวจกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ใช้หลักการประมาณการ เช่น

     ถ้าเป็นสนามฟุตบอลยาว 100 หลา กว้าง 50 หลา ถ้าคนยืนชุมนุมหนาแน่นมาก ยอดสูงสุดคือ 25,000 คน ถ้ายืนเบียดแบบปานกลางจะประมาณ 15,000 คน แต่ถ้ายืนหลวมๆ จะประมาณ 5,000 คน

     การประมาณการยอดผู้ชุมนุมนั้นส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้ชุมนุมหรือแกนนำ หากมีข่าวว่าผู้ชุมนุมน้อยกว่าที่คาดไว้ และในหลายกรณีผู้ชุมนุมมักอนุมานยอดมวลชนให้สูงเกินความเป็นจริงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความชอบธรรมให้กับการชุมนุม

 

 

มาตรการสกัดมวลชนเชียร์ ‘ยิ่งลักษณ์’ 25 สิงหาคมนี้

  • สน.ทุ่งสองห้อง ออกหมายเรียกเจ้าของรถตู้รับจ้าง 21 คัน รับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานใช้รถผิดประเภทและออกนอกเส้นทาง หลังนำมวลชนมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการอ่านสรุปสำนวนคดีรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
  • ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยว่า ทหารให้เซ็นหนังสือยินยอมห้ามนำมวลชนไปให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ด้านแม่ทัพภาคที่ 3 ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง
  • สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งตรวจสอบงบองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ห้ามใช้ขนมวลชนไปหน้าศาลฎีกาฯ วันที่ 25 สิงหาคมนี้
  • ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ออกคำสั่งจับตาการระดมมวลชน และขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถตู้ห้ามขนมวลชนไปหน้าศาลฎีกาฯ
  • รอง ผบ.ตร. สั่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จับตาการระดมมวลชนเชียร์อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผ่านโซเชียลมีเดีย

 

     “จากการข่าวยังพบว่า ในเกือบทุกจังหวัดมีการปลุกระดมมวลชนให้เดินทางมาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้” พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560

     สำหรับวันชี้ชะตาอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจคาดการณ์ว่า ประชาชนที่จะเดินทางมาศาลฎีกาฯ มากกว่าวันที่มีการแถลงปิดคดีจำนำข้าว โดยศาลได้กำหนดเขตอำนาจศาล ไปจนถึงปากทางเข้าศาล ซึ่งวันนั้นตำรวจจะนำแผงเหล็กมากั้น เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า บริเวณที่ถูกกั้นไว้ เป็นเขตพื้นที่อำนาจศาล ซึ่งต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัว

     หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประชุมประเมินสถานการณ์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ได้ข้อสรุปว่า จะใช้กำลังตำรวจถึง 17 กองร้อย หรือ 2,550 นายเข้าควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณหน้าศาลฎีกาฯ โดยดำเนินการตามแผนกรกฎ 52

 

 

อะไรคือแผนกรกฎ 52?

     แผนกรกฎ 52 เป็นแผนที่ใช้ควบคุมฝูงชน หรือควบคุมสถานการณ์การชุมนุม

     สำหรับแผนกรกฎ 52 ถอดบทเรียนมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของทั้งเหลืองและแดง เมื่อปี 2551 ซึ่งเวลานั้นตำรวจได้นำแผนรักษาความสงบ กรกฎ 48 มาใช้ แต่ประสบปัญหาด้านการจับกุม

     แผนกรกฎ 52 จึงปรับปรุงเรื่องนี้ โดยระบุขั้นตอนการจับกุมอย่างละเอียด เริ่มต้นที่การจับกุมด้วยมือเปล่า การใช้มือเปล่าล็อก หรือใช้กุญแจมือ การใช้คลื่นเสียงรบกวน และการใช้แก๊สน้ำตา

     แต่ถ้าถึงขั้นแก๊สน้ำตาแล้วยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ แผนกรกฎ 52 ได้เพิ่มขั้นตอนในการใช้โล่ กระบอง กระสุนยาง และเครื่องช็อตไฟฟ้า ตามลำดับ

     ที่สำคัญ การควบคุมสถานการณ์การชุมนุมต้องไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต และเจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าก่อนจะยกระดับการควบคุม ใดๆ

     พล.ต.ต. สมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกกับ THE STANDARD ว่า แผนการควบคุมมวลชน ตำรวจจะปรับปรุงไปตามสถานการณ์และสอดคล้องกับหลักการสากล

     สำหรับการควบคุมฝูงชน ปัจจุบันจะใช้แผนกรกฎ 52 เพราะเป็นแผนที่ปรับปรุงล่าสุด โดยตำรวจจะยึดหลักพื้นฐาน ถูกต้อง ชอบธรรม และเป็นธรรม จะแจ้งเตือนกับผู้ชุมนุมทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจก่อนบังคับใช้มาตรการต่างๆ  

 

 

เปิด 4 ขั้นตอน การปฏิบัติตามแผน ‘กรกฎ 52’

     ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการก่อนเกิดเหตุ คือการดำเนินการด้านการข่าว เตรียมกำลังหน่วยต่างๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน รวมทั้งหน่วยเฉพาะกิจ เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง เตรียมสถานที่ควบคุม สถานที่สอบสวน กรณีมีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก

     ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุขณะเกิดเหตุ เมื่อมีสถานการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น ต้องจัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง แยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป รวมถึงกันประชาชนให้อยู่ห่าง ไม่ให้เข้าพื้นที่เกิดเหตุ

     ขั้นตอนที่ 3 ใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ เมื่อการเจรจาต่อรองไม่เป็นผล ให้ใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ เรียงจากเบาไปหาหนัก

     ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้ทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด

     ถ้ายังจำกันได้สมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ เคยงัดแผนกรกฎ 52 มาใช้สลายม็อบที่มาขับไล่รัฐบาลตนเองจนประสบความสำเร็จมาแล้ว นั่นก็คือใช้สลายการชุมนุมของ ‘เสธ. อ้าย’ พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำองค์การพิทักษ์สยาม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555

     5 ปีผ่านไป แผนกรกฎ 52 ถูกงัดมาใช้อีกครั้งเพื่อควบคุมมวลชนที่จะมาให้กำลังใจเธอในวันฟังคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ซึ่งไม่ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ย่อมส่งผลต่อปฏิกิริยาของมวลชนจำนวนมากอย่างแน่นอน

     หากยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินจำคุก มวลชนที่สนับสนุนเธอย่อมไม่พอใจ แต่หากยิ่งลักษณ์รอด มวลชนที่ต่อต้านเธอย่อมมีปฏิกิริยาเช่นกัน

     ด้วยสถานการณ์อันเปราะบางเช่นนี้ เป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งจัดเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมเตรียมเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับปฏิบัติภารกิจ รวมถึงขอให้ตำรวจในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลอยู่ประจำพื้นที่เพื่อรองรับสถานการณ์พิเศษ

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X