ณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ให้ข้อมูลว่าทาง สศอ. ได้เร่งรัดให้มีการบังคับใช้มาตรฐานการระบายสารมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ให้เร็วยิ่งขึ้น หลังเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการสะสมของรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 กว่า 10 ล้านคันในระบบขณะนี้ ซึ่งปล่อยฝุ่นควันจำนวนมาก
หากเปรียบเทียบมูลค่าหน้ากาก N95 ที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อป้องกันฝุ่นควันจะสูงถึง 18,250 บาทต่อปีต่อคน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องกรองอากาศและแผ่นกรองอากาศที่ตอนนี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดย สศอ. จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 เป็นขั้นต่ำภายใน 1-2 ปี หรือเริ่มผลิตมาตรฐานยูโร 5 ทุกคันในปี 2561 ที่ผ่านมา และกำหนดให้โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 ด้วย
ณัฐพลคาดว่าการยกระดับมาตรฐานตามสหภาพยุโรปจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เกือบ 3.8 หมื่นตัน หรือลดลงจากเดิมประมาณ 80% ภายในปี 2564 ซึ่งแนวทางเร่งรัดคือการประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการออกมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ค่ายรถต้องดำเนินการ
ที่ผ่านมาค่ายรถต่างก็รับทราบนโยบายจากภาครัฐในการสนับสนุนรถยนต์ยูโร 5 มาตลอด แต่บางค่ายชี้แจงว่ามีต้นทุนการดำเนินการต่อคันหลักหมื่นบาท จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ สศอ. ประเมินว่าตัวเลขต้นทุนจริงน่าจะน้อยกว่าที่ได้รับแจ้ง ประกอบกับปัจจุบันมีการลงทุนในรถยนต์รุ่นใหม่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะใช้มาตรฐานยูโร 5 กับรถยนต์ทุกรุ่นได้ นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายให้โรงกลั่นทั่วประเทศผลิตน้ำมันยูโร 5 ด้วย เมื่อทุกองค์ประกอบพร้อม การผลิตรถยนต์ยูโร 5 จึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: กระทรวงอุตสาหกรรม