เรามักไม่ได้เอะใจเวลามีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือขับถ่ายเป็นเลือด และเผลอคิดว่าตัวเองแค่เป็นคนท้องเสียง่ายเกินไป แต่อย่าชะล่าใจไป เพราะแท้จริงแล้วเราอาจเข้าข่ายผู้ป่วยโรค ‘IBD’ อย่างไม่รู้ตัว
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เผยว่ากลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD (Inflammatory Bowel Disease) เป็นกลุ่มโรคที่มีการอักเสบบริเวณทางเดินอาหาร มักพบกับคนแถบตะวันตกและตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ในแถบตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น และยังพบในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยอายุที่มักเริ่มมีอาการคือช่วงอายุ 20-40 ปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย
ด้วยความที่โรค IBD มีอาการคล้ายกับโรคทางเดินระบบอาหารอื่นๆ ในกลุ่มโรค IBS (Irritable Bowel Syndrome) อย่างโรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร และโรคลำไส้แปรปรวน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่เฉลียวใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการของกลุ่มโรค IBD ทำให้ได้รับการรักษาไม่ตรงกับโรค และเกิดอาการเรื้อรังมากยิ่งขึ้น
THE STANDARD พาคุณมาทำความรู้จักกับโรค IBD และเช็กตัวเองไปพร้อมๆ กัน
โรค IBD สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 โรค ได้แก่
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative Colitis – UC) เกิดเฉพาะบริเวณลำไส้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียรุนแรงและถ่ายเป็นเลือด
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease – CD) สามารถพบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยปวดท้อง น้ำหนักลด และเกิดภาวะซีด
สาเหตุของโรค IBD
จากการสนทนาสุขภาพ ‘IBD มีเพื่อน’ ที่จัดโดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มีการเผยว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้
- พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
- เม็ดเลือดขาวทำงานหนักผิดปกติ เพราะคิดว่าลำไส้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ
- เชื้อแบคทีเรียในร่างกายถูกกระตุ้น
- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น นม เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ อาหารขยะ บุหรี่ หรือความเครียด เป็นต้น
อาการที่ควรสังเกต
- ปวดท้องและท้องเสียเรื้อรัง
- อุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
- มีไข้ต่ำๆ จนถึงไข้สูง
- อาจมีภาวะโลหิตจาง
หากสงสัยว่าอาจเกิดโรค IBD ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค IBD แบบเฉพาะ ซึ่งมีดังนี้
- การตรวจร่างกาย เน้นไปที่ช่องท้องและทวารหนัก
- การตรวจเลือด
- การตรวจอุจจาระ
- การส่องกล้องเพื่อหาแผลบริเวณผนังลำไส้ และนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจ
การรักษาโรค IBD
- การใช้ยา มีทั้งยากดภูมิน้อยและยากดภูมิเยอะ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร
- การดูแลด้านจิตใจและสภาพอารมณ์
- การผ่าตัดลำไส้ที่มีอาการอักเสบ
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค IBD
- ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน เช่น งดอาหารรสจัด ของหมักดอง และรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกแล้ว
- พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายสร้างเซลล์ขึ้นมาซ่อมแซม
- หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิต ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และนพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เผยว่าโรค IBD เมื่อเรื้อรังแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค และได้รับการเยียวยาทางสภาพจิตใจ ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติอีกครั้ง
หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ อย่าเพิ่งเครียดด่วนสรุปไป สามารถพูดคุย สอบถาม และประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ www.ibdthai.com โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และชมรมแพทย์ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร คอยให้คำแนะนำและข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อให้เราได้สำรวจตัวเองและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที รวมไปถึงยังเป็นพื้นที่ผู้ป่วยโรค IBD ได้เข้ามาแชร์ประสบการณ์และพูดคุยกันอีกด้วย
ภาพประกอบ: Pichamon W.
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์