×

วิกฤตอินเดีย-ปากีสถาน จากปัญหาก่อการร้ายสู่ปากเหวความขัดแย้งที่สุ่มเสี่ยงปะทุเป็นสงครามนิวเคลียร์

28.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • ใจกลางปัญหาขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานในอดีตที่ผ่านมา คือดินแดนแคชเมียร์ (Kashmir) ที่ทั้งสองต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง จนเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างกันถึง 3 ครั้ง
  • หลายครั้งที่เกิดเหตุก่อการร้ายในอินเดีย มักจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานตามมา เพราะอินเดียเชื่อว่าปากีสถานแอบให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้น
  • สหรัฐฯ คือตัวแปรสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน เพราะในอดีตสหรัฐฯ ดำเนินบทบาทคอยไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด แต่ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ท่าทีและนโยบายต่อปากีสถานนั้นเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากทรัมป์มองว่าปากีสถานให้ที่หลบซ่อนแก่กลุ่มตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ดังนั้นจึงได้ตัดงบประมาณช่วยเหลือปากีสถาน ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศย่ำแย่ลง

 

 

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตและการเผชิญหน้าปะทะกันโดยตรงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน มักจะสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ไม่ต่างไปจากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ กับรัสเซียสุ่มเสี่ยงจะเผชิญหน้ากันในสมรภูมิซีเรีย ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอินเดียกับปากีสถานเคยทำสงครามเต็มรูปแบบกันมาแล้วหลายครั้ง แต่เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งของคู่ขัดแย้งนี้คือ ‘ไม่มีใครกลัวใคร’ และไม่มีการลดราวาศอกให้กัน หากไม่มีประเทศที่ 3 เข้ามาไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะบทบาทของสหรัฐอเมริกา

 

แต่ในปัจจุบันนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะต่อพันธมิตรเก่าแก่อย่างปากีสถาน ที่ตอนนี้เหินห่างกันออกไปทุกที ที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 นโยบายของสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัก โอบามา คือการรักษาดุลความสัมพันธ์ต่อทั้งอินเดียและปากีสถาน โดยมุ่งหวังให้ทั้งสองประเทศนี้เป็นพันธมิตรแนวหน้า ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (war on terror) ของตน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่เกิดเหตุก่อการร้ายในอินเดีย และจุดชนวนความตึงเครียดกับปากีสถานถึงขั้นจะใช้กำลังห้ำหั่นกัน สหรัฐฯ ก็จะเข้ามาประสานโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอม หาทางออกร่วมกันจนเป็นผลสำเร็จ เช่นกรณีการโจมตีอาคารรัฐสภาอินเดียเมื่อปี 2001 และเหตุการก่อการร้ายที่มุมไบ ในปี 2008 เป็นต้น

 

ในสมัยของทรัมป์ สหรัฐฯ กลับวิพากษ์วิจารณ์ปากีสถานอย่างหนักว่าให้ที่หลบซ่อนกับกลุ่มตาลีบัน และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ตัดงบประมาณที่เคยสนับสนุนปากีสถานมาอย่างต่อเนื่องด้วย จนทำให้ปากีสถานไม่พอใจอย่างมาก ดังนั้น วิกฤตความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานครั้งล่าสุดนี้ จึงน่าจับตามองท่าทีของสหรัฐฯ ด้วย

 

 

จากการก่อการร้ายสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างอินเดียกับปากีสถานมีชนวนมาจากเหตุคาร์บอมบ์ฆ่าตัวตายของกลุ่มติดอาวุธ Jaish-e-Muhammad: JeM ซึ่งโจมตีรถบัสกองกำลังตำรวจกึ่งทหารในเขตปูร์วามา ในแคว้นแคชเมียร์ฝั่งของอินเดียเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตอย่างน้อย 46 นาย อินเดียเชื่อว่าปากีสถานมีส่วนในการสนับสนุนกลุ่ม JeM ซึ่งมีฐานอยู่ในแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน แม้ปากีสถานจะปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แต่อินเดียก็ยังคงเดินหน้าใช้มาตรการตอบโต้ปากีสถานในทางเศรษฐกิจด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากปากีสถานถึง 200% ต่อมาอินเดียอ้างว่าปากีสถานไม่มีการดำเนินการใดๆ กับกลุ่ม JeM จากนั้นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อินเดียจึงได้ส่งเครื่องบินรบแบบ Mirage เข้าโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นค่ายฝึกของกลุ่ม JeM ในเขตแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน เป็นการปฏิบัติการในลักษณะชิงโจมตีก่อน (Pre-emptive Strike) ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของปากีสถานอย่างร้ายแรง

 

ต่อมาสถานการณ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กองทัพอากาศของปากีสถานได้ตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องบินของอินเดียตก 2 ลำในเขตน่านฟ้าของปากีสถาน และสามารถจับกุมนักบินของอินเดียได้ 1 นาย ทางการปากีสถานแถลงว่าปากีสถานไม่มีทางเลือกอื่น เพราะต้องป้องกันตนเองจากการรุกล้ำเข้ามาของอินเดีย

 

สถานการณ์ส่อเค้ารุนแรงเมื่อรัฐบาลปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้าและสนามบินทั่วประเทศชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการรุกล้ำน่านฟ้าแบบเฉียบพลัน และเพื่อป้องกันเครื่องบินพลเรือนจากการปะทะกันในครั้งนี้ ส่วนอินเดียก็ประกาศปิดสนามบินในประเทศ 9 แห่งด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งและป้องกันเหตุก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อีก

 

อิมรอน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ออกแถลงการณ์หลังยิงเครื่องบินรบของอินเดียตกว่า รัฐบาลอินเดียควรยุติการกระทำเพียงเท่านี้ และมานั่งเจรจาสันติภาพกับปากีสถานก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายเกินกว่าที่ตัวนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และตัวเขาเองจะควบคุมได้

 

จากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด และกรุงนิวเดลี ได้ออกประกาศเตือนคนไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

 

 

ย้อนภูมิหลังความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน และปมปัญหาก่อการร้าย

ปัญหาระหว่างอินเดียกับปากีสถานดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ที่สองประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ และก่อตั้งประเทศขึ้นมาในปี 1947 ถือเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งอันเป็นผลมาจากแผนการแบ่งแยกประเทศ (Partition Plan) ด้วยทฤษฎี 2 ชาติ (Two Nation Theory) ที่ยังไม่ถูกทำให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยเป็นการแบ่งแยกประเทศบนพื้นฐานความแตกต่างทางด้านศาสนา ปากีสถานถูกออกแบบให้เป็นประเทศของมุสลิมในเอเชียใต้ ทั้งนี้แม้พรรคคองเกรสแห่งชาติ (National Congress) กับสันนิบาตมุสลิม (Muslim League) จะมีปัญหาความขัดแย้งกันจนนำมาสู่การแยกประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักหรือเป็นตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศบาดหมางกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ทว่าใจกลางของปัญหาความขัดแย้งอินเดียกับปากีสถานที่ผ่านมาคือปัญหาความขัดแย้งเหนือดินแดนแคชเมียร์ ที่ทั้งสองต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง จนเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างกันอย่างเต็มรูปแบบถึง 3 ครั้ง (ปี 1948, 1965, ส่วนปี 1971 เป็นสงครามแยกตัวออกมาของปากีสถานตะวันออกหรือบังกลาเทศในปัจจุบัน) และการปะทะกันครั้งย่อยๆ ตามแนวชายแดนอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีที่คาร์กิล (Kargil War) ในปี 1999 ที่บางคนมองว่าเป็นสงครามอีกครั้งหนึ่ง

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียเป็นผล รัฐสภาอังกฤษผ่านกฎหมายมอบเอกราชแก่อินเดีย (Indian Independence Act) ในเดือนกรกฎาคม 1947 โดยกำหนดให้แบ่งอนุทวีปออกเป็นประเทศอินเดียและปากีสถาน โดยยึดหลักการการเข้าร่วมกับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นต้องพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงความเชื่อมโยงกันในด้านภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น รัฐอิสระในขณะนั้นทั้ง 565 รัฐจึงมีสิทธิที่จะเลือกเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถาน หรือดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกสำหรับการดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระเป็นไปได้ยากตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ อีกทั้งรัฐต่างๆ ได้ถูกเกลี้ยกล่อมไว้ก่อนแล้ว ทั้งหมดจึงถูกบีบให้ตัดสินใจเข้าร่วมกับประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือด้วยการทำข้อตกลงดุษณียภาพกับอินเดียและปากีสถาน ทุกรัฐไม่มีปัญหาในการตัดสินใจ เนื่องจากมีความต้องการสอดคล้องกันระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองตามแผนการแบ่งแยก ยกเว้น 3 รัฐ ได้แก่ รัฐชัมมูและแคชเมียร์, ไฮเดอราบาด และจูนากาดห์

 

กรณีไฮเดอราบาดซึ่งผู้ปกครองเป็นมุสลิมประกาศจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐอิสระ ในขณะที่ชาวฮินดูซึ่งเป็นประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย อินเดียจึงได้ส่งทหารเข้ายึดและประกาศให้ไฮเดอราบาดเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย กรณีจูนากาดห์ผู้ปกครองเป็นมุสลิมตัดสินใจเข้าร่วมกับปากีสถาน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวฮินดูไม่เห็นด้วย อินเดียจึงได้ส่งทหารเข้าไปและจัดการลงประชามติ ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเข้าร่วมกับอินเดีย จูนากาดห์จึงถูกรวมเข้ากับอินเดีย

 

แต่ในกรณีของชัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ผู้ปกครองเป็นมหาราชาชาวฮินดู ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงต้องการเข้าร่วมกับปากีสถานมากกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของมหาราชาหรือรัฐบาลอินเดีย แต่ในวันที่ 12 สิงหาคม 1947 (ก่อนวันประกาศเอกราชของอินเดียและปากีสถาน) มหาราชา ฮาริ สิงห์ (Hari Singh) ได้ทำข้อตกลงกับปากีสถานเพื่อขอดำรงสถานภาพอิสระต่อไปอีก 2 เดือน เรียกว่า ‘Standstill Agreement’ และพยายามทำข้อตกลงเดียวกันนี้กับอินเดีย แต่อินเดียไม่ร่วมลงนามด้วย จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม มหาราชา ฮาริ สิงห์ ก็ยังไม่ตัดสินใจ ทำให้ชาวแคชเมียร์รู้สึกผิดหวัง ยิ่งไปกว่านั้นมหาราชา ฮาริ สิงห์ ยังได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์จากทหารมุสลิมของอังกฤษ ทำให้ชนเผ่าปัชตุน (Pushtun) จำนวนหนึ่งลุกฮือขึ้นจับอาวุธต่อต้าน ด้วยเหตุนี้ ฮาริ สิงห์ จึงได้ขอความช่วยเหลือไปยังอินเดียและลอร์ด เมานต์แบตเทน เพื่อให้ส่งทหารเข้ามาช่วย โดยตกลงจะลงนามยินยอมผนวกแคว้นชัมมูและแคชเมียร์เข้ารวมกับอินเดีย อินเดียจึงส่งกองทัพเข้าไป จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม ฮาริ สิงห์ ได้อพยพไปยังชัมมู และได้ลงนามข้อตกลงผนวกชัมมูและแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย

 

ปากีสถานไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว และมองว่าขาดความชอบธรรม เพราะข้อตกลง Standstill ที่ทำกับปากีสถานยังมีผลบังคับใช้ การผนวกแคชเมียร์เข้ากับอินเดียทำให้ปากีสถานและชาวแคชเมียร์ไม่พอใจอย่างมาก จนนำไปสู่การทำสงครามกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1947 และยุติลงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 1948 หลังจากทั้งสองฝ่ายยอมรับในมติหยุดยิงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) การต่อสู้ครั้งนี้จึงถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างอินเดียกับปากีสถาน การยอมรับในมติดังกล่าวทำให้มีการกำหนดแนวเส้นหยุดยิง (Cease-fire Line) ซึ่งต่อมาเป็นที่ยอมรับและเรียกกันว่า แนวเส้นควบคุม (Line of Control: LOC) ภายใต้การดูแลของกลุ่มสังเกตการณ์ทางทหารแห่งสหประชาชาติสำหรับอินเดียและปากีสถาน (United Nations Military Observer Group in India and Pakistan)

 

ในวันที่ 21 เมษายน 1948 UNSC ได้ผ่านมติเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในแนวทางการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์โดยวิถีประชาธิปไตยผ่านการลงประชามติอย่างอิสระและเป็นกลาง รัฐบาลอินเดียและปากีสถานยินยอมตามมติดังกล่าว ซึ่งทำให้ข้อตกลงหยุดยิงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1949 อย่างไรก็ตามจนกระทั่งปัจจุบัน มติดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกดำเนินการ ซึ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคู่ปรปักษ์ที่ทำสงครามระหว่างกันอีกในปี 1965 และ 1971 รวมทั้งการปะทะกันในปี 1999 ที่คาร์กิล ซึ่งสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก เพราะต่างฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง

 

ความรู้สึกสิ้นหวังกับมติ UN ว่าด้วยการลงประชามติ ทำให้เกิดกลุ่มขบวนการติดอาวุธขึ้นมามากมาย เพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ออกจากการปกครองของอินเดีย โดยเรียกตัวเองว่านักรบเพื่ออิสรภาพ

 

อินเดียกล่าวหามาตลอดว่าทางการปากีสถานให้การสนับสนุนการก่อการร้ายข้ามแนวชายแดน (Cross-border Terrorism) และกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในแคชเมียร์ ทั้งในด้านอาวุธและการฝึกซ้อม ในขณะที่ปากีสถานยืนยันว่าให้การสนับสนุนทางใจและด้านการทูตเท่านั้น

 

 

ปัญหาการก่อการร้ายกับวิกฤตความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถาน

ทั้งนี้จากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เกิดกลุ่มติดอาวุธขึ้นมามากมายโดยมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยแคชเมียร์ออกจากการยึดครองของอินเดีย ซึ่งหลายกลุ่มมีฐานปฏิบัติการอยู่ในแคชเมียร์ฝั่งปากีสถาน กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือกลุ่มลาชการ์ อี ไตบา (Lashkar-e-Taiba) ซึ่งถูกทางการอินเดียระบุว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้งในอินเดีย รวมทั้งวินาศกรรม 26/11 ที่นครมุมไบเมื่อปี 2008 ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือกลุ่ม Jaish-e-Muhammad: JeM ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์และตาลีบันในอัฟกานิสถาน กลุ่มนี้เคยก่อเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาอินเดียในช่วงปลายปี 2001 และครั้งล่าสุดคือเหตุคาร์บอมบ์โจมตีรถบัสทหารในเขตปูร์วามาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนนำมาสู่วิกฤตความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานระลอกใหม่

 

หลายครั้งที่เกิดเหตุก่อการร้ายในอินเดีย มักจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานตามมา เพราะอินเดียเชื่อว่าปากีสถานแอบให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้น อินเดียมองว่าปากีสถานเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มก่อการร้ายแบบสองมาตรฐาน คือกลุ่มก่อการร้ายที่ปากีสถานมองว่าไม่ดี (Bad Terrorist) หรือกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของปากีสถาน สหรัฐอเมริกา และพันธมิตร รวมทั้งกลุ่มที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่างเช่น กลุ่มอัลกออิดะห์และตาลีบัน กับกลุ่มก่อการร้ายที่ปากีสถานมองว่าดี (Good Terrorist) โดยยึดผลประโยชน์ของชาติและการเมืองระหว่างประเทศเป็นสำคัญ กล่าวคือกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามต่ออินเดีย โดยเฉพาะกลุ่มที่ปฏิบัติการปลดปล่อยแคชเมียร์จากการปกครองของอินเดีย ผู้นำอินเดียมักกล่าวหาว่าปากีสถานใช้กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐ

 

ปากีสถานปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เคยให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธใดๆ ที่โจมตีอินเดีย จุดยืนของปากีสถานคือสนับสนุนทางการเมืองหรือทางใจต่อประชาชนชาวแคชเมียร์ที่เรียกร้องเอกราชของตัวเอง

 

 

ปัจจัยภายในของทั้งสองประเทศที่ส่งผลต่อความตึงเครียดครั้งใหม่

ทางการปากีสถานเชื่อมั่นว่าการที่อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่ามีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย JeM ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุครั้งนี้ โดยที่ไม่แสดงหลักฐานใดๆ และใช้ข้ออ้างนี้ในการรุกล้ำเข้ามาในแคชเมียร์ฝั่งของปากีสถานเพื่อปฏิบัติการทางทหารโจมตีฐานฝึกของกลุ่ม JeM นั้น เป็นเพราะอินเดียหวังใช้เหตุการณ์นี้ปลุกกระแสชาตินิยมต่อต้านปากีสถาน โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหญ่ของอินเดียที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ยังจะเป็นการปลุกกระแสต่อต้านมุสลิมในประเทศด้วย เพราะพรรครัฐบาลภารตียชนตาหรือบีเจพี (Bharatiya Janata Party: BJP) และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี มีฐานเสียงจำนวนมากมาจากกลุ่มฮินดูชาตินิยมขวาจัด ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้อินเดียดำเนินมาตรการแข็งกร้าวกับปากีสถานทันที โดยไม่สนใจที่จะพูดคุยหรือร่วมกันคลี่คลายปัญหา

 

ด้านปากีสถานตอบโต้หนักเช่นกันด้วยการยิงเครื่องบินรบอินเดียที่รุกล้ำเข้ามาร่วงถึง 2 ลำ และจับตัวนักบินไว้ได้ 1 นาย ปากีสถานย้ำว่าเป็นปฏิบัติการปกป้องอธิปไตยของประเทศ หากมองเงื่อนไขภายในของปากีสถานก็จะพบว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวปากีสถานจำนวนมากโกรธแค้นและออกมาประท้วงเผาธงชาติอินเดียด้วย

 

อิมรอน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถานจึงถูกแรงกดดันจากภายในประเทศให้ต้องตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์การปะทะกันครั้งสำคัญระหว่างอินเดียกับปากีสถานเมื่อปี 1999 หรือที่เรียกว่า ‘สงครามคาร์กิล’ นายกรัฐมนตรีปากีสถานขณะนั้นคือนาวาซ ชารีฟ ซึ่งได้ปรึกษาหารือกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน จนนำไปสู่การออกคำสั่งให้กองทัพปากีสถานถอนกำลังออกจากเขตคาร์กิล อีกทั้งยังพยายามปลดพลเอก เปอร์เวช มูชาร์ราฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ทำให้ชาวปากีสถานจำนวนมากไม่พอใจ เพราะมองว่ายอมอ่อนข้อให้อินเดีย และเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้มูชาร์ราฟก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนาวาซ ชารีฟ โดยปราศจากการนองเลือด มูชาร์ราฟขึ้นมามีอำนาจจากการรัฐประหารสามารถอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีมาได้ถึงเกือบ 10 ปี โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา แลกกับความร่วมมือในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ

 

ที่น่าสนใจคือเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มูชาร์ราฟได้เปิดเผยว่าครึ่งหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของอิมรอน ข่าน เป็นคนของเขา เพราะฉะนั้นหากอิมรอน ข่าน ไม่ตอบโต้หรือแสดงออกว่าเกรงกลัวอินเดีย เขาอาจเผชิญแรงกดดันภายในประเทศอย่างรุนแรง

 

กระนั้น แม้ว่าอิมรอน ข่าน จะตอบโต้ทันทีแบบไม่เกรงกลัว แต่ในอีกด้านก็ส่งสัญญาณว่าปากีสถานไม่ต้องการทำสงครามกับอินเดีย และเรียกร้องไปยังอินเดียให้เจรจาหาทางออกร่วมกัน

 

 

สหรัฐฯ ตัวแปรสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานว่าด้วยปัญหาการก่อการร้าย

นับตั้งแต่เหตการณ์ 9/11 ที่ตามมาด้วยการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียใต้ก็เปลี่ยนไปมาก สหรัฐฯ มุ่งรักษาดุลความสัมพันธ์กับทั้งอินเดียและปากีสถาน และต้องการให้ทั้งสองประเทศนี้เป็นพันธมิตรของตนในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในเอเชียใต้ โดยเฉพาะกลุ่มอัลกออิดะห์และตาลีบัน สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนปากีสถานทั้งงบประมาณและอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ามหาศาล ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนท่าทีจากการต่อต้านโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอินเดียมาเป็นการสนับสนุนโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติของอินเดีย นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังดึงอินเดียเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในอัฟกานิสถานด้วย

 

จะเห็นได้ว่าหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นในอินเดีย เช่น เหตุการณ์โจมตีอาคารรัฐสภาของอินเดียเมื่อปลายปี 2001 หรือเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มุมไบ 26/11 ปี 2008 ทำให้ความสัมพันธ์อินเดียกับปากีสถานตึงเครียดและเกือบปะทะกันใหญ่โต จนทั่วโลกตื่นตระหนกว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ในเอเชียใต้ แต่ท้ายที่สุดสหรัฐฯ ก็สามารถโน้มน้าวให้อินเดียกับปากีสถานยอมเจรจาหาทางออกร่วมกันได้ โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้อินเดียกับปากีสถานใช้เหตุการณ์ก่อการร้ายเป็นโอกาสในการทำงาน และร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค

 

แต่อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก สหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์ปากีสถานอย่างรุนแรงว่าแอบให้ที่หลบซ่อนกับกลุ่มตาลีบัน และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ทรัมป์เองได้เขียนทวิตเตอร์โดยมีข้อความว่า “ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่ฉลาดเลยที่ไปให้เงินสนับสนุนปากีสถานมากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ปากีสถานไม่ได้ให้อะไรตอบแทนเราเลยนอกจากการโกหก หลอกหลวง เพราะคิดว่าผู้นำสหรัฐฯ ที่ผ่านๆ มาโง่…พวกเขาให้ที่หลบภัยกับผู้ก่อการร้ายที่เรากำลังตามล่าในอัฟกานิสถาน…พอแล้ว (สำหรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ)” จากนั้นสหรัฐฯ ก็ตัดงบประมาณสนับสนุนปากีสถานลง ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้ปากีสถานไม่พอใจอย่างมาก โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานถึงกับพูดว่า “ปากีสถานไม่ใช่พันธมิตรของสหรัฐฯ อีกต่อไป…เราไม่ได้เป็นพันธมิตรกับใคร…นี่ไม่ใช่พฤติกรรมที่พันธมิตรทำต่อกัน”

 

ต่อกรณีวิกฤตครั้งล่าสุด ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ให้อินเดียและปากีสถานยึดหลักขันติ ยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ โดยเฉพาะการใช้กำลังทหาร เพราะเกรงว่าความขัดแย้งจะทวีความความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ปอมเปโอยังเน้นย้ำให้ปากีสถานดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายที่เข้ามากบดานในประเทศ

 

ทั้งนี้หากพิจารณาจากท่าทีของปอมเปโอ จะเห็นได้ว่าเขาพูดเน้นให้ปากีสถานดำเนินการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในประเทศมากขึ้น แต่ไม่ได้พูดถึงกรณีที่อินเดียปฏิบัติการสายฟ้าแลบโจมตีทางอากาศรุกล้ำเข้าไปในเขตปากีสถาน ซึ่งเท่ากับให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของอินเดียโดยปริยาย หรือในอีกด้านหนึ่งสหรัฐฯ ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเตือนอินเดียได้เพราะสหรัฐฯ เองก็อ้างสิทธินี้ในการโจมตีกลุ่มติดอาวุธในหลายประเทศ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ที่สำคัญคือสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกร้องให้อินเดียและปากีสถานใช้เหตุการณ์นี้เป็นโอกาสในการจับมือกันต่อต้านการก่อการร้ายเหมือนที่เคยเรียกร้องในครั้งก่อนๆ ดังนั้น ท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ จึงทำให้ประเมินได้ยากว่าสถานการณ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะจบลงอย่างไร แต่กระนั้นก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากปากีสถานในการผลักดันการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ กลับมาแสดงบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศนี้อีกครั้ง

 

แนวโน้มปัญหาขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานจะจบลงอย่างไร

หากพิจารณาจากสงครามและการปะทะกันระหว่างอินเดียกับปากีสถานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าโดยรวมแล้วทั้งสองประเทศจะไม่สามารถจบหรือยุติปัญหาความรุนแรงระหว่างกันได้เอง แต่จำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันจากประเทศที่ 3 อย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหประชาชาติในการเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์การเผชิญหน้ากัน

 

กรณีการปะทะกันครั้งนี้ หากไม่มีแรงกดดันจากภายนอกมากพอ ฉากทัศน์แรกที่เลวร้ายที่สุดคืออาจนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างสองประเทศนี้อีกครั้ง ซึ่งจะสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ฉากทัศน์นี้ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นแน่นอน แม้แต่คู่ขัดแย้งเองก็ตาม

 

ฉากทัศน์ต่อมา สถานการณ์อาจคลี่คลายหากสหรัฐฯ กลับมาแสดงบทบาทเหมือนเช่นในอดีต หรือหากไม่แล้วก็อาจเป็นองค์การสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงที่ต้องนำเรื่องนี้เข้าประชุมหารือเพื่อยับยั้งไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

 

ฉากทัศน์สุดท้าย อาจเป็นไปได้ว่าทั้งอินเดียและปากีสถานจะตระหนักถึงความสูญเสียที่จะตามมา และสถานการณ์ที่กำลังนำพาทั้งคู่ไปยืนอยู่บนปากเหวด้วยภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในทางความมั่นคง (Security Dilemma) จนกระทั่งต้องยอมถอยกันคนละก้าว และหันหน้ามาเจรจาพูดคุยกัน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกต้องการเห็น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising