17 ปี เป็นเพียงตัวเลขที่หลายคนกล่าวถึง เกี่ยวกับ Super Bowl ครั้งที่ 53 ที่ผ่านมา เพราะศึกครั้งนี้เป็นการรีแมตช์ครั้งสำคัญของลอสแอนเจลิส แรมส์ กับนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ที่พวกเขาได้พบเจอกันครั้งล่าสุดในศึก Super Bowl ครั้งที่ 36
ซึ่งในปีนั้น ลอสแอนเจลิส แรมส์ เป็นทีมที่ถูกยกย่องให้เป็นผู้ปกครองยุคสมัย ด้วยฉายาที่สื่อตั้งให้ว่า The Greatest Show On Turf กับเกมรุกที่สนุกดุเดือดและน่าติดตาม ขณะที่นิวอิงแลนด์ฯ ในปีนั้น ทอม เบรดี ยังเป็นเพียงแค่ควอเตอร์แบ็กตัวสำรอง ที่เพิ่งจะก้าวขึ้นมายึดตัวจริงในฤดูกาลปกติได้ไม่นาน
แต่แล้วปีนั้น เบรดีก็แจ้งเกิดบนเวที Super Bowl ได้สำเร็จ ด้วยการพาทีมเอาชนะแรมส์ฯ ไป 20-17 คว้าแชมป์ Super Bowl ได้เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จร่วมกันระหว่างคู่หู ทอม เบรดี และ บิล เบลิชิก
17 ปีผ่านไป นิวอิงแลนด์ฯ ก้าวเข้าสนามในฐานะทีมที่มีประสบการณ์มากขึ้น พร้อมกับแชมป์ 5 สมัย จากครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองทีมได้เจอกัน นิวอิงแลนด์ฯ ก็ใช้ประสบการณ์เอาชนะแรมส์ฯ ไป 13-3 คว้าแชมป์สมัยที่ 6 ไปครอง พร้อมกับสถิติ ควอเตอร์แบ็กที่คว้าแชมป์ Super Bowl มากที่สุดกับทีมเดียวของ ทอม เบรดี
แม้ว่าการแข่งขันจะขาดความสนุกตื่นเต้นและกลายเป็น Super Bowl ที่มีสกอร์น้อยที่สุดตลอดกาล รวมถึงฮาล์ฟไทม์โชว์จากศิลปิน Maroon 5 และ ทราวิส สกอตต์ คงเป็น 3 สิ่ง ที่ฝ่ายผู้จัดไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเท่าไรนัก สำหรับนัดชิงชนะเลิศของกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่เมื่อการแข่งขันจบลง ภาพของผู้ชนะขึ้นรับถ้วยรางวัล พร้อมกับสื่อต่างประเทศเริ่มต้นพูดถึง Dynasty ที่มีความหมายโดยตรงคือ ราชวงศ์ แต่สำหรับโลกกีฬา มันมีความหมายว่า การครองความยิ่งใหญ่อย่างยาวนานของทีมกีฬาทีมใดทีมหนึ่ง โดยจะยึดอำนาจผูกขาดความสำเร็จ และเป็นขาประจำในการกวาดแชมป์ประจำลีก ซึ่งสื่อต่างประเทศจะใช้คำว่า Dominate
มาถึงแชมป์ครั้งนี้ ทุกคนก็ได้ให้การยอมรับแล้วว่า ทอม เบรดี และ บิล เบลิชิก โค้ชของนิวอิงแลนด์ฯ ได้สร้าง Dynasty ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาของกีฬาอเมริกันฟุตบอลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ในช่วงเวลาเช้ามืดตั้งแต่ 05.00 น. เป็นช่วงเวลาที่คนกลุ่มหนึ่งตื่นขึ้นมาอาบน้ำ แต่งตัว และมุ่งหน้าออกสู่ถนนภายในกรุงเทพมหานคร พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มุ่งหน้าออกมาทำงาน แต่พวกเขากลับมาพบเจอกันอีกครั้งในรอบปี เพื่อรวมตัวกันชมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศ หรือ Super Bowl ครั้งที่ 53 นั่นเอง
ซึ่งในการจัดงานชม Super Bowl ครั้งนี้ THE STANDARD ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน และพบเจอพูดคุยกับ สมบูรณ์ อ่ำวิจิตร เจ้าของเพจ NFL NBA และกีฬาของประเทศไทย ผู้จัดกิจกรรม
ด้วยประสบการณ์ที่ติดตามการจัดกิจรรมและได้มีโอกาสประสบกับความยิ่งใหญ่ของ ทอม เบรดี ในศึก Super Bowl ร่วมกับกองเชียร์ในประเทศมาตั้งแต่ปี 2001 เราจึงตัดสินใจสอบถามถึง Dynasty ที่ยิ่งใหญ่ของทั้งคู่ในครั้งนี้
Dynasty ของ ทอม เบรดี ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขัน
“ที่สุดแล้วครับ แม้กระทั่งยุคสมัยของ โจ มอนทานา ก็ยังสู้ไม่ได้ ทีมงานเขาดีมาก โดยเฉพาะ บิล เบลิชิก สองคนนี้มีเคมีที่เข้ากันได้ โค้ชต้องให้ความเคารพ ควอเตอร์แบ็ก ก็เช่นเดียวกัน ควอเตอร์แบ็กต้องให้ความเคารพโค้ช มันลงตัวพอดี สองคนนี้จะอยู่ไปอีกนาน จนกว่าวันหนึ่งเขาเลือกที่จะหยุดไปเอง
“จุดเด่นที่สุดของ ทอม เบรดี รักษาร่างกายได้อย่างมหัศจรรย์ในวัย 41 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับ เพย์ตัน แมนนิง ในวัย 40 ปี ยังรักษาร่างกายได้ไม่ดีเท่านี้ เขามีอาการขว้างบอลแกว่งบ้าง แต่เบรดีไม่มีเลย บวกกับพรสวรรค์และแท็กติกของโค้ช ที่ว่ามีการแก้เกมตลอด เขาปรับตัวตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา”
นอกเหนือจากนั้น ในระหว่างการแข่งขัน ทอม เบรดี ยังมีการตัดสินใจและการออกบอลที่เร็วกว่าคนอื่น เขามีแพสชันในการเล่นเกม เพราะเขาศึกษาวิธีการเล่นใหม่ๆ ตลอดทุกปี เหมือนกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสที่รู้ว่าสภาพร่างกายเขาเป็นอย่างไร และเหมาะสมกับการเล่นรูปแบบไหนในวัยที่มากขึ้น
บิล เบลิชิก… เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แห่งวงการอเมริกันฟุตบอล
เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ บิล เบลิชิก ต้องมาพบเจอกับโค้ชรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มาพร้อมกับความกล้าหาญ ด้วยการทดลองใช้ไอเดียใหม่ๆ ในรูปแบบเกมรุก แต่สิ่งที่ ฌอน แม็คเวย์ โค้ชหนุ่มวัย 33 ปี ให้สัมภาษณ์หลังเกมแทบไม่ต่างกับ แคม นิวตัน ควอเตอร์หนุ่มของแคโรไลนา แพนเธอร์ส ที่พ่ายให้กับ เดนเวอร์ บรองโกส์ ของเพย์ตัน แมนนิง ใน Super Bowl ครั้งที่ 50
“ผมโดนเอาต์โค้ช” ฌอน แม็คเวย์ กล่าวหลังพ่ายนิวอิงแลนด์ฯ ไป 13-3 ใน Super Bowl ครั้งที่ 53
“ผมโดนเอาต์เพลย์” แคม นิวตัน กล่าวหลังพ่ายเดนเวอร์ บรองโกส์ไป 24-10 ใน Super Bowl ครั้งที่ 50
กีฬาอเมริกันฟุตบอลไม่มีใครจดจำรองแชมป์ แคม นิวตัน หายสาบสูญไปจาก Super Bowl ในครั้งนั้น ขณะที่ เพลย์ตัน แมนนิง กลายเป็นหนึ่งในตำนานของวงการ หลังจากที่เขาวางมือหลังจบฤดูกาลนั้น
เช่นเดียวกับเกมนี้ ฌอน แม็คเวย์ โค้ชหนุ่มที่มีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์เป็นโค้ชที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถคว้าแชมป์ Super Bowl ได้ หลังเกมนี้ เขาทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับว่าเขาไม่สามารถต่อกรกับการแก้เกมของ บิล เบลิชิก ได้เลย
ในช่วง 8 ไดร์ฟแรก แรมส์ฯ ของแม็คเวย์ต้องพันต์ทิ้งตลอด และมีแค่ 2 ไดร์ฟที่เข้าไปอยู่ในแดนของทีมแพทริออตส์ฯ ลึกสุดแค่เส้น 42 หรือข้ามแดนกลางสนามไปได้แค่ 8 หลาเท่านั้น รวมถึงเกมนี้ยังเป็นเกมที่พันต์ติดต่อกันมาก จนเป็นสถิติของ Super Bowl ไปแล้ว
แรมส์ฯ ทั้งบุกไม่ขึ้น และเกมรุกก็โดนเบรดีเล่นงานได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงลูกปาบิ๊กเพลย์ระยะ 69 หลา ที่เบรดีปาบอลเข้ามือ ร็อบ กรองโกวสกี ยอดปีกใน ก่อนที่จะทำทัชดาวน์เดียวของเกมได้ หลังจากขึ้นนำ 10-3 ในควอเตอร์สุดท้าย รูปเกมก็เป็นนิวอิงแลนด์ฯ อย่างสิ้นเชิง จนสุดท้ายเอาชนะไปได้ 13-3
ซึ่งนอกเหนือจากความสามารถที่ทำให้บิลถูกยกย่องเป็นหนึ่งในโค้ชที่ดีที่สุดตลอดกาลของอเมริกันฟุตบอลแล้ว สมบูรณ์ อ่ำวิจิตร เจ้าของเพจ NFL NBA และกีฬาของประเทศไทย มองว่า บิลเปรียบเสมือน เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แห่งวงการอเมริกันฟุตบอล ด้วยสไตล์การบริหารทีมที่เน้นระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทีมโฟกัสที่การแข่งขันในสนามเพียงอย่างเดียว
“บิล เบลิชิก เทียบได้กับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือในองค์กรต้องมีผู้จัดการทีมที่รักษาระเบียบวินัย ก่อนหน้านี้ โจนัส เกรย์ ตัววิ่งนิวอิงแลนด์ฯ เมื่อประมานสัก 4-5 ปีก่อน มีเกมหนึ่งเขาเพิ่งวิ่งได้ 200 กว่าหลา แต่ในวีคถัดมา เขาต้องไปซ้อม แต่ตื่นสาย บิล เบลิชิก ตัดออกจากทีม หลังจากนั้นดองยาว และไม่ได้เกิดอีกเลย สำหรับหลายๆ คน ตัววิ่ง 200 หลา อาจจะหยวนให้บ้าง แต่ไม่ใช่ บิล เบลิชิก เขาเลือกที่จะตัดทิ้งเลย
“ถ้าสังเกตใน NFL หลายๆ ทีม เวลาผู้จัดการทีมคุมทีมไม่อยู่ จะมีปัญหาในห้องแต่งตัวตลอด หลุดออกจากกรอบตลอด นี่คือสิ่งที่น่าคิด เพราะนิวอิงแลนด์ฯ จะไม่เคยมีผู้เล่นที่เสียๆ หายๆ เลย เพราะถ้ามีก็จะโดนลงดาบทันที เหมือนกับเซอร์อเล็กซ์ที่ถึงจุดที่อยากเลิกไปเอง
“ผมก็เดาว่าคู่นี้ถึงจุดหนึ่งก็คงเลิกพร้อมกันไปเอง ไม่มีทางที่คนใดคนหนึ่งจะเลิกก่อน
“ในกีฬาทั้ง NBA และ NFL เป็นเรื่องยากที่จะหาใครมาต่อได้ เหมือนกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เซอร์อเล็กซ์วางมือไป”
ประวัติศาสตร์ของทั้งสองเริ่มต้นขึ้นในวันที่ ดรูว์ เบลดโซ ควอเตอร์แบ็กมือหนึ่งของนิวอิงแลนด์ฯ ก่อนที่ ทอม เบรดี จะถูกดราฟต์เข้าในปี 2000 ในรอบที่ 6 เป็นคนที่ 199
โดยตลอดช่วงเวลาที่เบลดโซเป็นมือหนึ่ง เขามักจะสอนเทคนิคต่างๆ ให้กับ ทอม เบรดี แต่สุดท้ายวันที่เบลดโซได้รับบาดเจ็บในเดือนกันยายน ปี 2001 และเบรดีก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ควอเตอร์แบ็กแทน วันนั้นคือจุดเริ่มต้นของคู่บุญ เบรดี & เบลิชิก
ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันมาตลอด ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ทั้งคู่ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ที่ยิ่งใหญ่คือ การบริหารจัดการระบบการเล่นของทีม ด้วยการที่นิวอิงแลนด์ฯ สามารถก้าวเข้ามาแข่งขัน Super Bowl ได้ถึง 9 ครั้ง กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้รอบดราฟต์หานักกีฬาใหม่เข้าทีม จะได้ลำดับที่ 31 หรือ 32 แต่นิวอิงแลนด์ฯ สามารถแก้ปัญหาด้วยการเอาผู้เล่นที่ทีมอื่นไม่ใช้แล้วมาใช้งาน และปรับสมดุลของทีมให้เข้ากับแผนการเล่น ทั้งของเฮดโค้ช บิล เบลิชิก และ ทอม เบรดี
ทั้งคู่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ แพสชันอันแรงกล้า พวกเขาทั้งสองรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรให้เข้ากับยุคสมัย และพวกเขาก็สามารถพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
มาถึงวันนี้ในสภาพของ ทอม เบรดี และ บิล เบลิชิก แม้ว่าในการเข้าชิง 3 ครั้งติดต่อกันที่ผ่านมา คำถามจะเกิดขึ้นเสมอว่า เมื่อไรเขาจะหยุดเล่น เนื่องจากสภาพร่างกายที่อายุมากขึ้นทุกวัน
แต่สำหรับแฟนกีฬาอเมริกันฟุตบอลเชื่อว่า ลึกๆ แล้ว คงเสียดายไม่น้อย ถ้าวันหนึ่งสองคนนี้วางมือ เพราะอีกหน่อยเราคงสามารถกล่าวได้เหมือนกับแฟนกีฬาในอดีตว่า
เราดูฟุตบอลในยุคสมัยของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เราดูมวยสากลในวันที่ มูฮัมหมัด อาลี ยังขึ้นชก และเรามีโอกาสได้ดูอเมริกันฟุตบอลในวันที่ ทอม เบรดี ยังคงเล่นอยู่ในสนาม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล