×

คำพิพากษาคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ปี’51 ขีดมาตรฐานใหม่ของการชุมนุมทางการเมือง

02.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ปี’51 ขีดมาตรฐานการชุมนุมทางการเมือง
  • เจตนาร่วมของผู้ชุมนุม’ คือตัวชี้วัดว่าการชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่?
  • กูรูการเมือง มองว่าคำพิพากษาของศาลในวันนี้ไม่มีนัยใดๆ ต่อทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น

 

     ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง จำเลยทั้ง 4 คน ประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยสาระสำคัญของคำพิพากษาระบุว่า การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาโดยปิดล้อมประตูเข้าออกไว้ทุกด้าน ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่

     อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีการพกอาวุธ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน ผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็ก หัวน็อต ลูกแก้ว รวมทั้งขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ และการปิดล้อมอาคารรัฐสภาก็นำรั้วลวดหนามที่คล้ายกับที่ใช้ในทางการทหารและแผงกั้นเหล็กมาวางไว้ที่กลางถนน อีกทั้งยังนำยางรถยนต์มาขวางทาง และราดน้ำมันไว้บนพื้นผิวจราจรด้วย

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

     การชุมนุมดังกล่าวถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธ จึงมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้วเท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น

     แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ

     คดีจบแล้ว แต่การชุมนุมทางการเมืองอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ หากในอนาคตมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก คดีนี้อาจเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการชุมนุมทางการเมือง

 

 

นักวิชาการ ชี้ คำพิพากษาที่เป็นมาตรฐานของการชุมนุมทางการเมือง

     ผศ. ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าเท่าที่ติดตามคำพิพากษาจากสื่อมวลชนไม่ได้ดูฉบับเต็ม เห็นว่าคำพิพากษานี้โดยรวมค่อนข้างดี และคำพิพากษานี้จะเป็นมาตรฐานของการชุมนุมทางการเมืองว่าหากเจตนาร่วมของการชุมนุมไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธ การชุมนุมนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

     ขณะที่ส่วนของเจ้าหน้าที่ศาลมองว่ามีความเสียหายจริง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้คาดหมายในลักษณะนั้น และไม่มีเจตนาให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาจึงเป็นคนละประเด็นกับการเยียวยาผู้ชุมนุม

     ซึ่งคำพิพากษานี้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในเหตุการณ์เดียวกัน (คดีหมายเลขดำที่ 1605/2551) ที่วินิจฉัยว่าหากการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าสลายการชุมนุมได้ แต่ต้องพิจารณาถึงวิธีการสลายการชุมนุม เพื่อป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้สั่งการทำตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายและหลักสากล

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

Photo: NICOLAS ASFOURI/AFP

 

เป็นการชุมนุมที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องดูเจตนาร่วมของผู้ชุมนุมเป็นหลัก

     การชุมนุมประท้วงต่างๆ ในประเทศไทยที่ผ่านมา ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมไม่มากก็น้อยล้วนมีอาวุธด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเช่นนั้นทุกการชุมนุมประท้วงที่มีอาวุธจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดหรือไม่?

     ผศ. ดร. จันทจิรา อธิบายว่า ต้องพิจารณาจาก ‘เจตนาร่วมของผู้ชุมนุมเป็นหลัก’ กล่าวคือดูผู้จัดการชุมนุมว่ามีเจตนาหรือปล่อยให้มีอาวุธจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชุมนุมหรือไม่ การชุมนุมที่มีอาวุธจำนวนมากไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ

     ขณะที่การชุมนุมที่แกนนำอาจจะรู้ว่ามีอาวุธ หรือ ผู้ร่วมชุมนุมบางกลุ่มมีอาวุธ แต่คนที่มาร่วมชุมนุมโดยทั่วไปจำนวนมากไม่ทราบ และไม่มีเจตนาที่จะใช้อาวุธ ก็จะถือว่าเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคล กฎหมายต้องคุ้มครองคนที่บริสุทธิ์ให้ได้รับสิทธิการชุมนุมต่อไป

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

     โดยก่อนหน้านี้มีตัวอย่างคำพิพากษาที่ศาลชี้ให้เห็นถึงเจตนาร่วมของการชุมนุม โดยเฉพาะกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีสลายการชุมนุมชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย โดยเหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 โดยศาลปกครองพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 ให้ผู้ชุมชนะคดีและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าชดเชย คดีดังกล่าวใช้เวลาต่อสู้นานร่วม 10 ปี

     ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย

     “ส่วนอาวุธของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้นั้นปรากฏว่ามีเพียงหนังสติ๊กด้ามไม้ จำนวน 7 อัน พร้อมลูกตะกั่วถ่วงอวนจำนวน 82 ลูก และมีดสปาตาจำนวน 1 เล่ม เท่านั้น ที่เป็นอาวุธโดยสภาพ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนในกลุ่มผู้ชุมนุม จึงเชื่อได้ว่าเป็นการพกพาอาวุธมาเป็นส่วนตัวของผู้ชุมนุมเท่านั้น มิได้เกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของแกนนำและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่”

(สำเนาคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีสลายการชุมนุมชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ

และโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย 16 มกราคม 2556 หน้า 47)

 

     ดร. จันทจิรา ขยายความเพิ่มเติมว่า ศาลมองว่าสิ่งเหล่านี้แม้จะใช้เป็นอาวุธได้ แต่มีเหตุจำเป็นที่จะมีอยู่ เมื่อเทียบจำนวนแล้วเห็นว่าไม่ใช่เจตจำนงร่วมของการชุมนุม ถ้าจะดำเนินคดีต้องดำเนินคดีเฉพาะบุคคลที่กระทำผิด

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 VS สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553

     ผศ. ดร. จันทจิรา มองว่า เหตุการณ์ปี 2551 ไม่มีการใช้อาวุธร้ายแรงที่เป็นอาวุธสงคราม และเป็นการทำหน้าที่ของตำรวจซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเมือง

     ต่างจากเหตุการณ์ปี 2553 ที่มีการใช้เจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงมีการใช้อาวุธสงคราม อีกทั้งการชุมนุมปี 2553 ไม่ได้มีลักษณะปิดล้อมสถานที่ราชการ แต่เป็นการปิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูว่าเป็นความผิดของผู้จัดการชุมนุมหนือไม่ แต่ไม่ใช่ความผิดของผู้ชุมนุมโดยรวม

 

นักวิเคราะห์การเมืองมอง ยกฟ้อง สมชาย ไม่เกี่ยวกับ คดียิ่งลักษณ์

     รองศาสตราจารย์ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD มองว่ากรณีศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 ว่าที่วิตกกังวลตอนแรกคือกลัว 4 คน ถูกตัดสินต่างกัน เช่น บางคนถูกลงโทษ บางคนรอด แต่พอผลออกมาในทางเดียวกันไม่ว่าจะออกมาในทางไหนในทางการเมืองถือว่ารับได้

     แน่นอนไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาในทางใดจะต้องมีฝ่ายที่ไม่พอใจ แต่ถ้ามองแบบรัฐศาสตร์คือถ้าผลออกมาในทางเดียวกันถือว่ารับได้

     “ถามว่าคำพิพากษาในวันนี้มีผลทางการเมืองอะไรไหม มันไม่มีผลอะไรเลย เพราะเราทำได้แค่ดูอย่างเดียว เราจะไปมีสิทธิอะไร ผู้มีอำนาจเขาก็บอกเขารับฟังทุกเรื่อง แต่เขาก็สรุปอย่างที่เขากำหนดไว้ จะเอาเหตุการณ์นี้มาชี้วัดอนาคตการเมืองอะไรไม่ได้เลย” อาจารย์สุขุม กล่าว

 

Photo: ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X