ลอว์สัน อิงค์ บริษัทเจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ปิดร้าน 2 สาขาในจังหวัดไซตามะ หลังพบว่า ทางร้านได้ปลอมแปลงเวลาหมดอายุของสินค้าประเภทอาหารบางรายการมาเป็นเวลาหลายปี
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างตรวจสอบร้านลอว์สันทุกสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูว่ามีเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับสาขาอื่นๆ หรือไม่ นอกจากนี้ลอว์สันยังวางแผนที่จะยกระดับการควบคุมดูแลการดำเนินงานให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ผ่านทางการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดในครัว และติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้นว่า แต่ละสาขาออกฉลากหรือป้ายอาหารเป็นจำนวนมากเท่าไร
ลอว์สันเปิดเผยว่า ร้านทั้ง 2 สาขาดังกล่าวบริหารงานโดยเจ้าของแฟรนไชส์รายเดียวกัน ซึ่งทางเจ้าของแฟรนไชส์เองก็รับทราบเกี่ยวกับการที่พนักงานในร้านปลอมฉลาก แต่รายงานไม่ได้ระบุว่าเจ้าของร้านได้สั่งให้มีการติดฉลากใหม่หรือไม่หลังทราบเรื่อง
ปัจจุบัน ลอว์สันมีร้านสะดวกซื้อประมาณ 14,000 แห่งในประเทศญี่ปุ่น สำหรับร้านที่ถูกปิดนั้นเป็นสาขาแฟรนไชส์ในจังหวัดไซตามะ ซึ่งอยู่ใกล้กับโตเกียว
จากการตรวจสอบพบว่า ร้านทั้งสองแห่งได้ขยายเวลาหมดอายุที่เขียนอยู่บนฉลากของกล่องอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ข้าวหน้าหมู และแซนด์วิช ออกไปอีก 7 ชั่วโมง โดยใช้วิธีการเปลี่ยนฉลากสินค้า ก่อนที่สินค้านั้นจะครบกำหนดหมดอายุจริง 2 ชั่วโมง
“เราขออภัยเป็นอย่างสูงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกค้าของเรา” ลอว์สันระบุในแถลงการณ์
บริษัทยังเผยด้วยว่า 1 ใน 2 ร้านที่ถูกปิด ได้ปลอมแปลงเวลาหมดอายุของสินค้ามาเป็นเวลานานถึง 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เปิดร้านในเดือนกรกฎาคม ปี 2016 และมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวถึง 13,700 รายการ ขณะที่อีกร้านหนึ่งได้ปลอมแปลงบรรจุภัณฑ์ในระหว่างปี 2014-2017
ลอว์สันได้เปิดฉากตรวจสอบกรณีการปลอมแปลงดังกล่าว และรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่ศูนย์บริการลูกค้าของลอว์สันได้รับการร้องเรียนจากบุคคลนิรนามในเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ลอว์สันระบุว่า ทางบริษัทไม่ได้รับรายงานปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสินค้าหมดอายุ ขณะที่การตรวจสอบรายการอาหารประเภทเดียวกันโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้น พบสินค้า 1 ใน 9 ตัวอย่าง ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหลังอาหารหมดอายุ 7 ชั่วโมง ในปริมาณสูงกว่าเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้
ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่ของลอว์สันตั้งใจว่า จะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงมากขึ้นในการควบคุมคุณภาพที่ร้านค้าทุกสาขา ด้วยการเก็บสถิติอาหารทุกรายการที่ปรุงขึ้นภายในร้าน และสินค้าที่ถูกทิ้งหลังหมดอายุ นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเตรียมนำฉลากสินค้าที่แกะออกยากกว่าเดิมมาใช้อีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: