ในทุกๆ วันที่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน มีปัญหามากมายที่พร้อมเข้ามาทักทายคนกรุงเทพฯ แบบไม่ทันได้ตั้งตัว หลายเรื่องเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนกลายเป็นความเคยชิน ความหวังในการแก้ปัญหาแลดูริบหรี่ เมื่อผู้คนต้องจำทนใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาเหล่านั้นโดยไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้จากตรงไหน
แต่ถึงอย่างนั้นคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่หมดความหวังไปทั้งหมด เมื่อยังเหลืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหา และยังไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ นั่นคือ ‘งานดีไซน์’
ในงาน Bangkok Design Week 2019 ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (TCDC เดิม) นอกจากจะเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมายให้คนกรุงเทพฯ ได้เต็มอิ่มกับการเสพรับความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง Showcase & Exhibition, Talk & Workshop, Creative District, Event & Program และ Creative Market ที่อัดแน่นตลอด 9 วัน 9 คืนแล้ว
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคือ การนำเสนองานดีไซน์เพื่อใช้แก้ปัญหา หรือ Design Solutions ที่สร้างสรรค์โดย SC Asset ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Showcase & Exhibition โดยทำการนำเสนอแนวคิดงานออกแบบที่จะส่งเสริมให้กรุงเทพเป็นเมืองเดินได้ โดยใช้พื้นที่ย่านเจริญกรุงเป็นต้นแบบ และ SC Asset จะนำไปต่อยอดงานออกแบบที่ใช้จริงในโครงการบ้านของ SC Asset ภายใต้แนวคิด ‘Streetscape’ เพื่อทำให้พื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้าและป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่
Wishbox กล่องรับฟังความคิดเห็นเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
นอกจากโชว์เคสต่างๆ แล้ว หากมีโอกาสแวะไปที่บูธของ SC Asset ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอแนะปัญหาคาใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลไว้ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ในอนาคต
นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมชมบูธยังได้สนุกกับการถ่ายรูปกับป้ายปัญหาคนเมืองที่ออกแบบจากคาแรกเตอร์จริงของผู้คนที่บอกกล่าวถึงความใส่ใจในคุณภาพของโครงการบ้าน SC Asset พร้อมรับของที่ระลึกน่ารักๆ อีกด้วย
โครงการนี้เกิดจากการทดลองรับฟังเสียงผู้คนในชุมชนบางกะดี โดย ‘เนเบอร์ฮูด บางกะดี’ (Neighbourhood Bangkadi) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินกว่า 200 ไร่โครงการแรกของ SC Asset ที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา REDEK ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยใช้แนวคิดของการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนในชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งมีคนในชุมชนมากมายมาร่วมกันแชร์ pain points ที่อยู่ในใจของตัวเอง ก่อนที่ทาง SC Asset จะรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นงานพัฒนา Design Solutions ในโครงการ Neighbourhood Bangkadi ที่มุ่งหวังจะลดทอนปัญหาในการอยู่อาศัยให้กับลูกบ้านและชุมชนในย่านให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
เช่นเดียวกับงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ที่เสียงสะท้อนของทุกคนอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่คาดไม่ถึง
Streetscape: Design Solutions ที่จับต้องได้จากการสังเกตชีวิตผู้คน
ในเมืองใหญ่ที่ผู้คนนับล้านจากหลากหลายที่มาเข้ามาอยู่อาศัย ‘ข้อตกลงร่วมกัน’ คือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้พื้นที่ตรงกลางเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคน
ในมุมมองของ โฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงาน กลยุทธ์แบรนด์องค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่างานดีไซน์คือเครื่องมือหนึ่งในการสร้างข้อตกลงร่วมกันได้อย่างง่ายดายที่สุด
“ที่ผ่านมาประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่ได้เน้นการเรียนการสอนในเรื่องงานออกแบบมากนัก หลายคนยังมีมุมมองต่องานออกแบบว่าเป็นเรื่องของศิลปะที่เอาไว้ดูเพื่อความสวยงาม หรือสร้างคุณค่าให้กับจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะนึกไม่ถึงว่าจริงๆ แล้วงานออกแบบยังมีอีกหนึ่งฟังก์ชัน คือการนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้เหมือนกัน ซึ่งในหลายประเทศเขานำ Design Solutions มาใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่เราจะสังเกตเห็นได้จากถนนหนทาง ป้ายบอกทาง หรือพื้นที่สาธารณะหลายๆ แห่งที่ถูกออกแบบโดยคิดมาแล้วเป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหลายอย่างก็ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น”
Streetscape ที่สนับสนุนโดย SC Asset เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และ Cloud-floor กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สนใจงานออกแบบพื้นที่สาธารณะและเมือง โดยพยายามนำความคิดสร้างสรรค์มาช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้งานทางเท้า และมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย
- การออกแบบเพื่อสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนน (Street Crossing)
- การออกแบบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเดินสัญจรในย่านสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม (Street Activities)
- การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์บนทางเท้า (Street Elements)
- การออกแบบระบบนำทางเดินเท้า (Wayfinding)
- การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเดินเท้าช่วงเวลากลางคืน (Safety Environment)
ซึ่ง Design Solutions เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ แต่เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างใกล้ชิดจนได้มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย
“การแก้ปัญหาต่างๆ มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเริ่มสังเกตผู้คน ซึ่งถ้างานดีไซน์ไม่ได้ถูกเริ่มมาจาก Human Centric ที่สุดแล้วมันก็จะไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งไอเดียที่เรานำมาโชว์ หลายสิ่งถูกใช้จริงในหลายโครงการของเรา เช่น แสงไฟส่องสว่าง ที่โครงการของเราอัพเลเวลขึ้นไปอีก คือใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของลูกบ้าน นอกจากนี้ยังรวมถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่างานดีไซน์จะช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร”
จุดประกายความหวังสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
แม้งานออกแบบบางอย่างที่นำมาจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้จากหน่วยงาน CEA อาจจะยังไม่ได้เห็นว่าเกิดขึ้นจริงอย่างถาวรแล้วในวันนี้ แต่โฉมชฎาหวังว่าอย่างน้อยๆ ไอเดียเหล่านี้จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้างในอนาคตต่อไป
“คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่คือคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ซึ่งเป็นความหวังของประเทศในอนาคต ถามว่าไอเดียเรานี้เราจะได้เห็นในเร็ววันนี้ไหม คงไม่มีใครตอบได้ เพราะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย แต่อย่างน้อยๆ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้แหละที่จะมันจะติดไปอยู่ในหัวใจของคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นผู้ลงมือทำต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำในวันนี้คือการหวังผลไปสู่วันพรุ่งนี้ด้วยพลังจากคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้ไปอีกนาน”
นี่คือเวทีระดับประเทศที่ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนมาระดมสมองกันนำเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ อยากให้ทุกคนร่วมติดตามและให้กำลังใจคนไทยผ่านงาน Bangkok Design Week 2019 ด้วยกัน
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับนิทรรศการภายในงาน Bangkok Design Week 2019 ได้ ในวันที่ 26 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น.
ติดตามอัปเดตกิจกรรมต่างๆ จาก SC Asset ภายในงาน Bangkok Design Week 2019 ได้ที่ bit.ly/2Hpbtbm
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 หรือ Bangkok Design Week 2019 (BKKDW 2019) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้ธีม ‘Fusing Forward ผสานสร้างสู่อนาคต’ เพื่อสะท้อนศักยภาพที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในการเป็นแหล่งรวมนักสร้างสรรค์ และผู้ผลิตที่สามารถหยิบส่วนผสมต่างๆ จากหลากสาขาความรู้ จากในท้องถิ่นและสากล จากรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพื่อมาปรุงใหม่ให้กลายเป็นผลงานและผลิตภัณฑ์เชิงการพาณิชย์และคุณภาพชีวิต
- 5 กิจกรรมหลัก ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ อาทิ ย่านเจริญกรุง คลองสาน สุขุมวิท และพระราม 1 ประกอบด้วย
- Showcase & Exhibition การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการ ทั้งงานต้นแบบและผลงานพร้อมขายที่สะท้อนศักยภาพของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์จากกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ทั่วโลก
- Talk & Workshop กิจกรรมเติมความรู้และแรงบันดาลใจจากนักสร้างสรรค์ของไทยและต่างประเทศ
- Creative District กิจกรรมส่งเสริมย่านเจริญกรุงสู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ ทั้งด้านธุรกิจและคุณภาพชีวิต ด้วยการจัดทำต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดการทดสอบและนำไปสู่การใช้งานจริง ตั้งแต่ต้นแบบของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การแปลงพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่กิจกรรม การปรับปรุงการสัญจรภายในย่านเจริญกรุง และการจัดกิจกรรมทัวร์
- Event & Program กิจกรรมส่งเสริมให้นักสร้างสรรค์แสดงศักยภาพในหลากรูปแบบ ตั้งแต่การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงอื่นๆ รวมถึงการเปิดบ้าน (Open House)
- Creative Market ตลาดนัดสร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้าและการขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการเก่าและใหม่
- Streetscape: เดินเจริญกรุง คือโปรเจกต์เล็กๆ กึ่งทดลองโดย SC Asset ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการเดิน (Walkable City) เป็นการออกแบบต้นแบบการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ทางเท้า และป้ายสัญลักษณ์ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีในการเดินเท้าภายในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เจริญกรุง
- สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw/