อินโดนีเซียเตรียมพัฒนาระบบเตือนภัยใหม่ที่สามารถตรวจจับสึนามิที่ก่อตัวจากการถล่มของดินใต้ทะเล หลังเกิดโศกนาฏกรรมภูเขาไฟกรากะตัวระเบิด จนทำให้ดินถล่มและเกิดคลื่นเข้าซัดชายฝั่งเกาะชวาและสุมาตรา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 429 ราย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ธ.ค.)
อิยัน ตูร์ยานา โฆษกหน่วยงานประเมินและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับ BBC ว่า ทางการจะเริ่มติดตั้งทุ่นสึนามิแบบใหม่ในปีหน้า ซึ่งมีกลไกช่วยตรวจวัดขนาดของคลื่นที่เกิดจากดินถล่มใต้น้ำและภูเขาไฟระเบิด ขณะที่เทคโนโลยีแบบเก่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทำนายการเกิดสึนามิแบบเดียวกับที่พัดถล่มเมืองชายฝั่งบนช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตราและชวาได้ เพราะระบบตั้งไว้สำหรับตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถึงแม้จะมีการติดตั้งทุ่นสึนามิใกล้กับภูเขาไฟ แต่เวลาในการส่งสัญญาณเตือนภัยนั้นสั้นมาก ดังนั้น ประชาชนจึงมีเวลาไม่มากในการอพยพหนี ยกตัวอย่างเช่น กรณีของภูเขาไฟอานัก กรากะตัว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองชายฝั่งมาก เมื่อเกิดการปะทุจึงเกิดสึนามิพัดถล่มชายฝั่งภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแม้จะมีเครื่องเตือนภัย ประชาชนก็อาจหนีไม่ทันอยู่ดี
นอกจากตัวเลขผู้เสียชีวิตที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 1,459 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มยอดผู้สูญหายเป็น 150 ราย และมีผู้อพยพออกจากที่อยู่อาศัยราว 16,000 ราย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: