บางคนเห็นหัวข้อนี้แล้วอาจเมินผ่านเพราะคุณเซียนอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมว่านี่คือคำถามอันดับหนึ่ง เพราะยังมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่มีสกินแคร์จำนวนมากไว้ในครอบครอง อารมณ์ว่าใครว่าดีก็ซื้อตาม แต่สุดท้ายกลับใช้ผิดใช้ถูกจนไม่เห็นผล บ่อยครั้งยังแยกเดย์ครีมกับไนต์ครีมไม่ออก ทำให้ต้องคอยเสียเงินซ้ำๆ อยู่ร่ำไป หากคุณเข้าข่ายดังว่า เราขอชวนมาทำความเข้าใจลำดับการทาครีมบำรุงเสียใหม่ รับรองปฏิบัติตามนี้ไม่งงแน่นอน
ทำไมลำดับการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวถึงสำคัญ
คุณอาจจะคิดว่าผสมๆ เซรั่มขวดนี้เข้ากับครีมกระปุกนู้นแล้วทาพร้อมกันก็ได้ สุดท้ายมันก็ไปรวมในผิวอยู่ดี แต่ช้าก่อน เพราะหลักการให้ทาสกินแคร์ไล่ตามหน้าที่ และน้ำหนักเนื้อนั้นเป็นไปเพื่อให้ผิวได้รับคุณประโยชน์ที่พึงได้จากสกินแคร์อย่างสูงสุด “ลำดับการทาสกินแคร์นั้นสำคัญมาก” ดร.เฮเธอร์ โรเจอร์ส (Dr. Heather Rogers) แพทย์ผิวหนังกล่าว
“หน้าที่ของผิวคือปกป้องผิว คอยกรองสิ่งแปลกปลอมออก ในขณะเดียวกันสกินแคร์ก็มีส่วนผสมบำรุงต่างๆ ที่เราอยากเติมเข้าผิว ทว่าแม้สกินแคร์จะสูตรทรงประสิทธิภาพเพียงใด และอนุภาคเล็กซึมซาบดีเพียงใด หากทาไม่ถูกลำดับขั้น ผิวคุณจะไม่ได้รับการบำรุงอย่างเต็มที่ที่สุด”
ยกตัวอย่างหากคุณมีอาการสิวอักเสบ แต่คุณกลับทามอยส์เจอไรเซอร์ก่อนแล้วจึงทาเจลแต้มสิว เช่นนี้ส่วนผสมซาลิไซลิกแอซิด ก็ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะถูกครีมบังอยู่ นอกจากนี้ช่วงเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน หากสลับหรือใช้สกินแคร์กลางวันกลางคืนมั่วไปหมด อาจส่งผลเสียต่อผิวมากกว่า เช่น ในเคสยาแต้มสิวเดียวกันนี้ หากคุณใช้ตอนกลางวัน พอผิวเจอแดดแรงๆ เข้าก็มีความเสี่ยงสูงว่าผิวจะถูกกระตุ้นให้แสบไหม้ได้
ทีนี้ต้องเรียงลำดับอย่างไรล่ะ
กฎพื้นฐานคือดูตามหน้าที่ของสกินแคร์ จากล้างทำความสะอาด บำรุง ไปถึงปกป้องผิว และยึดความเข้มข้นของเนื้อสัมผัสเป็นหลักโดยเริ่มจากเบาไปหนัก หรือจากของเหลวใสไปออยล์และครีม
“ทั่วๆ ไปคือจากเนื้อเบาไปหนัก และสำคัญมากว่าสกินแคร์ที่มีส่วนผสมบำรุงผิวเข้มข้นอย่างแอนติออกซิแดนต์ในเซรั่ม ควรซึมซาบไปเป็นอันดับแรกๆ แล้วจึงตามด้วยสกินแคร์ที่เคลือบบนผิวอย่างพวกอิโมลเลียนต์เก็บความชุ่มชื้นในครีม” ดร.โรเจอร์สแนะนำพอให้เห็นภาพ ที่นี้ลองมาดูลำดับขั้นอย่างละเอียดระหว่างกลางวันกับกลางคืนดูดีกว่า
Skincare Regimen: ลำดับการบำรุงผิว
ในภาพรวมมีขั้นตอนพื้นฐาน 7-8 ขั้นตามตารางที่คุณควรเซฟเก็บไว้เพื่อความเข้าใจ
สำหรับช่วงกลางวันเน้นไปที่การเติมน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และปกป้องผิวจากแสงแดด มลภาวะ และปัจจัยทำร้ายผิวต่างๆ เป็นพื้นฐาน ในช่วงเวลานี้ควรงดการใช้สกินแคร์แรงๆ ที่กระตุ้นการผลัดผิว
ส่วนกลางคืนเน้นดูแลผิวให้ชุ่มชื้นเช่นกัน เสริมสกินแคร์ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะจุด และซ่อมแซมผิว
Step 1: คลีนเซอร์ (Cleanser)
ตอนเช้าแม้เป็นช่วงที่ผิวไม่ได้สกปรกนัก แต่การล้างหน้าด้วยน้ำเปล่านั้นไม่เพียงพอ พอลล่า เบกวน (Paula Begoun) กูรูด้านสกินแคร์แนะให้เลือกใช้คลีนเซอร์ตามสภาพผิว “น้ำเปล่าไม่ช่วยล้างความมันออก ในช่วงเช้าควรใช้คลีนเซอร์ล้างเอาสิ่งที่ทาในค่ำคืนออกไปก่อน ผิวจะได้สะอาดเตรียมรับสารบำรุงใหม่ได้” ส่วนในตอนกลางคืน หากแต่งหน้าก็ต้องใช้เมกอัพรีมูฟเวอร์ก่อนด้วย แล้วตามด้วยคลีนเซอร์
Step 2: โทนเนอร์ (Toner)
ถือเป็น Optional ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ให้ดูตามสภาพผิวหลังล้างหน้า เพราะดั้งเดิมโทนเนอร์ออกแบบมาให้ช่วยทำความสะอาดผิวอีกขั้น และช่วยปรับสมดุลผิวหลังใช้คลีนเซอร์ ซึ่งช่วยให้ผิวสะอาดแต่ก็แห้งตึงอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันมีคลีนเซอร์สูตรใหม่มากมายที่ช่วยปรับสมดุลผิวไปในตัวแล้ว ในขณะเดียวกันโทนเนอร์ก็มีหลากหลายสูตร และเพิ่มส่วนผสมบำรุงผิวเข้าไปด้วย ข้อควรระวังคืออย่าเลือกโทนเนอร์ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง
Step 3: ทรีตเมนต์ เอสเซนส์ (Treatment Essences) และทรีตเมนต์ โลชั่น (Treatment Lotion)
ถือเป็น Optional เช่นกัน ว่าง่ายๆ นี่คือน้ำตบ ที่เป็นขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยเตรียมให้ผิวชุ่มชื้นพร้อมรับการบำรุงขั้นต่อไป และช่วยบำรุงผิวเป็นขั้นตอนแรก ด้วยเนื้อสัมผัสแบบน้ำเบาบาง บวกกับลักษณะการใช้ที่ต้องอาศัยปลายนิ้วตบเบาๆ ทั่วใบหน้า จึงช่วยปลุกกระตุ้นการไหลเวียนในผิวได้
Step 4: ครีมบำรุงรอบดวงตา (Eyes Cream)
แพทย์ผิวหนัง แอนนี ชิว (Annie Chiu) แนะนำให้ทาอายส์ครีมตั้งแต่ช่วงวัย 20 ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างสม่ำเสมอ “ไม่มีอายส์ครีมมหัศจรรย์ใดช่วยให้เห็นผลในข้ามคืน การทาอายส์ครีมเป็นเรื่องของการเหนี่ยวรั้งสภาพผิวรอบดวงตาไม่ให้หย่อนยาน หากใช้ประจำในระยะยาว จะช่วยป้องกันริ้วรอยและลดการสูญเสียคอลลาเจนได้”
Step 5: เซรั่ม (Serum)
เซรั่มเป็นสกินแคร์ที่อัดแน่นด้วยส่วนผสมออกฤทธิ์บำรุงผิวที่สุด จึงไม่ควรข้ามขั้นตอนนี้ แนะนำควรมีเซรั่มชุ่มชื้นเติมน้ำให้ผิวเป็นเซรั่มพื้นฐานทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วเสริมด้วยเซรั่มอื่นๆ ตามวัยและตามแต่สภาพผิวต้องการ สำหรับช่วงกลางวัน ดร. โรเจอร์สแนะนำว่าควรใช้เซรั่มแอนติออกซิแดนต์ด้วย เพราะให้ผลครอบคลุมทั้งลดการอักเสบผิว ปกป้องผิวจากรังสียูวี มลภาวะต่างๆ ส่วนเวลากลางคืนเป็นช่วงที่ร่างกายและผิวเตรียมซ่อมแซมส่วนต่างๆ ขณะที่เรานอนหลับ จึงควรใช้เซรั่มหรือทรีตเมนต์ที่แก้ปัญหาผิวเฉพาะเจาะจง ซึ่งมักมีส่วนผสมที่แรงขึ้นอย่างวิตามินซี เรตินอล เปปไทด์ เช่น เซรั่มต้านริ้วรอย เซรั่มเพื่อลดเลือนจุดด่างดำ เซรั่มกระตุ้นการผลัดผิว แผ่นพีลลิ่ง ยาแต้มสิว และควรสังเกตดูตามสภาพผิวในช่วงเวลานั้นๆ
Step 6: มอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer)
เพราะผิวคนเราล้วนต้องออกไปสัมผัสกับแสงแดด อากาศร้อนหนาว และปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยดึงความชุ่มชื้นในผิวออกไป และแม้ร่างกายจะผลิตสารหล่อลื่นและน้ำมันมาเคลือบผิวตามธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ทุกสภาพผิวแม้ผิวมันก็ต้องการมอยส์เจอไรเซอร์เสริมอยู่ดี เพื่อรักษาระดับความชุ่มชื้นภายในผิว ซึ่งเป็นพื้นฐานผิวสุขภาพดีไว้ มอยส์เจอไรเซอร์บางชนิดใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มักมีเนื้อสัมผัสเบาแบบเจลถึงเจลครีม ส่วนบางชนิดที่เข้มข้นขึ้นก็เหมาะสำหรับใช้กลางคืน เพื่อช่วยเคลือบผิวและลดการระเหยของน้ำ อย่างไรก็ตามในคนที่ผิวแห้งมากๆ สามารถเสริมด้วยออยล์ก่อนทาครีมได้อีก
Step 7: ครีมกันแดด (Sunscreen)
อีกขั้นตอนสำคัญขาดไม่ได้สำหรับช่วงเวลากลางวัน แต่จะใช้ครีมกันแดดแบบเคมี (Chemical Sunscreen) หรือครีมกันแดดแบบสะท้อนแสงออก (Physical Sunscreen) ดีนั้น ดร.โรเจอร์สแนะนำว่าให้ใช้แบบหลังจะดีกว่า เนื่องจาก “ครีมกันแดดแบบเคมีจะต้องอาศัยเวลาให้ซึมซาบเข้าผิวจึงจะเห็นผล ดังนั้นถ้าลงกันแดดแบบนี้ตามหลังมอยส์เจอไรเซอร์ก็จะผ่านลงไปได้ยาก” ด้วยเหตุนี้ครีมกันแดดแบบมิเนอรัลสะท้อนแสงออกจากผิวที่มักใช้ซิงก์เป็นส่วนประกอบหลักจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะกว่า แถมยังปลอดภัยและให้ผลป้องกันรังสียูวีเอและบีได้ครอบคลุมกว่า แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดแบบเคมี ก็แนะนำว่าให้เลือกสูตรที่ผสมสารให้ความชุ่มชื้นไปในตัว และข้ามขั้นตอนมอยส์เจอไรเซอร์ไปเสียเลยก็ได้เหมือนกัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง
- www.skincare.com/article/how-to-layer-skin-care-products
- www.dermstore.com/blog/in-what-order-do-i-apply-my-skin-care-products-infographic
- www.allure.com/story/how-to-layer-your-skin-care-products
- https://glowjournal.com/paulas-choice-q-and-a
- สำหรับสกินแคร์พิเศษที่ไม่ได้ใช้ทุกวัน เช่น บูสเตอร์ มาสก์ สครับ ให้ดูตามหน้าที่ และสอดแทรกเข้าไปตามขั้นตอนพื้นฐานข้างต้น หรือใช้แทนบางขั้นตอนได้ เช่น บูสเตอร์วิตามินซีควรใช้ก่อนเซรั่ม มาส์กแผ่นให้ผิวชุ่มชื้นสามารถใช้แทนเซรั่มในตอนเช้าได้ มาสก์ข้ามคืนใช้แทนไนต์ครีมได้ มาสก์โคลนใช้ดีท็อกซ์ผิวหลังล้างหน้า พีลลิ่งมาสก์ใช้ผลัดผิวหลังล้างหน้า สครับใช้ทำความสะอาดผิวสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- สภาพผิวแต่ละวัน หรือแต่ละไทม์โซนก็ต้องการการดูแลต่างกันไป จึงควรหมั่นสังเกตดูด้วยว่าจริงๆ แล้วผิวต้องการอะไร “ผิวแต่ละคนไม่เหมือนกัน เลเยอร์มากไปก็ไม่ดี ระวังใช้ซ้ำซ้อน ทั้งสิ้นเปลืองและอาจส่งผลให้ผิวระคายเคืองได้ ควรเลือกสกินแคร์ที่เหมาะกับปัญหาผิวในคืนช่วงเวลานั้นๆ มากกว่าเลือกจากสกินแคร์ที่มีอยู่และใช้ๆ ตามความเคยชิน” ดร.โรเจอร์สฝากทิ้งท้าย