×

ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของอินสตาแกรมที่คุณควรรู้

09.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ

 

  • เชื่อกันว่า มอลลี รัสเซล เด็กสาวชาวอังกฤษวัย 14 ปี กดอ่านข้อความในภาพเหล่านี้ก่อนที่เธอจะตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
  • ล่าสุดอินสตาแกรมซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งของเฟซบุ๊กได้ทำการเปลี่ยนโหมดการเสิร์ชผ่านแฮชแท็ก #suicide ให้ขึ้นข้อความแจ้งเตือนก่อนว่า ‘คุณต้องการความช่วยเหลือหรือไม่’ แต่ถึงกระนั้นหากผู้เสิร์ชต้องการค้นหาภาพ ก็สามารถกดเลือกชมภาพได้เช่นเคย
  • หากสงสัยว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและทดลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าเพื่อประเมินตนเองในเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หรือโทรศัพท์ปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขที่สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 แต่ถ้าจะให้แน่ชัด ควรปรึกษาและให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเท่านั้น

 

#suicide แฮชแท็กบนอินสตาแกรมที่เมื่อกดแล้วคุณจะพบว่ามีรูปภาพกว่า 8 ล้านภาพที่ปรากฏขึ้นมาให้เลือกชม หรือจะลอง #selfharmm (เอ็มสองตัว) ที่ภาพที่เห็นอาจทำคุณใจหายไม่แพ้กัน

 

นี่เป็นสองแฮชแท็กลับๆ สำหรับกลุ่มคนที่สนใจถกเรื่องของการทำร้ายตนเอง ภาพบางภาพอาจติดตา เป็นรอยเลือดจากการกรีดแขนตัวเองของหญิงคนหนึ่ง พร้อมกับแคปชันว่า ‘New blades’ หรือ ‘ใบมีดใหม่’ อีกภาพมีการร่ายเรียงตัวหนังสือใส่เป็นบทกลอน ‘ร่างกายที่รัก ฉันเกลียดเธอชะมัด เธอมันอ่อนแอ เธอสมควรได้รับความเจ็บปวด เธอมันไม่สมบูรณ์แบบ และไม่มีวันที่จะดีพอ ฉันหวังว่าเธอจะจากไปเสียที!’

 

 

เชื่อกันว่า มอลลี รัสเซล เด็กสาวชาวอังกฤษวัย 14 ปีกดอ่านข้อความในภาพเหล่านี้ก่อนที่เธอจะตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา และแม้ครอบครัวจะไม่เคยทราบมาก่อนจากภายนอกที่แลดูสดใสร่าเริงของเด็กสาว แต่เธอได้รับผลกระทบจากการเสพด้านมืดของโซเชียลมีเดียที่แผ่หราอยู่อย่างเปิดสาธารณะ

 

และหลังจากถูกเรียกร้องจากคุณพ่อของมอลลีและครอบครัวกว่า 30 ครอบครัว อินสตาแกรมก็ตัดสินใจแบนภาพของการทำร้ายตัวเองออกจากแพลตฟอร์ม

 

“การตัดสินใจของอินสตาแกรมช่วยปกป้องเด็กให้ห่างจากภาพที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม และผมหวังว่าบริษัทจะมีมาตรการที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อสุขภาพจิตของเด็กๆ และคนอีกทั่วโลก” คุณพ่อของมอลลีเผยกับนิตยสาร Marie Claire ออสเตรเลีย นอกจากนั้นเขายังเสริมอีกว่า “ถึงเวลาแล้วที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ควรหันมาคำนึงถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตให้กับเยาวชนและคนอื่นๆ ที่ใช้งานด้วย”

 

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ที่การใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ยังคงเป็นที่นิยม และก่อให้เกิดประเด็นสังคมหลายครั้ง ทั้งเนื้อหาที่แสดงความรุนแรงสดอย่างที่ไม่มีการคัดกรอง ทั้งการไลฟ์สดปลิดชีวิตตัวเอง การทารุณกรรม ไม่ต่างจากการเข้าเว็บมืด ทั้งยังเปิดให้ ‘ใครก็ได้’ เข้าถึง เข้าชมได้อย่างเต็มที่

 

 

เฟซบุ๊กประเทศไทยได้เผยมาตรการในการมอนิเตอร์และเฝ้าระวังคอนเทนต์ที่มีความรุนแรงกับ THE STANDARD เอาไว้ดังนี้

  • ไม่อนุญาตให้มีการโปรโมตคอนเทนต์ไลฟ์สดความรุนแรง รวมถึงกรณีไลฟ์สดฆ่าตัวตาย
  • เมื่อมีผู้ใดใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก หรือใช้ฟีเจอร์ไลฟ์สดเผยแพร่คอนเทนต์ความรุนแรง พวกเราจะทำการระงับทันทีเมื่อได้รับการแจ้งข้อมูลเข้ามา
  • ผู้ใช้รายอื่นๆ สามารถกดรีพอร์ตเข้ามาได้ในระหว่างการไลฟ์คอนเทนต์ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ไลฟ์นั้นๆ จบลง โดยพวกเราจะคอยมอนิเตอร์ไลฟ์สดที่ได้รับความนิยมเสมอ แม้จะไม่มีผู้แจ้งหรือรีพอร์ตเข้ามาก็ตาม
  • เนื่องจากฟีเจอร์ไลฟ์เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เราจึงพยายามจะเรียนรู้และพยายามพัฒนามันให้ดีขึ้นเสมอ โดยทุกคอนเทนต์ที่ถูกกดรีพอร์ตเข้ามาจะได้รับการตรวจสอบจากทีมปฏิบัติการภาคชุมชนของเรา (Community Operations Team) ซึ่งจะแฝงตัวอยู่ทุกที่บนโลกใบนี้ และพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน สามารถสื่อสารได้ถึง 40 ภาษา เพื่อให้ดำเนินการลบคอนเทนต์ความรุนแรงทุกรูปแบบได้ตามมาตรฐานของเฟซบุ๊ก (ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้มากถึง 15,000 คน แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20,000 คนภายในสิ้นปีนี้)
  • เราได้ลงทุนทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก Machine Learning
  • เครื่องมือสำหรับช่วยระงับเหตุการฆ่าตัวตายมีใช้บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมาแล้วกว่า 10 ปี และถูกพัฒนาร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตมากกว่า 50 แห่งทั่วโลก ด้วยการให้ข้อมูลจากกลุ่มบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์การคิดฆ่าตัวตายมาก่อน พวกเขาได้ให้ข้อมูลกับเราเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นๆ ที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหา

 

 

ไม่นานมานี้อินสตาแกรม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งของเฟซบุ๊กได้ทำการเปลี่ยนโหมดการเสิร์ชผ่านแฮชแท็ก #suicide ให้ขึ้นข้อความแจ้งเตือนก่อนว่า ‘คุณต้องการความช่วยเหลือหรือไม่’ และ ‘เนื้อหาที่คุณเสิร์ชอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมด้านลบและความรุนแรงถึงชีวิต และหากคุณกำลังผ่านช่วงเวลาเลวร้าย เรายินดีช่วยเหลือ’ โดยมีปุ่มให้กดนำไปสู่หน้า ‘เราช่วยอะไรคุณได้บ้าง’ โดยสามารถเลือกพูดคุยกับเพื่อน ต่อสายด่วนเพื่อพูดคุยรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของ The Samaritans of Thailand ที่เบอร์ 0 2713 6793 และสามารถเลือกรับเคล็ดลับและความช่วยเหลือได้ ซึ่งแนะนำกิจกรรมเบื้องต้นให้ออกไปข้างนอก จ๊อกกิ้ง เล่นเกม ตลอดจนใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างการวาดรูปหรืออาบน้ำให้ใจสงบ ไปจนอ่านหนังสือและนอนพักผ่อน

 

แต่ถึงกระนั้นหากผู้เสิร์ชต้องการค้นหาภาพ ก็สามารถกดเลือกชมภาพได้เช่นเคย

 

ท้ายสุดแล้วโซเชียลมีเดียยังคงเป็นดาบสองคมที่แม้จะช่วยให้โลกทั้งใบใกล้กันมากขึ้น แต่ก็ยังทำให้โลกทั้งใบหายไปในพริบตาสำหรับบางคน แม้จะมีข้อความเตือนใจ ยื่นเบอร์โทรศัพท์สายด่วน หรือชวนให้ออกไปเหม่อมองดูเมฆหรือจ๊อกกิ้งบ่อยแค่ไหน หากปราศจากผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดคอยสังเกต รับฟังและให้คำปรึกษา ข้อความเหล่านั้นก็อาจไร้ประโยชน์วันยังค่ำ

 

อ่านเรื่อง ไขปริศนามืดมนของโรคซึมเศร้า ตอนที่ 1: ทำไมคนยุคนี้ถึงซึมเศร้าได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง ก้าวผ่านโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ ได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • หากสงสัยว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและทดลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าเพื่อประเมินตนเองในเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หรือโทรศัพท์ปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขที่สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 แต่ถ้าจะให้แน่ชัด ควรปรึกษาและให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเท่านั้น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X