หากถามว่า “ประเทศใดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในความคิดของคุณ?”
‘ญี่ปุ่น’ จะเป็นหนึ่งในคำตอบอันดับต้นๆ ของคำถามนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเราจะพบเห็นข่าวการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นตามหน้าสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง จนดูคล้ายกับเป็นเทรนด์ ถึงกับมีการจัดอันดับสถานที่ยอดฮิตที่คนญี่ปุ่นนิยมไปฆ่าตัวตายกันเลยทีเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความนิ่งนอนใจให้แก่ทางการญี่ปุ่นแต่อย่างใด รัฐบาลมีการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยได้อนุมัติแผนการระยะยาวต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวในวันนี้ (25 ก.ค.) รวมถึงตั้งเป้าจะลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนภายในประเทศลง 30% ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายของพลเมืองสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่าง G7 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตของพลเมืองที่ย่ำแย่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรมของเอเชียจะต้องเร่งแก้ไข
จากการรายงานสถิติเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายครั้งล่าสุด (2015) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 21.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือมีจำนวนคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายมากกว่า 20,000 คนต่อปี ซึ่งถือว่ากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ทางการญี่ปุ่นจึงตั้งเป้าที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนภายในประเทศให้ต่ำลงกว่า 13.0 คนต่อประชากร 1 แสนคน ภายในปี 2025
ประเทศที่ผู้คนในเมืองดูเหมือนจะใช้ชีวิตเร่งรีบตลอดเวลานี้เคยมีสถิติคนฆ่าตัวตายสูงสุดถึง 34,427 คนในปี 2003 ก่อนที่ตัวเลขจะลดลงเหลือ 21,897 คนในปีที่ผ่านมา (2016) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการที่ญี่ปุ่นปรับใช้และคอยประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายทุกๆ 5 ปี หลังจากที่เริ่มหารือกันอย่างจริงจังครั้งแรกในปี 2007 และมีการประชุมประเมินผลครั้งที่ 3 ก่อนที่จะตั้งเป้าหมายใหม่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในวันนี้
หนึ่งในสาเหตุยอดฮิตที่ทำให้คนญี่ปุ่นเสียชีวิต
สาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นตัดสินใจฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวพันกับการทำงานของพวกเขา ‘ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป’ ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับรวมเรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานหรือลักษณะนิสัยของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะเจ้านายที่อาจจะจู้จี้ อารมณ์ร้อนหรือโมโหร้าย ที่อาจจะสร้างภาวะตึงเครียดและความกดดันให้แก่พวกเขามากยิ่งขึ้นไปอีก
จนทำให้คนญี่ปุ่นหลายคนตัดสินใจฆ่าตัวตายและอาจจะประสบกับปัญหาป่วยเป็นโรค ‘Karōshi’ หรือที่เรียกว่า ‘สภาวะการทำงานหนักมากเกินไปจนตาย (Overwork Death)’ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายจะเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จากภาวะหัวใจวายและเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อันเกิดจากความเครียดสะสมและการอดอาหาร (รับประทานอาหารผิดวิธี) ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นอย่างจีนและเกาหลีใต้อีกด้วย
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมามีรายงานว่า คนงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาเเห่งหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังจากบริษัทให้ทำงานล่วงเวลามากจนเกินไป เพื่อเร่งเดินหน้าสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ ที่จะใช้เป็นสนามหลักในการเเข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2020 ให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด
มีการเปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมก่อนที่ชายคนนี้จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย เขามีชั่วโมงการทำงานทั้งหมดตลอดทั้งเดือนสูงถึง 211 ชั่วโมง 51 นาที ทำให้ร่างกายของเขาอ่อนล้าและมีความเครียดสะสม จนตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งเขาได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้หนึ่งฉบับ ใจความว่า “ฉันไม่รู้จะหาทางออกด้วยวิธีไหนแล้ว นอกจากวิธีนี้ (ฆ่าตัวตาย) เพราะสภาพร่างกายและจิตใจของฉัน มันถึงขีดสุดแล้วจริงๆ”
ยาสุฮิสะ ชิโอซากิ (Yasuhisa Shiozaki) รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ จะต้องลดชั่วโมงการทำงานลง เพื่อความปลอดภัยในด้านต่างๆ ของแรงงาน
อีกทั้งทางการญี่ปุ่นยังได้จัดทำแบล็กลิสต์บริษัทต่างๆ ภายในประเทศที่บังคับให้พนักงานทำงานมากจนเกินไป (มีจำนวนการทำงานล่วงเวลาเกิน 100 ชั่วโมงต่อเดือน) หนึ่งในนั้นคือ บริษัทด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์รายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Dentsu Inc. ที่ทำให้ มัตสึริ ทาคาฮาชิ (Matsuri Takahashi) พนักงานสาวของบริษัทเสียชีวิตจากโรค ‘Karōshi’ จนเป็นข่าวใหญ่โตในปี 2015
ในวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงอนุมัติแผนการที่จะต่อต้านการทำงานมากจนเกินไปของพลเมือง (โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว) โดยจะปรับลดชั่วโมงการทำงานลง รวมถึงป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของนายจ้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย
…แล้วคุณล่ะ กำลังเครียดหรือรู้สึกเมื่อยล้าจากการทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?
Photo: Hector Garcia
อ้างอิง:
- www.who.int/gho/mental_health/suicide_rates/en
- www.afp.com/en/news/23/japan-aims-reduce-suicides-30-10-years
- afsp.org/about-suicide/risk-factors-and-warning-signs
- www.japantimes.co.jp/news/2017/07/21/national/crime-legal/suicide-tokyo-olympics-stadium-worker-deemed-death-overwork-lawyer/#.WXcI28aB3-Y
- www.japantimes.co.jp/community/2016/10/23/issues/time-consign-death-overwork-japans-history/#.WXcg5caB3-Y