ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในประเทศไทยปี 2559-2561 และเผยแผนที่แสดงความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากภาพถ่ายดาวเทียมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา พบว่า ในปี 2561 พื้นที่เมือง 10 อันดับที่เผชิญกับมลพิษ PM2.5 คือ 1. ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2. ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 3. ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 4. ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 5. ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 6. ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 7. ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 8. ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 9. ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ 10. ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 19-68 วัน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรมากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี แสดงว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน หากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่เหมาะสม จะส่งผลต่อวิกฤตด้านสาธารณสุขให้ขยายวงกว้างมากขึ้น
การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งที่รุนแรงยาวนานที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 นำไปสู่การสะสมจุดความร้อน (Hotspot) ทำให้เกิดการเผาในที่โล่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน และกระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา
ทางกรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน haze-free 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกร่างมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่ได้ที่ www.greenpeace.or.th/right-to-clean-air
หมายเหตุ: สืบเนื่องจากหัวข้อดังกล่าวของสำนักข่าว THE STANDARD ที่นำเสนอเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ใช้ภาพประกอบเป็นภาพถ่ายดาวเทียมปี 2559
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้น มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของกรีนพีซ
อาจทำให้ผู้อ่านบางส่วนเข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
กองบรรณาธิการขอน้อมรับความผิดพลาดดังกล่าวและกราบขออภัยมา ณ ที่นี้
THE STANDARD ขอย้ำจุดยืนสำคัญที่จะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นกลาง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Satellite-derived-PM25-Mapping-Report