เมื่อพูดถึง จังหวัดสกลนคร ผู้คนมักจะมีภาพจำเกี่ยวกับเมนูเปิบเนื้อสุนัข หรือที่ภาษาถิ่นเรียกกันโต้งๆ ว่ากินเนื้อหมา ซึ่งกลายเป็นเรื่องพูดกันสนุกปากอยู่เรื่อยมาเวลาที่ต้องสนทนาเรื่องราวทำนองนี้
โดยเฉพาะที่ หมู่บ้านท่าแร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หมู่บ้านนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย
หากย้อนกลับไปหลายสิบปี สถานที่แห่งนี้ มีชื่อเสียงเลื่องลือเกี่ยวกับการค้าขายเนื้อหมา อย่างมาก ชาวบ้านในท้องที่เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนนั้นทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทำกันจนรวย เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มาก แม้แต่ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่แตกตอนปี 2540 การทำธุรกิจนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ” เสียงยืนยันจากคนในพื้นที่เมื่อหวนถึงอดีตที่เฟื่องฟู
การค้าเนื้อหมาแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะปัจจุบันมีกฎหมายที่ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ทำให้เกิดความหวั่นเกรง ส่วนกลุ่มคนที่นิยมกินนั้นก็ไม่ใช่คนท้องที่ หากแต่เป็นชาวกัมพูชาหรือเวียดนาม พูดง่ายๆ คือคนในพื้นที่ไม่นิยมกินเลยด้วยซ้ำ
นั่นเป็นเรื่องของ ‘คนกินหมา’ ที่สร้างความโด่งดังให้บ้าน ‘ท่าแร่’ หรือ ‘ท่าแฮ่’ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ท่าแร่คือชุมชนคริสตชนที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศไทย
ชุมชนคริสตชนท่าแร่ หมู่บ้านคาทอลิกในภาคอีสาน
หลังจากเท้าแตะที่สนามบินสกลนคร คำนวณระยะทางจากตัวเมืองไปยังบ้านท่าแร่ก็ประมาณ 21 กิโลเมตร ขับรถมุ่งตรงไปยัง ‘ตลาดสดเทศบาลตำบลท่าแร่’ ศูนย์กลางแหล่งชุมนุมพบปะของชาวบ้าน เพื่อตามหาเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้
เดินสำรวจตลาดอยู่พักใหญ่ พบของกินหลากหลาย พืชผักที่ชาวบ้านปลูกเองนำมาวางขาย บรรดาสัตว์อาหารนานาชนิด เช่น กบ ปลา ที่หาได้จากหนองหารก็ถูกนำมาวางให้เลือกซื้อ ไม่นับรวมอาหารพื้นเมือง หรืออาหารทั่วไปที่เราคุ้นเคยในการซื้อรับประทานก็มีอยู่หลายเมนู
เมื่อเข้าไปทักทายสอบถามชาวบ้านก็ได้รับการตอบกลับด้วยอัธยาศัยไมตรีที่เป็นมิตร มีบ้างบางคนที่สงสัยว่านี่มาทำอะไรกัน
ความสงสัยเกี่ยวกับ ‘การกินเนื้อหมา’ หรือเป็นแหล่งผลิตถูกเฉลยไปแล้วตามที่ได้เล่ามาก่อนหน้านี้
แต่ที่เราสงสัยอีกอย่างคือ ระหว่างขับรถผ่านมาจะสังเกตเห็นสุสานของผู้นับถือศาสนาคริสต์ และมีโบสถ์ตั้งเด่นอยู่ริมถนนนั้น ศาสนสถานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร
แทบทุกคนในตลาดพร้อมมากที่จะตอบคำถามนี้
‘ท่าแร่’ เป็นหมู่บ้านที่มีจำนวนคนนับถือศาสนาคริสต์คาทอลิกมากที่สุดในประเทศไทย
และเพื่อทำความเข้าใจ ‘หมู่บ้านท่าแร่’ ให้มากขึ้นอีก จึงมีผู้นำเราไปหาคำตอบจากปราชญ์ในชุมชน
ทศพร ดำรงไทย อดีตข้าราชการครูบำนาญ เปิดประตู ‘บ้านร่มเย็น’ ต้อนรับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอย่างเป็นมิตร บรรยากาศบ้านของเธอร่มเย็น สงบตามชื่อบ้านที่เธอตั้ง ในบ้านประดับประดาด้วยภาพถ่ายอันเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า และศาสนาคริสต์
เธอเล่าว่าชุมชนบ้านท่าแร่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมา 100 กว่าปีแล้ว ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์
ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน ประมาณปี พ.ศ. 2427 คุณพ่อโปรดม คุณพ่อซาเวียร์ เกโก พระสงฆ์ คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และครูทัน ครูเณรชาวเวียดนาม ได้เดินทางจากอุบลราชธานีมานครพนม และตั้งกลุ่มคริสตชนที่นั่น
เดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น คุณพ่อโปรดมและครูทันเดินทางไปสกลนครเพื่อเยี่ยมคริสตชนที่มาจากเวียดนาม พร้อมมอบคำสอนแก่พวกเขา
ถัดมาในเดือนสิงหาคม คุณพ่อโปรดมและคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ได้เปิดศูนย์คาทอลิกสกลนคร ซึ่งเป็นโรงสวดชั่วคราวระหว่างหนองหารกับตัวเมือง และในวันที่ 8 กันยายน 2427 ได้โปรดศีลล้างบาปแก่คริสตชนกลุ่มแรกที่นี่
ในช่วงแรกนั้นมีผู้สมัครเป็นคริสตชนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงาน และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ
ต่อมาเมื่อมีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นความยากลำบากในการจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและเพื่อทำกินในเขตตัวเมืองสกลนคร ประจวบกับในสมัยนั้นถูกกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่ จึงมีความคิดที่จะหาทำเลใหม่เพื่อตั้งหมู่บ้านขึ้น
เดือนพฤศจิกายน คุณพ่อซาเวียร์ เกโก และครูทัน ได้ตัดสินใจอพยพย้ายกลุ่มคริสตชนกลุ่มแรกประมาณ 150 คน 20 ครอบครัว โดยการทำแพขนาดใหญ่ล่องออกจากตัวเมืองสกลนคร ข้ามทะเลสาบหนองหารไปสู่ดินแดนแห่งใหม่ ซึ่งก็คือ ‘หมู่บ้านท่าแร่’ ในวันนี้
จากเอกสารของเทศบาลตำบลท่าแร่อธิบายเกี่ยวกับที่นี่ว่า บริเวณที่เป็นบ้านท่าแร่ในปัจจุบันแต่เดิมเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ใหญ่น้อยตามลักษณะป่าไม้เขตร้อนชื้น ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับหนองหาร ซึ่งก่อน พ.ศ. 2482 ยังไม่มีประตูน้ำกั้นน้ำหนองหาร ในฤดูแล้ง บ้านท่าแร่จะอยู่ลึกจากริมฝั่งหนองหารประมาณ 3 กิโลเมตร สภาพที่เป็นป่าใกล้ลำน้ำจึงมีสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนมีปลาชุกชุม นับเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของบริเวณริมหนองหาร
การตั้งชุมชนครั้งแรกที่บ้านท่าแร่เป็นชุมชนชาวคริสตังที่อพยพมาจากตัวเมืองสกลนคร ซึ่งเป็นทั้งชาวญวนและชาวไทญ้อที่ไม่พอใจการกีดกันการนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกของกลุ่มผู้ปกครองเมืองสกลนครในสมัยนั้น (สมัยรัชกาลที่ 5)
ทั้งนี้ด้วยเหตุที่กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสตังจะมีการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาแตกต่างจากพุทธศาสนิกชน เช่น การทำพิธีมิสซา การรับศีลล้างบาป โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับนโยบายของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ต้องการให้บ้านเมืองบำรุงพุทธศาสนา มิให้มีการทำลายพุทธศาสนา และถือเป็นนโยบายหลักของเจ้าเมืองด้วย กลุ่มชาวญวนคริสตังจึงถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ
ศรัทธาสร้าง ‘ท่าแร่’ พื้นที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีคุณค่า
ภูมิทัศน์เพลิดเพลินตา เสน่หาธรรมชาติหนองหาร โบราณสถานบ้านร้อยปี สืบสานงานประเพณีแห่ดาวและจุดเทียน ศูนย์การเรียนคริสต์ศาสนา งามล้ำค่าสถาปัตยกรรม สวยเลิศล้ำผังเมืองดี สามัคคีเป็นศักดิ์ศรีของชุมชน
นี่คือคำขวัญที่ชุมชนได้ตั้งขึ้น อันเป็นเสมือนคำจำกัดความให้คนทั่วไปได้เห็นภาพชุมชนแห่งนี้ง่ายขึ้นว่ามีความโดดเด่นและเอกลักษณ์อะไรบ้าง
หมู่บ้านท่าแร่เรียกได้ว่าเป็นชุมชนสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในจังหวัดสกลนคร ถือเป็นศูนย์กลางของคาทอลิกระดับเขตที่เรียกว่า ‘มิสซังท่าแร่-หนองแสง’ ครอบคลุมเขตการปกครองถึงจังหวัดนครพนมด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร โดยมีโบสถ์อยู่ 1 แห่งคือ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ที่ใช้ประกอบพิธีการทางศาสนา ซึ่งสร้างจากความศรัทธาของผู้คนในหมู่บ้าน
โดยอาสนวิหารแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีลักษณะเป็นรูปเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสื่อถึงการนำคริสตชนฝ่าคลื่นลมสู่ความสำเร็จ และความรุ่งเรือง เช่นเดียวกับเรือสำเภาโนอาห์ในพระคัมภีร์ ซึ่งผู้คนทั่วไปสามารถมาเยี่ยมชมได้
ทศพร ดำรงไทย เล่าให้ฟังอีกว่า คนท่าแร่นั้น ปกครองกันแบบเอาศาสนานำ หมายถึงเอาศรัทธานำในการอยู่ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น นายกเทศมนตรีก็เป็นคริสต์ และปัจจุบันกว่า 90% เป็นชาวคริสต์นิกายคาทอลิก
“เวลาประชาชนจะเลือกผู้ปกครอง เช่น นายกเทศมนตรี เขาก็จะดูจากเบื้องหลัง ดูพื้นเพความเป็นมา ความดีที่สั่งสม พลังมวลชนเลือกเข้ามาต้องมีศักยภาพ แต่ไม่ได้บอกว่าคนศาสนาอื่นไม่เลือก ต้องยอมรับว่าที่นี่เป็นคริสต์ส่วนใหญ่ มันก็ไม่แปลกที่จะเลือกคนคริสต์”
อีกเรื่องหนึ่งเธอเล่าว่า หากใครมาที่ท่าแร่จะสังเกตว่าแทบจะไม่มีธนาคารของรัฐหรือเอกชนมาตั้งทำการ ด้วยสาเหตุว่าไม่สามารถสู้กับเครดิตยูเนี่ยนของคาทอลิกที่มีอยู่เดิมได้ ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นหลักพันล้าน มีคณะกรรมการชุมชนดูแล และจ้างคนมีฝีมือมาบริหาร
“ท่าแร่เจริญเพราะศาสนานำ” เธอย้ำอีกครั้ง
เธอยังเล่าถึงความสำเร็จของคนท่าแร่อีกว่า มี ส.ส. จังหวัดสกลนครที่มาจากคนในตำบล มีวัดคริสต์เป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชาวบ้าน แถมท่าแร่ยังเจริญกว่าเมืองของสกลนครในบางจุด ที่สำคัญ คนท่าแร่ขายแรงงานออกไปต่างแดนมากที่สุดทั่วทุกมุมโลก และนำเงินกลับมาทำบุญ ช่วยเหลือชุมชน เพราะมีการฝึกภาษาอังกฤษให้เด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย วัดที่ใหญ่ที่สุดในชุมชน งบประมาณสร้างกว่าร้อยล้านก็เกิดจากแรงศรัทธาของชุมชน
ประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของชุมชนในสมัยความแตกแยกทางอุดมการณ์ที่ลามไปถึงศาสนา กรณีพิพาทอินโดจีน ที่ชาวไทยคริสต์ถูกกล่าวหาจากรัฐว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ถูกเล่าขานผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก เพื่อให้รำลึกถึงการต่อสู้และบทเรียนแห่งความเจ็บปวดเหล่านั้น
ขณะที่การเรียนรู้ศาสนารวมทั้งประวัติศาสตร์ต่างๆ เด็กนักเรียนในชุมชน จะต้องผ่านการสอนจากโรงเรียนศาสนาวันละ 1 ชั่วโมงตอนเช้า ก่อนจะเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจ ชาวบ้านประหยัด เรียบง่าย ขยันในการทำมาหากิน ประชากรจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และเนื่องจากเป็นชุมชนเก่าและมีผู้คนหลายกลุ่มอาศัยในชุมชนแห่งนี้ ทำให้มีอาคารมีสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ กล่าวคือใช้อาคารเป็นที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาหรือโบสถ์
บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นรูปแบบใหม่ที่เป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน หรือเป็นสไตล์โมเดิร์นผสมผสานเหมือนบ้านในเมือง แต่ลักษณะอาคารเก่าจะเป็นแบบเรือนเกย ส่วนชานบ้านที่มีหลังคาคลุมใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์นั่งเล่น รับแขก รับประทานอาหาร พื้นเป็นไม้กระดาน
ขณะเดียวกัน อาคารเก่าที่สร้างมานาน 80-90 ปีก็ยังถูกอนุรักษ์ไว้ให้ผู้คนได้มาสัมผัสถึงความเจริญรุ่งเรือง ถูกสร้างขึ้นเป็นตึกปูนทรงยุโรปในรูปแบบสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสผสมเวียดนาม ด้วยการใช้ภูมิปัญญาช่างและประสบการณ์การก่อสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูน ไม่มีช่างใดทำได้ และไม่ค่อยพบเห็นที่ไหนอีกด้วย
ด้วยพลังศรัทธาในพระเจ้าและพระศาสนา ทุกๆ วันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ที่หมู่บ้านท่าแร่จะมีการจัดเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส โดยจัด ‘ขบวนแห่ดาวคริสต์มาส’ ซึ่งหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลจะจัดขบวนแห่มาร่วมฉลองกัน
เพราะมีความเชื่อว่า ‘ดาว’ เป็นสัญลักษณ์ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ของพระเยซู
โดยขบวนรถจะมีการตกแต่งด้วยดาวขนาดใหญ่ ประดับประดาด้วยดวงไฟอย่างสวยงาม เพื่อสื่อถึงเรื่องราวการประสูติของพระเยซู มีรถเข้าร่วมขบวนหลายร้อยคัน และมีคริสตชนจากทั่วประเทศ รวมทั้งต่างชาติเข้าร่วมเทศกาลนี้จำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็มาเข้าร่วมเพื่อสัมผัสบรรยากาศด้วย
ขณะที่ชาวบ้านก็จะตกแต่งโคมไฟรูปดาวไว้ที่หน้าบ้าน มีการเฉลิมฉลองในหมู่คริสตชนด้วยการร้องเพลงประสานเสียง และกิจกรรมอื่นๆ ตลอดทั้งคืน
ชาวบ้านที่นี่พร้อมเสมอที่จะต้อนรับทุกคนเพื่อมาสัมผัสพื้นที่ชีวิตและวัฒนธรรมที่มี ‘คุณค่า’ ของพวกเขา
และนี่คือเรื่องราวเพียงบางส่วนจากอีกมุมหนึ่งของ ‘บ้านท่าแร่’ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องราวของคนกินหมาเท่านั้น