×

วิกฤตหรือโอกาสครั้งใหม่? ไทยจะได้และเสียอะไรจากนโยบาย One Belt One Road

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 mins read
  • หนึ่งในเป้าหมายของนโยบาย One Belt One Road คือระบาย ‘ของ’ ได้แก่ เหล็กและซีเมนต์ รวมทั้งคนภายในประเทศ นักวิชาการเตือน ต้องศึกษาข้อมูลให้มากเพื่อติดต่อกับจีน
  • ความท้าทายของนโยบายดังกล่าวคือเป็นโครงการแบบเจรจาไปเรื่อยๆ ไม่ชัดเจนเรื่องความยั่งยืน และมีปัญหาความขัดแย้งกับคนในพื้นที่
  • 5 ข้อสังเกตในมุมกฎหมายที่ควรจับตา 1. จีนส่งออกโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 2. ตอบโจทย์ปัญหาภายในประเทศ 3. ชาติพ่อค้า ถ้าไม่ได้กำไร ไม่ทำ 4. สร้างบทบาทเชิงรุกระหว่างประเทศ 5. มิติหลากหลายในโครงการนี้

     ประเด็น ‘เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21’ หรือ One Belt One Road เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางบนเวทีนานาชาติ นับตั้งแต่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ประกาศแนวคิดการนำเส้นทางสายไหมมาปรับปรุงอีกครั้งในปี 2013 โดยมี 2 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ

     การพัฒนาเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) โดยมุ่งสร้างเครือข่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่เส้นทางถนน ทางรถไฟ โทรคมนาคม ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือ หวังเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคในหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง
     นโยบายนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของจีนที่ต้องการประกาศความเป็นมหาอำนาจของโลกภายใต้กติกาใหม่ ดังที่เราได้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองจากโลกตะวันตกมาสู่ตะวันออก เช่น เหตุการณ์ Brexit และการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาดีธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยึดโยงกับนโยบาย ‘อเมริกามาก่อน’

 

 

     ก่อนหน้านี้ THE STANDARD ได้เชิญ ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล มาร่วมถอดรหัสเส้นทางสายไหมใหม่และถกทิศทางอนาคตของประเทศไทย (อ่านบทความเดิม) แต่เพื่อมองภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกับประเด็นเศรษฐศาสตร์ การค้าการลงทุน และกฎหมาย เราจึงได้รวบรวมนานาทัศนะจากงานเสวนาหัวข้อ One Belt One Road เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 วิกฤตหรือโอกาส? เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากหลายสาขาวิชาร่วมให้ความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในหลายแง่มุม ได้แก่ ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์, ผศ.ดร. ปิติ แสงศรีนาม คณะเศรษฐศาสตร์ และ อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์
ไม่ว่าเมกะโปรเจกต์ระดับโลกนี้จะหยิบยื่นโอกาสหรือนำไปสู่วิกฤต เราก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด

 

จับตา ‘จีนอพยพใหม่’ ปัญหาระดับโลก
     ผศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านจีนศึกษา ชี้ว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยคือ ‘จีนอพยพใหม่’ หาก One Belt One Road (OBOR) ประสบผลสำเร็จ และเกิดการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมหาศาล
     ขณะนี้ในแอฟริกามีชาวจีนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ลาวมีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ยังไม่รวมถึงจำนวนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะรัฐบาลลาวได้ตกลงในส่วนของ OBOR ที่จะให้จีนเป็นผู้ลงทุนสัมปทานข้างทางรถไฟข้างละ 150 เมตร ในประเทศไทยเองก็มีกรณีที่หญิงไทยแต่งงานกับคนจีน รับเป็นนอมินีกว้านซื้อที่ดิน ดังนั้นคนไทยต้องรู้เท่าทัน OBOR ให้มาก

     “OBOR จะเป็นวิกฤตหรือโอกาส ถ้าเรารู้บริบทเท่าทันจีน OBOR เท่ากับโอกาส แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันก็คือวิกฤต ไม่เฉพาะไทย แต่เป็นบริบททั่วโลก”

 

 

สมดุลสัมพันธ์ไทย-จีนเกิดยาก ไทยต้องรักษาจุดยืน
     แม้ว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลจะไม่ได้ลากผ่านไทยโดยตรง แต่ไทยยังเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งก็คือจีน-คาบสมุทรอินโดจีน ที่รวมถึงประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา อีกทั้งยังอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเป้าหมายของจีนด้วยเช่นกัน
     เมื่อถามว่าไทยควรตั้งรับการแผ่ขยายอำนาจและปรับบทบาทตัวเองอย่างไร เพื่อรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

     ผศ. วรศักดิ์กล่าวว่ายากจะเกิดความสมดุลไทย-จีน เพราะจีนเป็นชาติการค้า มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ภายใต้ระบบเผด็จการที่พยายามหนุนนำให้ประเทศอื่นเดินตามรอย เช่น ลาว และกัมพูชา ซึ่งทำตามระบบจีนทุกอย่าง เพราะไม่มีทางเลือก ผลปรากฏว่าการลงทุนสร้างรถไฟให้ลาวร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้จีนได้สัมปทานข้างทางรถไฟ และเอาคนจีนมาอยู่ได้

     “ตอนแรกไทยก็ได้ข้อเสนอนี้ แต่ไม่เอา อย่างที่บอกว่าจีนเป็นชาติพ่อค้า แล้วไทยต้องการอย่างนี้หรือ

     “ในภาพรวม ผมพอใจที่รัฐบาลไทยทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหารทำอยู่ ที่บอกว่าพอใจเพราะว่าทำให้จีนไม่ชอบไทยเท่าไร

     “จากพื้นฐานประวัติศาสตร์ ไทยมีระบบเศรษฐกิจเสรี ตอนเกิดสงครามในภูมิภาค ไม่มีสงครามภายใน ถึงมีก็น้อยมาก ไทยไม่ประสบปัญหานัก แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมรนั้นบอบช้ำ พอสงครามสงบลง แล้วจีนเข้าไปภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘China Model’ ซึ่งสำคัญมาก”

     ผศ. วรศักดิ์อธิบายว่า กลุ่มทุนชาติตะวันตกเองก็ต้องการเป็นแบบจีน แต่ติดจริตประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเวลาจะลงทุนอะไรก็จะไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่ผ่อนปรนเรื่องกฎกติกา ยิ่งเป็นเผด็จการยิ่งดี เพราะคล่อง ตัดสินใจเร็ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นเช่นนี้

     “ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่จะรุ่งเรืองได้ด้วยระบบอำนาจนิยม ยิ่งเป็นเผด็จการยิ่งดี ที่ผ่านมาไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง -จีนอยู่ได้ อียูเจอยูโรโซน -จีนอยู่ได้ สหรัฐเจอแฮมเบอร์เกอร์ -จีนอยู่ได้ เพราะเป็นเผด็จการ

     “ผมว่าต้องรักษาจุดยืน ไทยอาจจะเล็ก สู้จีนไม่ได้ แต่ต้องสื่อสารกับจีน ดังนั้น สมดุลไทย-จีนทำไม่ได้เลย หากจะทำ ต้องทำเหมือนกัมพูชาที่รักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนได้ เพราะจีนขออะไรก็ให้หมดเลย”

 

 

เจรจากับจีนต้องรอบคอบ รู้ลึกรอบด้าน

     ผศ. วรศักดิ์ปิดท้ายว่า โครงการ One Belt One Road ไม่ใช่โครงการใหม่ ตนเคยเห็นแผนที่ในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน แต่จีนจะผลักดันให้สำเร็จไหมก็ยากที่จะรู้

     “ทำไมจีนโปรโมตมาก ผมขอตอบว่า OBOR สัมพันธ์กับขอบเขตทั่วโลก แต่ยังไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 1949 เมื่อมีแคมเปญอะไร จนถึงเติ้งเสียวผิง คราวนี้จีนลุกมาจัดประชุม แม้แต่การให้ทุนของสถาบันขงจื่อก็มี OBOR ห้อยท้าย”

     ในเรื่องการศึกษาข้อมูล ผศ. วรศักดิ์กล่าวว่า นับจากปี 1894-1895 ที่จีนพ่ายแพ้จากการทำสงครามกับญี่ปุ่น สาเหตุหลักคือจีนไม่ได้ศึกษาเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นศึกษาอย่างแตกฉานจนเกิดเป็นสนธิสัญญาที่จีนเสียเปรียบ แต่ปัจจุบันจีนแม่นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศมาก ตั้งแต่ตอนที่จีนจะเข้าเป็นสมาชิก WTO ก็พิมพ์คู่มือที่เป็นภาษาเข้าใจง่ายแจกคนจีนทั้งประเทศ อธิบายว่าจีนจะได้อะไร และเสียเปรียบเรื่องอะไร

     “ดังนั้นผมจึงเป็นห่วง ผมเคยเตือนตอนที่แถลงข่าวนัดแรก เจรจากับจีนยังไงก็ต้องรอบคอบจริงๆ อย่าให้มีช่องโหว่ จีนเคยเสียเปรียบญี่ปุ่น ตอนนี้เอาวิธีญี่ปุ่นมาใช้กับเรา”

     “ในเรื่องรถไฟความเร็วสูง ถ้าจีนได้ ไทยก็ต้องได้”

     “ในคำประกาศ OBOR นั้นมีคีย์เวิร์ดสำคัญหนึ่งคำว่า ‘จีนนั้นใฝ่สันติภาพ’ และต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าการใฝ่สันติภาพผ่าน OBOR แล้วทำให้ประเทศอื่นไม่สบายใจ ตรงนี้อาจนำไปสู่ปัญหาได้ในอนาคต” ผศ. วรศักดิ์กล่าว

 

 

จีนวางหมากตามภูมิรัฐศาสตร์ หาจุดศูนย์ถ่วงเศรษฐกิจโลก

     ผศ.ดร. ปิติ แสงศรีนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา การค้าไทยและระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเส้นทางสายไหมนี้มีมาก่อน กระทั่งปี 2009-2010 ก็ได้พัฒนาขึ้นมาอีกครั้ง และเริ่มเห็นภาพชัดเจนในปี 2017 เมื่อจีนได้จัดการประชุม One Belt One Road Forum เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในขณะที่หน้าสื่อไทยช่วงนั้นตั้งคำถามว่า ทำไม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกขบวน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่หน้าสื่ออินเดียชี้ชัดว่าผู้นำอินเดียไม่เข้าร่วม แม้จะได้รับเชิญก็ตาม

     ทั้งนี้ ผศ.ดร. ปิติ ชี้ว่าบริษัทของจีนส่วนใหญ่เป็นบรรษัทที่เป็นของรัฐ (State Owned Enterprise) มีโครงการก่อสร้าง 4,000 สัญญา มูลค่าลงทุน 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาไอที ความร่วมมือด้านการเงิน มีเขตเศรษฐกิจที่สร้างความร่วมมือเป็นเขตพิเศษร่วมมือทางการค้ามากกว่า 52 เขต

     ประเทศที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะได้รับรายได้ในลักษณะของภาษีที่เกิดจากธุรกรรมนี้จากจีน 900 ล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงานให้มากกว่า 70,000 ตำแหน่ง มีการประเมินการลงทุนคร่าวๆ ว่าใช้เงินราว 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นี่คือสถานะปัจจุบันของ One Belt One Road

     ผศ.ดร. ปิติกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก จึงมักลงทุนกับพื้นที่เป้าหมาย “ดังนั้นเมื่อจะพูดเรื่องเส้นทางสายไหมบนบก จึงเลือกไปพูดที่คาซัคสถาน และพูดเรื่องเส้นทางสายไหมทางทะเลที่จากาตาร์ อินโดนีเซียโดยเฉพาะ สิ่งที่จีนมองจริงๆ คือความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม”

     กลยุทธ์หนึ่งของจีนคือมองหาจุดศุนย์ถ่วง หรือจุดศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งในขณะนี้มันกลับมาฝั่งเอเชียอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา และในปี 2015 อาเซียนก็มีนโยบายมีส่วนร่วมกับจีนและอินเดีย

     ในมุมของนักวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศ ผศ.ดร. ปิติกล่าวว่า ไม่ว่าไทยจะได้หรือเสียประโยชน์ ต้องไม่ลืมว่าหลายโครงการของจีนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องวัฒนธรรม จึงควรศึกษาให้ละเอียด หากหวังได้ผลประโยชน์จากประเทศมหาอำนาจ

     “ไทยต้องศึกษาดีๆ ไม่งั้นจะเสียประโยชน์ ต้องยอมรับว่า OBOR เป็นเมกะโปรเจกต์ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ไทยต้องศึกษาให้จริงจังกว่านี้ อย่าเปิดหน้าไพ่ เพื่อจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการที่มหาอำนาจแข่งกัน”

 

 

3 ความท้าทายของ One Belt One Road

     ผศ.ดร. ปิติ แจกแจงถึงความท้าทายของโปรเจกต์เป็น 3 ประเด็นหลักที่ต้องคิดทบทวนและจับตาต่อไป ดังนี้

  1. อภิมหาโปรเจกต์ที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
    โปรเจกต์นี้ดำเนินการแบบ step by step นั่นคือเจรจากับแต่ละประเทศไปเรื่อยๆ ไม่มีกลยุทธ์แม่บท (Grand Strategy) ดังนั้นทุกวันนี้รัฐบาลจีนยังไม่รู้ว่า OBOR มีโปรเจกต์อะไรบ้าง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ จะมองว่าไม่ชัดเจน เพราะค่อยๆ ทำ เหมือนมั่วๆ ทำก่อน ขายของก่อน เอาหรือไม่เอาอีกเรื่อง

     ขณะที่คนจีนเห็นต่างไปว่าจีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องขยายงานตามความต้องการที่เกิดขึ้น เช่น จะทำถนนก็ต้องมั่นใจว่ามีรถวิ่งแน่ๆ ก่อนค่อยขยายถนน ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย
ยกตัวอย่างเช่น มีรายงานข่าวบ่อยครั้งว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนประสบอุบัติเหตุ เช่น ขบวนหนึ่งจอดอยู่ที่ชานชาลา แล้วถูกอีกขบวนชน ทางการจีนให้เหตุผลว่าเกิดจากการลด safety margin เพราะอยากทำความเร็วให้มากขึ้น ดังนั้นหากใครคิดจะเข้าร่วมก็ต้องคิดทบทวนถึงความปลอดภัยให้ดีเสียก่อน เพราะการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้มีแค่ถนนหรือราง แต่ยังรวมไปถึงระบบท่อแก๊ซ ท่อน้ำมัน โรงไฟฟ้า เขื่อน การระเบิดแก่งหินต่างๆ

  1. ประเด็นความยั่งยืนยังคลุมเครือ (Sustainability)
    OBOR เป็นเมกะโปรเจกต์ที่ใช้งบประมาณมหาศาลราว 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมี Silk Road Fund และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIP) แต่ในบางครั้งจีนใช้วิธีให้ประเทศที่เจรจาด้วยหรือทำโปรเจกต์ด้วยกู้เงิน และให้รัฐบาลของประเทศนั้นเซ็นค้ำประกัน คำถามคือใครรับผิดชอบหนี้ ใครเป็นเจ้าหนี้ ดังนั้นเมื่อมองหนี้สาธารณะของจีนต่ำ แต่ถ้าดูจากหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise) จีนมีหนี้มหาศาล แล้ว OBOR จะถือเป็นโครงการที่เลี้ยงตัวเองได้ไหม
  2. ความขัดแย้งระหว่างทาง
    ระหว่างการก่อสร้าง จีนได้สร้างความขัดแย้งกับคนในพื้นที่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากจีนไม่ใช่มูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ทำเพื่อธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเอง จีนต้องการระบายเหล็ก ซีเมนต์ และคนในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลอื่นกู้เงินจีน รัฐบาลนั้นเป็นผู้ค้ำประกัน เอาเงินกู้ไปซื้อ know-how เทคโนโลยีจีน และคนจีนมาทำงาน ถ้ามองในแง่ธุรกิจก็ต้องทำแบบนั้น แต่ในฐานะที่เป็นประเทศเจ้าบ้าน เรารับได้แค่ไหน

     ภายในประเทศจีนเองก็มีประเด็นท้าทายที่ทุ่มเงินพัฒนาซินเจียง จนตอนนี้ซินเจียงรวยอยู่มณฑลเดียว ผิดกับ 15 มณฑลโดยรอบ ซึ่งจนพอๆ กันในอดีต เพราะจีนใช้โมเดลนี้ตลอด ใครมีปัญหาก็สร้างเส้นทาง สร้างรถไฟเข้าไป ให้ทุนการศึกษา ให้การจ้างงานเต็มที่ รวยแล้วไม่บ่น ดังนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดความแตกต่างในประเทศมากๆ คนจีนจะยอมรับโปรเจกต์นี้ได้หรือเปล่า เพราะคนจีนทำงานก็เสียภาษีให้รัฐบาลจีน แต่เอาเงินไปลงทุนแต่ซินเจียง

     ยังมีประเด็นทางตอนใต้อีกหนึ่งเส้นที่ทางลากผ่านบริเวณกรณีพิพาทของจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย นั่นคือทะเลจีนใต้

     หรือที่จีนต่อต้านขีปนาวุธของเกาหลีใต้ โดยกดดันไม่ให้เอเจนซีท่องเที่ยวขายทัวร์เที่ยวเกาหลี ผลคือไม่มีคนจีนเลยในเมียงดงเลย

     คำถามคือ OBOR ตอบโจทย์ว่าสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการมากสุดคือ ‘พื้นฐาน’ และจีนก็พร้อมจะให้ คำถามคือมันมาพร้อมแพ็กเกจเหล่านี้ เราพร้อมรับมากน้อยแค่ไหน

 

 

5 ข้อสังเกตจากมุมกฎหมาย – แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงจากนโยบาย

     อาร์ม ตั้งนิรันดร เกริ่นว่า กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างและภายในประเทศใดๆ เป็นสิ่งสะท้อนมาจากมิติอื่นๆ ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง

     “ดังนั้นในส่วนของผม ผมตั้งข้อสังเกต 5 ข้อต่อนโยบาย One Belt One Road ในมิติต่างๆ ก่อน แล้วจะอธิบายว่ากฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไหม และอย่างไร”

  1.  จีนพยายามโปรโมตและส่งออกโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง

     ในสมัยเติ้งเสี่ยวผิง ช่วงพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เคยทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีโตต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20-30 ปี

     อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือจีนขับเคลื่อนการลงทุนโดยรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้จีดีพีโต แม้ว่าจีนจะให้เหตุผลว่าโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสร้างเมืองซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาเศรษฐกิจก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็เพราะว่าจีนต้องการให้คนกระจุกตัวในเมืองเพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรม ลดภาคชนบทและการเกษตร โดยมุ่งพัฒนาเฉพาะเศรษฐกิจภายในเมือง

 

  1. โครงการนี้ตอบโจทย์ภายในของจีนเอง
    จีนบอกว่าเป็นวิน-วิน คำถามที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนคือจีน ‘วิน’ หรือได้เปรียบทางด้านใดบ้าง

     หนึ่ง ซินเจียงมีพื้นที่ใหญ่มาก และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับ 6-7 ประเทศ แน่นอนว่ามีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ซึ่งจีนได้อัดฉีดเงินพัฒนาเศรษฐกิจของซินเจียงเพื่อเชื่อมกับเอเชียกลาง

     สอง เสฉวนเป็นมณฑลตอนในของประเทศ ไม่มีทางออกทะเล ยุทธศาสตร์ชายแดนจีน

     สาม เรื่อง Over-capacity เพราะจีนผลิตเกินตัว นอกจากนั้นเป็นเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาล และเรื่องความมั่นคง กรณีทะเลจีนใต้ ตอนนี้ยุทธศาสตร์ Maritime Silk Road เล่นบทรุกในทะเลจีนใต้มากขึ้น
สรุปว่าเรื่องภายในของจีน -วิน

  1. จีนเป็นชาติพ่อค้า คิดในลักษณะพ่อค้า

     จีนยังยึดหลักเกณฑ์ตามกลไกตลาดในแบบฉบับของตนเองว่า “ถ้าเจ๊ง ไม่ทำ ไม่ได้กำไร ไม่ทำ” ซึ่งส่งผลให้การเจรจารถไฟไทย-จีนล่าช้ายาวนานกว่าจะเริ่มเดินหน้าโครงการ นอกจากนี้จีนยังตั้งองค์กรระหว่างประเทศ New Development Bank ขึ้นเพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้กล่าวอ้างว่าจีนต้องการให้มีกลไกประเมินความคุ้มของโครงการเท่านั้น

  1. สร้างบทบาทเชิงรุกระหว่างประเทศ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ว่าจีนแข็งแรงคนเดียว รอบข้างต้องแข็งแรงด้วย ทุกคนจึงจะได้ประโยชน์ร่วมกัน
  2. Silk Road มีมิติหลากหลาย แม้ว่าประเด็นการลงทุนจะดึงความสนใจจากหลายประเทศได้อยู่หมัด แต่การลงทุนก็มีการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในอนาคตจะมีนโยบายการพัฒนา Smart Silk Road กับ Green Silk Road ที่พ่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ซึ่งจะทำให้จีนได้ส่งออกแนวคิดและวัฒนธรรม ผ่านทุนการศึกษาในอนาคต 

 

ให้ความสำคัญกับกฎหมาย ศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง

     อาร์มกล่าวว่า ไทยควรจะเตรียมความพร้อมรับมือกับความขัดแย้ง การอพยพ และปัญหาการบริหารจัดการรถไฟ

     ประเด็นใบประกอบอาชีพวิศวะ-สถาปัตย์มีปัญหาเยอะมาก จึงต้องคิดทบทวนพิจารณาโดยละเอียด ตลอดจนคำนึงถึงด้าน Soft Infrastructure ควบคู่ไปด้วย เช่น กฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งไทยไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าที่ควร

     “ตัวอย่างเช่น รถไฟ หาข้อมูลรถไฟไทยได้น้อยมาก แต่ข้อมูลที่หาง่ายคือรถไฟกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ บอกหมดเลยทั้งโมเดลธุรกิจ ประกาศประมูล และไม่ได้ประมูลทั้งโครงการ เรื่องสัญญาเดินรถ สัญญาก่อสร้าง เทคโนโลยี สิ่งที่ป้องกันการมโน (ของรัฐบาล) ได้คือให้ข้อมูลรอบด้าน ทำไมเราไม่มีเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์บอกข้อมูล ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย

     “ผมมองว่าเป็นการสร้างความเชื่อมโยง การค้า โอกาสมหาศาล ขยายคน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามองที่ชายแดน ที่ดิน ก็มีนอมินีจีนซื้อที่ดินในไทย เรือกสวนไร่นาก็ให้คนจีนเช่า เศรษฐกิจรันโดยคนจีน ต้องคุยว่าเราจะออกกฎหมายอย่างไร ร่วมทุนอย่างไร

     ประเด็นสุดท้าย ม. 44 แก้ปัญหาเรื่องใบประกอบอาชีพวิศวะ-สถาปัตย์ มีวิธีอื่นแก้ได้ คือตั้งบริษัทที่มีคนไทยกับคนจีน จะมีเรื่องที่คนกังวลคือมาตรฐาน เขาไม่สอบ แล้วจะรู้มาตรฐานได้อย่างไร และเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยี รัฐบาลหารือกับทั้งสองสมาคม เรื่องที่กังวลมากกว่าคือเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าดูภาษาจะเห็นว่ามันเขียนได้รัดกุมกว่านี้ ตอนนี้มันเหมือนไม่ต้องผ่านจัดซื้อ สามารถใช้ธรรมาภิบาลได้” อาร์มกล่าว

     นโยบายของจีนในรอบนี้นั้นครอบคลุมไปค่อนโลก เราอาจคิดว่ามันเป็นนโยบายที่ไกลตัว หรือเป็นเรื่องของกลไกอำนาจที่คนธรรมดายากจะมีส่วนร่วม แต่เมื่อมันเกิดขึ้น แน่นอนว่ามันจะกระทบกับเราในทางใดทางหนึ่ง ดังที่นักวิชาการเหล่านี้เตือนว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือบรรษัทขนาดใหญ่ก็ต้องเตรียมตัวด้านข้อมูลให้พร้อม มิฉะนั้นเราอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกทาง

 

อ้างอิง:

FYI

 

เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 แยกมาเป็น 6 ระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่
1. เส้นทางยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge) เริ่มต้นจากพื้นที่ของจีนที่มีปัญหาแบ่งแยกดินแดน นั่นคืออุยกูร์ ซินเจียง ลากยาวถึงรัสเซีย

  1. จีน-มองโกเลีย-รัสเซีย (China Mongolia Corridor)
  2. จีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก (China-Central and West Asia Corridor) เพื่อให้บรรจบกับจีนที่ลงทุนรถไฟกับตุรกี
  3. จีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Corridor) จีน อินโดไชน่า ลงมาที่ไทย เป็นโปรเจกต์ที่พูดตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิง
  4. บังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า (Bangladesh-China-India-Myanmar) ด้วยความที่จีนกลัวความเสี่ยงจากข้อพิพาททะเลจีนใต้ ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดตอนนี้ที่รัฐยะไข่ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน มีท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางลำเลียงน้ำมัน
  5. จีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Corridor) ระเบียงนี้ทำให้อินเดียไม่ไปจีน คือจีนต้องการลงมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ พัฒนาระบบกระดูกสันหลังทั้งปากีสถาน

ส่วนอีกหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจทางทะเลคือ เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road)

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X