สำหรับคนดนตรี ถ้าแนะนำว่า ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เป็น ‘ตำนานที่ยังมีชีวิต’ ก็คงไม่ผิด
ย้อนกลับไปสู่แวดวงดนตรียุค 80s ธเนศเริ่มโด่งดังจากอาชีพนักจัดรายการวิทยุทาง ‘ไนท์สปอต’ เน้นเปิดเพลงสากลที่เรียกได้ว่าโดดเด่นและทันสมัยที่สุด ต่อมาเมื่อผลงานเพลงอัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ ออกมาในปี 2528 ชื่อเสียงของธเนศก็ยิ่งโด่งดัง อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาได้รับการตอบรับทั้งในแง่คำวิจารณ์และความนิยมจากคนฟังเพลง
กาลเวลาก้าวข้ามมาถึงยุค 90s ในช่วงที่วงการดนตรีเข้าสู่ยุคอัลเทอร์เนทีฟ วงดนตรีและค่ายเพลงอินดี้เกิดขึ้นมากมาย ธเนศสร้างค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อมิวสิค บั๊กส์ (Music Bugs) และปลุกปั้นวงดนตรีหน้าใหม่ที่ต่อมากลายเป็นไอคอนของวงการเพลงไทย อาทิ ลาบานูน, บิ๊กแอส, บอดี้สแลม ฯลฯ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหันหลังให้กับวงการไปแบบเงียบๆ หลังจากให้กำเนิดลูกชาย… ซึ่งจะว่าไปก็เป็นช่วงเดียวกับที่วงการเพลงเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคาสเซตต์เทป สู่ยุค MP3 แผ่นผี และดาวน์โหลด
แต่ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องเก่าในอดีต โอเคล่ะ ใช่ว่าอดีตจะไม่สำคัญ แต่ปัจจุบันย่อมสำคัญที่สุด
ในปีนี้เขามีหนังใหม่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกันถึงสองเรื่องคือ ป๊อปอาย มายเฟรนด์ และ ฉลาดเกมส์โกง ซึ่งการแสดงของธเนศจากทั้งสองเรื่องล้วนแต่ได้รับการคำวิจารณ์ที่ดี
แน่นอนว่า THE STANDARD ประทับใจการแสดงของธเนศมาก แต่คำถามที่คิดว่าน่าสนใจและชวนให้คิดต่อคือ… การแสดงที่ดีนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของนักแสดงมากน้อยสักแค่ไหน
บทบาท ‘พ่อของลิน’ น่าประทับใจ เรารู้แล้ว ว่าแต่ชีวิตจริงธเนศเป็นพ่อแบบไหน เขาเลี้ยงลูกยังไง ส่วนกับบทบาท ‘ธนา’ ใน ป๊อปอายฯ ที่เล่าถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่คนยุคเก่าต้องเผชิญและเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งจะว่าไปก็ใกล้เคียงกับผู้ชายวัยใกล้ 60 อย่างเขาในบางแง่บางมุม
…ว่ากันว่าดูหนังดูละครแล้วให้ย้อนดูตัวเอง เฉกเช่นกันกับแฟนหนังของเขาอย่าง THE STANDARD การได้ย้อนกลับมาคุยกับธเนศอีกครั้งหลังจากดูหนังจบ มันก็เหมือนได้นั่งดู behind the scene ท้ายเครดิตที่นักแสดงคนโปรดมานั่งเล่าเบื้องหลังชีวิตที่ตกตะกอนแล้วของตัวเองให้ฟัง ซึ่งบอกเลยว่าทั้งสนุก น่าสนใจ และมีประโยชน์อย่างมาก
ปีนี้คุณกลับมามีงานแสดงภาพยนตร์ถึงสองเรื่องคือ ป๊อปอาย มายเฟรนด์ และ ฉลาดเกมส์โกง นอกจากเข้าฉายในเวลาใกล้เคียงกัน การแสดงของคุณทั้งสองเรื่องยังได้รับฟีดแบ็กจากคนดูและนักวิจารณ์ที่ดีมาก หลังจากห่างจากงานแสดงไปนาน ทำไมคุณถึงตัดสินใจกลับมารับงานแสดงอีกครั้ง และบททั้งสองเรื่องมันเชื่อมโยงกับคุณในแง่ไหนบ้าง
มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราสนใจอยู่ เราสนใจเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องนามธรรม แล้วโดยแบ็กกราวด์มันก็เทียบเคียงกันได้ไม่ยาก อย่างตัวละครในเรื่อง ป๊อปอาย มายเฟรนด์ ที่ชื่อว่า ‘ธนา’ ก็อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด ตั้งใจเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือตามความเชื่อของสังคมไทยทั่วไปว่าต้องเข้าสู่เมืองใหญ่ เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี จะได้มีหน้าที่การงานที่ดี แล้วพอโตขึ้นชีวิตของธนาก็ประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียง มีเมียที่สวย มีบ้านหลังใหญ่ อยู่กันมาอย่างร่ำรวย แต่พอถึงวันหนึ่งที่อายุมากขึ้นก็มีเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน ความสัมพันธ์กับเมียที่รักกันดีก็จืดจาง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้รักกันนะ ประเด็นของหนังเรื่องนี้คือธนาเขารับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ผมเองก็เป็นคนต่างจังหวัด เข้ามากรุงเทพฯ ช่วง ป.6 อายุน่าจะประมาณ 12 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงพลิกผันเปลี่ยนผ่านในชีวิตเราเหมือนกัน เพราะมาเข้าโรงเรียนใหม่แบบกลางเทอมคนเดียว ไม่รู้จักใคร
จากเด็กต่างจังหวัดที่เคยวิ่งอยู่ตามร่องสวน คลุกโคลน จับปลา จับปู กระโดดลงคลอง คือทำเรื่องหวาดเสียวเยอะแยะ อยู่ที่โน่นไม่กลัว แต่พอเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กลายเป็นว่าเรากลัว เราเลยกลายเป็นเด็กอีกแบบ จากเด็กต่างจังหวัดกลายเป็นเด็กกรุงเทพฯ …แต่ความรู้สึกก็ไม่ใช่เด็กกรุงเทพฯ อีกนะ เพราะก็ไม่ค่อยได้ไปไหน อยู่แต่ในสวนย่านฝั่งธนฯ สุดท้ายกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ อะไรก็ไม่รู้
แต่ข้อดีคือมันก็ได้รับโอกาสอื่นๆ มากมาย เราไม่รู้ว่าถ้าไม่ได้ย้ายมากรุงเทพฯ เราจะได้มาทำงานตรงนี้หรือเปล่า ทั้งการเป็นดีเจที่ไนท์สปอต ได้มาเล่นละครเวที ได้เล่นหนัง ได้ออกอัลบั้มเพลง ฯลฯ อีกอย่าง เรามาสังเกตทีหลังนะว่าบุคลิกที่เป็นอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน
ส่วนที่ถามว่าชีวิตเชื่อมโยงกับตัวละครยังไง คือรู้สึกว่าเรามีประสบการณ์ไม่ต่างกัน เพียงแต่เราไม่ได้เจอวิกฤตที่หนักหนาสาหัสแบบเขา แต่คิดว่าแค่มีประสบการณ์ร่วมบางอย่างก็สามารถจะใช้จินตนาการเพื่อสื่อสารออกไปได้ และคิดว่าเข้าใจตัวละครตัวนี้พอสมควร เราเลยรับเล่น
ถ้าอย่างนั้นตัวละคร ‘อ. ประวิทย์’ (พ่อของลิน) ใน ฉลาดเกมส์โกง เชื่อมโยงกับคุณในแง่ไหนบ้าง
เราเล่น ฉลาดเกมส์โกง เป็นเรื่องที่สอง หลังจากถ่าย ป๊อปอายฯ ผ่านไปเกือบปี ทีมงาน ฉลาดเกมส์โกง ก็โทรมา เราได้คุยกับทั้งบาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับ คุยกับโปรดิวเซอร์ คุยกับฝ่ายแคสติ้ง คุยกับแอ็คติ้งโค้ช ซึ่งทุกคนก็สนใจอยากให้เล่น เราบอกเขากลับไปว่าต้องขอดูบทหน่อย ตอนแรกทีมงานให้บทมาเฉพาะในส่วนของเรา แต่อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ เลยบอกเขาว่าขอเข้าใจทั้งหมดได้ไหม คุยกันอยู่ตั้งนาน เพราะบทภาพยนตร์มันเป็นความลับ ถ้าอย่างนั้นเรายินดีที่จะเซ็นสัญญาให้ว่าจะเก็บเป็นความลับ แต่ขออ่านหน่อยเถอะ
เราบอกเขาไปตามความจริงว่าอาจจะเล่นไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่นักแสดงอาชีพ แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถอะไรมากมาย แต่เราใช้วิธีธรรมชาติ คือทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นๆ ฉะนั้นถ้าเมื่อไรก็ตามที่เข้าใจแล้ว เราก็จะเป็นสิ่งนั้นไปเลย พอบอกไปแบบนี้เขาถึงได้ยอมให้อ่านบท
พอได้อ่านบทแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ อ่านจนกระทั่งถึงประโยคสุดท้ายเราก็บอกกับตัวเองว่าต้องเล่นเรื่องนี้ เพราะมันเป็นบทที่ดี และรู้สึกว่าประเทศไทยควรพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ผมหมายถึงเรื่องของการโกง เราน่าจะใช้โอกาสนี้ เป็นส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์บ้างออกไปสู่ผู้คน
ที่พูดไปเมื่อกี้คือบทหนังโดยรวม ส่วนบทที่เราต้องเล่นเป็น ‘พ่อ’ ซึ่งถ้าในบทที่อ่าน เขาเป็นพ่อที่บอกลูกว่า “ลูกต้องเป็นคนดีนะ อย่าโกงใครนะลูก มันบาปกรรมนะ” แบบนั้นเราก็คงไม่เล่น (หัวเราะ) แต่ตัวละครนี้มันดันเป็นพ่อที่ไม่ได้บอกอะไรกับลูกมากมาย แต่เขาทำให้ลูกเห็นเอง แล้วไม่ได้ตั้งใจทำอย่างเท่ๆ เพราะตัวพ่อเขาก็มีความไม่ได้เรื่องอยู่พอสมควร ไม่ได้เป็นพ่อที่ดีเลิศประเสริฐศรี ซึ่งดีแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือสุดท้ายแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนเป็นพ่อก็รับได้ เข้าใจ และให้โอกาสลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจ
พอหนังฉาย ฟีดแบ็กออกมาดี คำวิจารณ์ออกมาดี เราเริ่มสังเกตว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วมันก็ได้คำตอบบางอย่างกลับมาว่านี่คือพ่อในฝัน เป็นพ่อในอุดมคติ เรารู้สึกนะว่ามันเป็นพ่อตัวอย่างของคนส่วนใหญ่ในวันนี้ด้วยซ้ำ นั่นแปลว่าคนไทยยังต้องการคนแบบนี้ และประเทศเรายังขาดคนแบบนี้อยู่ คนที่ไม่ใช่คนดีเด่อะไรมากมาย ไม่ได้รวย งานการก็ไม่ได้ดีอะไร เขาเป็นครูชั้นผู้น้อย เงินเดือนเท่าไรก็ไม่รู้ มีรถเก่าๆ บ้านเก่าๆ เสื้อผ้ายับๆ ถึงมีเปียโนก็เป็นเปียโนเก่าๆ ทุกอย่างเก่า เมียก็ทิ้งไปแล้ว พูดกับลูกสาวก็ไม่ใช่จะพูดว่า “ลูกจ๊ะ ลูกจ๋า” …ทะเลาะกับลูกก็มี แต่เมื่อลูกเกิดปัญหา เขาก็พร้อมจะอยู่ข้างๆ ลูก ไม่ซ้ำเติมลูก ให้อภัย เข้าใจ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน แค่นี้แหละ! คนเป็นพ่อเป็นแม่ทำแค่นี้ก็พอแล้ว บางทีเราดันไปทำกันเยอะกว่านั้น คิดว่าเยอะๆ แล้วจะดี สุดท้ายมันทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย พ่อในเรื่องนี้มันมีดีเทลหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราสนใจ
ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ในชีวิตจริงล่ะ สอนลูกตัวเองอย่างไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากตัวละครในหนังขนาดไหน
ระหว่างเรากับลูกมันยังไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงใหญ่โตอะไรเกิดขึ้นนะ เราก็เลยไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่โดยพื้นฐาน เรามีความตั้งใจอยู่แล้วที่จะเลี้ยงลูกไปในแนวทางนี้
ในหนัง ฉลาดเกมส์โกง จะเห็นว่าพ่อปล่อยลูกเยอะเลย ลูกสาวก็หน้าตาดี เรียนเก่ง แต่อาจเป็นเพราะว่าลูกฉลาด พ่อก็เลยมั่นใจว่าลูกสาวไม่โง่แน่นอน คงไม่มีทางโดนผู้ชายหลอก ผู้ชายต่างหากที่น่าจะโดนลูกสาวเราหลอกด้วยซ้ำไป
แต่กับลูกเราเองที่เป็นผู้ชาย เราปล่อยเขานะ อย่างเช่นลูกขอไปนอนบ้านเพื่อน ซึ่งตอนนั้นมันอายุสิบกว่าขวบเท่านั้นเอง เราก็ให้ไปเลยนะ แต่แค่ถามเฉยๆ ว่าไปนอนบ้านใคร มีใครไปบ้าง เรารู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกอยู่แล้ว เราก็เลยต่างคนต่างฝากฝังกัน แต่เราก็จะถามจนให้เป็นนิสัย เขาก็จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องประหลาดอะไรที่พ่อจะถาม และเขาก็จะเล่าให้ฟังจนเป็นนิสัยเหมือนกัน
เด็กเนี่ย เมื่อถึงวัยหนึ่งเขาก็จะเริ่มอยากรู้ อยากทดลอง มีวันหนึ่งเขาก็มาเล่าให้ฟังว่าเพื่อนไปถนนข้าวสารแล้วโดนอาจารย์จับได้ โดนเรียกผู้ปกครอง ผมก็ถามว่าแล้วลูกไม่ไปกับเขาด้วยเหรอ เขาบอกว่า “ไม่เอา ยังไม่อยากไป”
จนกระทั่งวันหนึ่งลูกชายก็มาเล่าให้ฟังอีกว่าเขาไปมาแล้ว เราถามเขาว่าแล้วเป็นยังไงบ้าง ดื่มอะไรหรือเปล่า เขาบอกว่าดื่มเบียร์ ดื่มไปแก้วนึง แต่ไม่หมด เราก็ถามว่าเป็นยังไงมั่ง เขาก็ตอบว่ามันร้อนๆ เราก็เลยบอกเขาไปว่าดื่มไปเถอะ ตอนดื่มก็สังเกตตัวเองด้วยแล้วกันว่าดื่มแล้วเป็นยังไง ข้อสำคัญคือถ้าดื่มแล้วสังเกตว่าเริ่มคอนโทรลตัวเองไม่ได้ ลูกต้องหยุด
แต่ก่อนหน้านั้น ความจริงเราให้เขาดื่มที่บ้านอยู่แล้วนะ ชวนครั้งแรกตอน 7-8 ขวบ ตอนนั้นชวนแล้วเขาก็ไม่เอาอยู่หลายปีเหมือนกัน จนวันหนึ่งชวนแล้วเขาก็ลอง แต่ลองแค่จิบเดียว (หัวเราะ)
ทำไมคุณถึงชวนลูกดื่ม
ทำไมจะไม่ชวนล่ะ เพราะยังไงมันก็ต้องไปลองอยู่แล้ว อย่างนั้นก็ลองกับเราซะเลย เป็นประสบการณ์แรกกับพ่อแม่ กินเหล้าครั้งแรกกับพ่อ ดูดบุหรี่ครั้งแรกกับพ่อ เราจะได้สังเกตด้วยว่าเขาลองแล้วเป็นยังไง
คิดว่าวันนี้เป็นพ่อที่ลูกชายคุยได้ทุกเรื่องไหม
ทุกเรื่อง เรายังเคยคุยกันเลย เฮ้ย หมอยขึ้นหรือยัง (หัวเราะ) ถ้าขึ้นแล้วให้พ่อดูนะ ไหนเปิดให้ดูหน่อยซิ
แล้วเรื่องผู้หญิงล่ะ มาเล่าให้ฟังบ้างไหม
จะเหลือเหรอ ชักว่าวเป็นหรือยังเรายังถามทุกวันเลย
ลูกชายไม่เขินเหรอ
มันเขินอยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้มันไม่เขินน่ะ ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติ นี่เดี๋ยวไปจูบใครเมื่อไรต้องมาเล่าให้พ่อฟังนะ เราอยากคุยกับเขาหมด แต่ถึงเวลาเขาก็ไม่คุยกับเราหมดหรอก เอาเป็นว่าเขาอยากคุยด้วยแค่ไหนก็เรื่องของเขา เราแค่โอเพ่นให้เขาเห็นว่าถ้าคุยกับพ่อก็คุยได้ทุกเรื่อง
แต่เขามาบอกเราอยู่เรื่อยแหละว่าเพื่อนๆ ชมตลอดว่าคุณพ่อเท่มากเลย เป็นคุณพ่อที่สุดยอด พอเราได้ยินก็รู้สึกว่า แค่นี้ก็โอเคแล้วนะที่เขาภูมิใจในความเป็นพ่อของเรา แล้วสามารถโชว์เพื่อนได้ เพราะเพื่อนหลายคนบอกว่าพ่อเขาไม่ได้เป็นแบบนี้ แค่นี้พอแล้ว ที่เหลือมันแทบไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว
สำหรับคนเป็นพ่อ แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
สำหรับเราก็แค่นี้แหละ แม้ว่าต่อไปชีวิตเขาอาจจะเรียนไม่จบ หรือจบแล้วไปทำงานอะไรต่อก็ไม่รู้ ไม่แน่อาจจะไม่มีงานทำ ไม่มีเมีย ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีความเชื่อ ถ้าเรารู้ว่า ณ วันนี้เขาอยู่บนเส้นทางที่ดี มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีความสุข มีความมั่นใจในสิ่งที่ดีงาม ไม่มีปมอะไรในใจ ยังไงชีวิตข้างหน้าก็ดี อย่างน้อยคือดีสำหรับตัวเขาแน่นอน เพราะเราให้อิสระที่เขาเลือกชีวิตตัวเอง ให้โอกาสทดลองว่าอะไรดีหรือไม่ดี สำคัญที่สุดคือต้องมีความสุขอยู่บนทางที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น
เราให้หลักกว้างๆ ไว้เฉยๆ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เราไม่สอน เพราะรู้ว่าสอนยังไงก็ใช้ไม่ได้ว่ะ คือสิ่งที่สอนมันคือสิ่งที่เราเคยมีประสบการณ์ เคยเรียนรู้มาในวัยของเรา ซึ่งสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เราคิดจะสอนมันอาจจะเหมาะกับสังคมในวันนั้น แต่วันนี้มันอาจจะไม่เหมาะแล้วก็ได้ ฉะนั้นให้เขาตัดสินใจชีวิตตัวเองดีกว่า
แต่สิ่งที่มันไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่ายุคไหน… มันอาจจะเป็นคำเชยๆ หน่อยนะ แต่เราเน้นที่จะให้เขามีสิ่งนี้ นั่นคือคุณธรรม ความดีงาม การเป็นคนที่สามารถอยู่กับคนอื่นได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อน เราถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่เคยพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลยนะ
หมายถึงไม่ต้องบอกหรอกว่าเวลาไหนควรทำยังไง แต่เป็นเรื่องของ common sense ที่ถึงเวลาจะรู้เอง
คือเราอยากให้เขาดูแลตัวเองให้ได้ก่อน เขาจะได้ไม่ไปเป็นปัญหาสำหรับคนอื่น มันก็กลับไปสู่เรื่องที่เราต้องสังเกตตัวเองว่าเราชอบอะไรและไม่ชอบอะไร และเราทำอะไรได้แค่ไหน ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เราอาจจะพูดมุมโน้นที มุมนี้ที บอกแบบโน้นหน่อย แบบนี้หน่อย แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่สถานการณ์หรือสิ่งที่เขาต้องเผชิญในแต่ละวันอาจจะไม่เหมือนกัน
ชื่อเสียงของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ มักมาพร้อมคำชมว่าเป็นศิลปินเพลงหัวก้าวหน้าที่ตอนนี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งพอพักงานเพลงและงานบริหารค่ายเพลงมาเลี้ยงลูก ตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองเป็นพ่อที่ทันสมัยด้วยไหม
ถ้าตอบเร็วๆ เราจะบอกว่าทันสมัย แต่ว่ามันไม่จริง ถ้าค่อยๆ ตอบจะบอกว่าเราตั้งจิตตั้งใจไว้ว่าเราพร้อมที่จะเรียนรู้จากลูก ไม่ว่าลูกจะสนใจเรื่องอะไร เราจะสนใจสิ่งนั้นกับลูกด้วย แต่กระนั้นเนี่ย ด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ หรืออะไรต่างๆ นานา มันไม่มีทางที่เราจะสนใจเหมือนเขาได้ทุกเรื่อง ฉะนั้นถึงแม้ตั้งใจเลยว่าจะทันสมัย ยังไงก็ตามไม่ทันลูกหรอก
เราเนี่ยนะยังแอบเสียดาย ขนาดว่าตั้งใจอย่างนี้ เรายังมีเวลาเล่นกับลูกน้อยไปหน่อย เพราะตอนที่เขาหัดเล่นเกมใหม่ๆ คนที่เขาอยากเล่นเกมด้วยอย่างมากคือเรานะ แต่เราก็สนใจเล่นด้วยได้ประมาณหนึ่ง แต่มันก็ไม่ทันลูก พอเล่นด้วยแล้วก็ไม่สนุก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนละวัย แต่อย่างน้อยเขามีประสบการณ์แล้วว่าถ้าเมื่อไรเอาสิ่งที่ตัวเองสนใจมาแนะนำคุณพ่อ คุณพ่อจะให้ความสนใจทันที ถึงแม้จะได้แค่ไหนมันก็แค่นั้นแหละ ฉะนั้นทุกวันนี้ถ้าเขาเจอสิ่งใหม่ๆ เจออะไรที่น่าสนใจ เขาจะมาบอกเรา ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญ มันไม่ได้หมายความว่าต้องทันสมัย หรือทันลูกได้ทุกอย่าง
นอกจากเรื่องเลี้ยงลูก เรื่องอย่างอื่นล่ะ ในวัยแบบนี้คุณว่าตัวเองยังทันยุค ทันสมัยอยู่ไหม
ความจริงเราไม่เคยรู้สึกเลยนะว่าเราวัยไหน ทั้งๆ ที่เรากำลังจะ 60 อยู่แล้ว คำว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขเนี่ย ถูกต้องแล้วนะ ไม่ได้จะดัดจริตพูด แต่ข้างในมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ บางคนพอตัวเลขมันเพิ่มขึ้นแล้วอาจจะรู้สึกเองว่า เฮ้ย เราแม่งแก่แล้ว ต้องพูดจาอีกแบบหนึ่ง แก่แล้วไม่ควรคุยเรื่องนี้ หรือแก่แล้วต้องแต่งตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จริงเลย เราว่าเป็นเรื่องกาละเทศะมากกว่า ไม่ว่าจะวัยไหน ถ้าอยู่ในกาละเทศะเราว่ามันทันสมัยไปเองล่ะ
ถามได้ไหมว่าอย่างวันนี้ทำไมคุณถึงเลือกเดินทางมาสัมภาษณ์ด้วยรถสาธารณะ แทนที่จะขับรถส่วนตัวมาเอง
เราไม่ชอบรถติดอยู่บนถนน ไปไหนทีแม่งต้องเผื่อเวลา 2-3 ชั่วโมง บ้าไปแล้ว เราเลิกขับรถมา 20 กว่าปีแล้ว รถจอดอยู่ที่บ้านปลูกผักได้แล้ว เราก็นั่งมอเตอร์ไซค์ ไปรถไฟฟ้า เราไม่ค่อยนั่งแท็กซี่ด้วยซ้ำ บางทีไปงานที่ไหน มีคนบอกว่า พี่ครับ เดี๋ยวผมไปส่ง เราบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวไปเอง เราไปมอเตอร์ไซค์ (หัวเราะ) เราอยากรีบถึง จะได้ไปทำอย่างอื่น ไม่อยากอยู่บนถนนนานๆ คือคิดว่าคงจะใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว ซึ่งก็สบายจะตาย ทำไมเราจะต้องไปให้สิ่งรอบข้างมันมาทำให้เราต้องไปเหนื่อยยาก ลำบากกาย ลำบากใจทำไม
ชีวิตช่วงหนึ่งของคุณมันพลิกไปอย่างรวดเร็วเหมือนกันนะครับ จากผู้บริหารค่ายเพลง อยู่ๆ ก็วางมือแล้วข่าวคราวก็เงียบหายไปเลย
ที่มันพลิกเพราะสถานการณ์ต่างๆ มันลงตัวของมันไปเอง คือเราทำงาน ตั้งบริษัทมิวสิค บั๊กส์ ออฟฟิศก็อยู่ที่บ้าน ห้องอัดอยู่ที่บ้าน ทุกอย่างอยู่ที่บ้านหมด แล้วแบบนี้เราจะไปไหน พอทำไปสักสิบกว่าปี พอเรามีลูกแล้วก็ต้องเลี้ยงลูก เลยยิ่งไม่ได้ไปไหน แต่ก็นั่นแหละ ถ้าคนเราชอบที่จะไป ถึงแม้ทุกอย่างจะอยู่ที่บ้าน มันก็ต้องออกไปอยู่ดี ชีวิตมันก็เป็นแบบนี้ล่ะ
การทำอะไรแบบนี้น่าจะต้องเตรียมตัว เตรียมแผนชีวิตล่วงหน้ามาพอสมควรนะ ทั้งเรื่องภาระ หน้าที่การงาน หรือแม้แต่เรื่องทุน เรื่องสตางค์
ใช่ ต้องเตรียม เราตั้งใจไว้แบบนั้นอยู่แล้ว เราถึงไม่ได้รีบมีลูก พอเราถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าพร้อมแล้ว เราตั้งใจเลยว่าจะไม่ทำอะไรเป็นจริงเป็นจังสัก 10 ปี ซึ่งก็ทำได้ประมาณนั้นจริงๆ
คุณเติบโตมาในโลกอีกยุคที่เทคโนโลยีด้านต่างๆ ยังไม่ทันสมัยเท่าทุกวันนี้ หมายถึงเป็นโลกที่วงการดนตรียังนิยมฟังและขายเพลงกันด้วยเทปคาสเซตต์ อัลบั้มเพลงขายกันได้เป็นล้านๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว วงการดนตรีเปลี่ยนไป วงการบันเทิงขับเคลื่อนด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณมองยังไง
เราไม่มองยังไงเลยนะ แค่มองไปตามที่มันเป็นนั่นแหละ ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย รู้สึกแค่ว่าก็โลกมันเป็นอย่างนี้ เราไม่มีปัญหากับสิ่งพวกนี้
วงการดนตรีมันก็เหมือนกับวงการอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าเรายอมรับได้กับความเปลี่ยนแปลง มันก็เดินต่อไปได้ เราจะมัวไปโหยหาในสิ่งที่มันเคยเป็น สิ่งที่มันไม่เหมือนเดิมแล้ว …มันก็ได้อยู่นะ คือนึกถึงแล้วมันก็ชุ่มชื่นใจ ครึ้มอกครึ้มใจ มีความสุข พูดถึงแล้วเฮฮา แบบนี้ดี แต่ถ้าคุยไปคุยมาแล้วเริ่มด่าทอ เริ่มบ่นว่าท้อใจ แล้วพยายามทำทุกอย่างให้เป็นแบบเดิม หรือต่อต้านสิ่งใหม่ๆ อย่างนี้ก็ไม่น่าจะดี
ทุกอย่างมันล้วนแต่มีทั้งมุมดีและไม่ดี มุมดีของเรื่องนี้คือถ้ามันไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่มีช่วงเวลาที่หวนรำลึกถึงความหลังอย่างมีความสุข อย่างที่เราเดินไปถ่ายรูปกันในเวิ้งนครเกษมวันนี้ ถ่ายรูปไปเราก็นึกถึงว่าเมื่อก่อนมันดีนะ มันก็ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ ได้ดื่มด่ำกับสิ่งที่ยังคงอยู่ เสพมันให้อิ่มหนำสำราญ ชื่นชมกับมันให้ชื่นใจ อยู่กับปัจจุบันของมันให้เต็มที่ ถึงเวลาที่มันผ่านไปแล้วเราจะได้ไม่ต้องนึกย้อนกลับมาโหยหาอีก
อยู่กับปัจจุบันของมันให้เต็มที่ เวลามันผ่านไปแล้วจะได้ไม่ต้องมาย้อนโหยหา
ถูกต้อง ตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนกับวันที่เราเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว ถ้าเรามัวแต่โหยหาอดีตจนลืมเสพวันนี้ บางคนโหยหาตั้งแต่อายุ 30… แล้วคนเราก็ไม่ได้ตายกันง่ายๆ นะ เผลอๆ อยู่กันไปอีก 20-30 ปี พอถึงอายุ 70 ยังเสือกมาโหยหาอดีตอยู่อีก อ้าว วันนั้นมึงก็อยู่นี่ แล้ววันนั้นทำไมมึงถึงไม่อยู่กับมัน ไม่เสพมันให้เต็มที่ล่ะ เผลอๆ ตายไปนะ สมมติว่าเกิดมาชาติหน้าแล้วระลึกชาติได้ คนพวกนี้ก็ยังกลับมาหวนคิดอีกว่า เออ ชาติที่แล้วแม่งดีกว่าว่ะ (หัวเราะ) ก็ต้องวนกลับไปบอกว่าแล้วทำไมชาติที่แล้วมึงไม่อยู่กับมันให้เต็มที่ล่ะ
สุดท้ายแล้วนะ อะไรจะเปลี่ยนก็ให้มันเปลี่ยนไปเถอะ ส่วนตัวเราเนี่ย ไม่ต้องเปลี่ยนตามก็ได้ แค่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง พอเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เราก็อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีอย่างมีความสุข
แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้นะ
ที่พูดนี่ก็ไม่ใช่ว่าทำได้ทั้งหมดนะ เพียงแต่เราจับหลักนี้ไว้ หลักง่ายๆ ว่าแม่งไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยงกับมึงตลอดไป ตัวมึงยังอายุ 17 เหมือนเดิมไม่ได้เลย แล้วจะให้ทำยังไงล่ะ ตัวมึงยังเปลี่ยนทุกวัน แล้วยังมาบอกว่าโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนอื่นเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย แล้วมึงไม่เปลี่ยนเหรอ (หัวเราะ) ฉะนั้นถ้ามัวแต่คิดว่าตัวเองจะไม่เปลี่ยน มันก็จะอยู่ลำบากแล้ว หลักนี้ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการเพลง