แม้ว่าจะยังไม่มีบทสรุปจากศึกปะทะทางความคิดระหว่างสองมหาเศรษฐีแห่งวงการเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัท Tesla และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ OpenAI กับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ประเด็นที่ว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติหรือไม่นั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนบนโซเชียลมีเดีย
แต่กว่า AI จะวิวัฒน์ไปสู่ระดับ Superintelligence คงใช้เวลานานพอที่ผู้คนจะกลับมาสนใจประเด็นที่ใกล้ตัวกว่านั้น นั่นคือหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่แรงงานของมนุษย์เมื่อไร มีอาชีพใดบ้างที่จะต้องเตรียมตกงานในเร็วๆ นี้
แล้วมนุษย์ควรจะพัฒนาตัวเองอย่างไรไม่ให้ถูกแทนที่และยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานในระยะยาว หรือเทคโนโลยีจะมอบคำตอบให้กับเราได้?
เสริมสร้างหรือทำลาย
ในความเป็นจริงมีตำแหน่งงานจำนวนมากถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์มานานแล้ว เจฟฟ์ มอร์แกน นักวิชาการและนักวิจัยสาขาวิศวกรรมการผลิต มหาวิทยาลัยทรินิตี คอลเลจ ดับลิน ได้เขียนบทความบนเว็บไซต์ World Economic Forum ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นแปลกใหม่ วิศวกรทั่วโลกเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือในกระบวนการผลิตตามแต่ละอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงปี 1950-1960 เช่น General Motors ได้ติดตั้งแขนจักรกลในโรงงานผลิตรถยนต์ ขณะที่โรงงานแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ของ Philips แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำ ใช้แขนจักรกลทำงานเฉพาะทางในกระบวนการผลิตเช่นกัน
ปัจจุบันขอบเขตการทำงานของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่ได้จำกัดแค่ในโรงงาน โกดังสินค้า หรือห้องทดลองอีกต่อไป ทุกวันนี้หุ่นยนต์เป็นได้ทั้งพนักงานเสิร์ฟและพนักงานต้อนรับในธนาคาร ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นในรูปแบบของผู้ช่วยอัจฉริยะในบ้านและรถยนต์ไร้คนขับ
เจฟฟ์ยังอธิบายถึงโลกในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หุ่นยนต์โรงงานจะพัฒนาไปถึงจุดที่สื่อสารและทำงานร่วมกันเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคน ทุกเครื่องจักรจะเก็บบันทึกข้อมูลมากมายมหาศาล และส่งต่อไปวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อคาดการณ์และพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานแต่ละส่วน
คำถามที่น่าเป็นห่วงก็คือ มนุษย์จะยังจำเป็นต่อวงจรการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่หรือไม่ เป็นไปได้ว่าแรงงานกรรมาชีพจะต้องย้ายไปประกอบอาชีพอื่น ขณะที่ deep learning จะช่วยตัดขั้นตอนการตัดสินใจที่ซับซ้อนและลดบทบาทหน้าที่ในบางอาชีพของชนชั้นกลางไป เช่น ทนายความ แพทย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ยังคงมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อมั่นว่าบรรดาเทคโนโลยีล้ำยุคจะเข้ามา ‘เสริมศักยภาพ’ ของมนุษย์ในหลายมิติมากกว่า ‘ทำลายล้าง’ โดยเฉพาะในยุคที่ AI จะเข้ามาทำงานร่วมกันกับเรา ตามการคาดการณ์ในรายงานโดย IDC ว่า ในปี 2019 บริษัทชั้นนำของโลกกว่าร้อยละ 30 จะเริ่มจ้างผู้บริหารระดับสูง CRO (Chief Robotics Officers) ที่สามารถดูแลให้พนักงานบุคคลและหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้
มนุษย์สายพันธุ์ใหม่กับสมองปัญญาประดิษฐ์
ในอนาคตอันใกล้ เราอาจคุ้นชินกับปลูกถ่ายอวัยวะเทียมหรือแขนขาหุ่นยนต์แทนส่วนที่เสื่อมสภาพไป แต่ลองจินตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสมองของมนุษย์ที่เปรียบได้กับเซิร์ฟเวอร์บรรจุข้อมูลมหึมาถูกเชื่อมต่อกับระบบประสาทเทียมของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
นี่คืออีกหนึ่งความเป็นไปได้ในโลกอนาคต เมื่อต้นปี อีลอน มัสก์ เปิดตัวบริษัทสตาร์ทอัพ Neuralink ด้วยกองทุนส่วนตัว เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ หวังจะขยายโอกาสทางการแพทย์ เพิ่มความจำ ตลอดจนเสริมความสามารถของมนุษย์ทั้งทางภาพและจิตใจ โดยอาจใช้เทคโนโลยีการฝังขั้วไฟฟ้าในสมองเพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิทัล
นั่นหมายความว่าต่อไปเราอาจดาวน์โหลดข้อมูลหรืออัพโหลดความทรงจำในสมองขึ้นสู่ระบบคลาวด์ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านแพลตฟอร์มใดๆ
ตามการรายงานจากเว็บไซต์ TechCrunch มัสก์เชื่อมั่นว่า Neuralink จะช่วยให้มนุษย์ก้าวทันวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ และทำให้มนุษย์มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ AI อย่างเต็มที่
แน่นอนว่าการพัฒนาระบบเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ถือเป็นวิทยาการที่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งมนุษย์เรายังมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับสมองของตัวเอง ซึ่งเปรียบได้กับสิ่งลี้ลับในจักรวาล
AR เพิ่มความสามารถผ่านประสบการณ์เสมือนจริง
เทคโนโลยี AR อาจไม่ใช่เครื่องมือกอบกู้โลกเสียทีเดียว แต่ปัจจุบันบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ และสถาบันศึกษาเริ่มทดลองใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและประสิทธิผลของการผลิต
ยกตัวอย่างเช่น General Election บริษัทอุตสาหกรรมหนักระดับโลก ได้ทดลองให้ช่างไฟต่อสายไฟในกล่องควบคุมกังหันลม โดยเปรียบเทียบการทำงานระหว่างตอนที่ใช้อุปกรณ์ Skylight แว่นตาอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AR และมีระบบสั่งงานผ่านเสียงกับการทำงานปกติ ผลปรากฏว่าอุปกรณ์ของ Skylight ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากถึง 34% เมื่อใช้งานครั้งแรก
แพทริก ไรอัน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของอู่ต่อเรือ Newport News Shipbuilding ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีอัตราการจ้างงานสูง ชี้ว่าบริษัทได้ทดลองใช้ AR ตั้งแต่ขั้นตอนการสอนงาน วางระบบการจัดการการทำงาน การทำประกัน การรักษาความปลอดภัย โลจิสติกส์ อบรมพนักงาน โครงการนำร่อง และการปฏิบัติงานจริง เขายังเน้นย้ำว่า “ข้อดีของ AR คือมันไม่ได้เข้ามาแทนที่คนเหมือนกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของคน มันเป็นเรื่องของการลงทุนกับคน”
ประโยชน์ของ AR จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อนำไปผนวกใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ตโฟน และ wearable technology
แข่งกับ AI ด้วย AI
อาจเป็นเรื่องย้อนแย้งอยู่ไม่น้อยสำหรับคนที่กลัวว่า AI จะเป็นภัยคุกคามกับมนุษย์ เพราะในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็เป็นหนทางรอดจากการถูก disrupt เช่นกัน
AI จะถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจ การทำคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงบุคคลมากยิ่งขึ้น เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เฉพาะทาง ระบบอัลกอริทึมจะตัดทอนความซับซ้อนไป ทำให้คนเรียนรู้และทำงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายรวมถึงการเรียนรู้ทักษะใหม่ ในเชิงการแพทย์ AI จะช่วยรวบรวมข้อมูล ประวัติการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วย ช่วยในการตัดสินใจรักษาอย่างแม่นยำ
การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เมื่อแทบทุกกิจกรรมของคนเราโอนย้ายและเชื่อมต่อเข้ากับโลกออนไลน์อย่างแนบสนิท แต่การจัดการกับภัยบนโลกออนไลน์ที่ซับซ้อนก็ต้องอาศัยต้นทุนและความเชี่ยวชาญสูง หลายบริษัทจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เช่น IBM ได้ต่อยอดเทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Watson ที่ขึ้นชื่อเรื่องทักษะความจำและภาษาเป็นเลิศ มาสู่บริการระบบการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทใหญ่ โดยต้นปีที่ผ่านมามีข่าวว่าทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ก็มีท่าทีจะสนใจเช่นกัน
แล้วเด็กที่จะตบเท้าเข้าสู่โลกของการทำงานควรมีทักษะแบบไหน หลายคนอาจคิดว่าจะต้องมีทักษะการเขียนโค้ด โปรแกรม และพัฒนาหุ่นยนต์ได้ แต่นักวิชาการคนหนึ่งที่ชื่อเบนจามิน โวห์ล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า เด็กๆ ที่เรียนระบบไบนารีและการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา python ไม่ใช่เพื่อที่จะสร้างหรือซ่อมหุ่นยนต์ตอนโต แต่เพราะว่าพวกเขาต้องทำงานกับหุ่นยนต์เหล่านี้ต่อไปในอนาคตต่างหาก ดังนั้นเด็กๆ เหล่านี้จึงต้องมีทักษะบางอย่างที่หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติยังทำแทนไม่ได้ นั่นก็คือความเป็นมนุษย์นั่นเอง
อ้างอิง
- www.businessinsider.com/elon-musk-neuralink-connect-brains-computer-neural-lace-2017-3
- www.mckinsey.com/business-functions/digital-mckinsey/our-insights/where-machines-could-replace-humans-and-where-they-cant-yet
- theconversation.com/does-the-next-industrial-revolution-spell-the-end-of-manufacturing-jobs-80779
- theconversation.com/how-artificial-intelligence-and-the-robotic-revolution-will-change-the-workplace-of-tomorrow-72607?sa=google&sq=robots+take+my+job&sr=9
- www.weforum.org/agenda/2016/07/5-ways-virtual-and-augmented-reality-is-changing-our-lives
- www.weforum.org/agenda/2017/07/robots-have-been-taking-our-jobs-for-50-years-so-why-are-we-worried-now