1
ดวงตะวันยามนี้หลบเร้น เหมือนไม่อยากรับรู้เรื่องราว
เวิ้งหาดยาวเหยียดร้างผู้คน พื้นหาดเกลื่อนด้วย เศษไม้ เศษอวน ถุงพลาสติก ปลาเน่าและเศษอื่นอีกมากมาย มันเป็นเศษที่ทะเลกวาดต้อนขึ้นมาทิ้งไว้กับชายหาด ดั่งจะบ่งบอกกับชายหาดว่าเศษซากเหล่านี้ มันไม่ต้องการ
หมาพันธุ์พื้นเมืองสามสี่ตัวเวียนวนวิ่งหาอาหารอยู่ชายหาด ไม่หวาดหวั่นสายฝนที่สาดซ่าลงมา เจ้าตัวเล็กยืนแทะซากปลาในขณะคำรามขู่ เจ้าตัวใหญ่จดจ่อเข้าดมดอม และแล้วสงครามก็เกิดขึ้นท่ามกลางสายฝน’
2
จากบท ‘นำร่อง’ (หน้าที่ 14) ของ พันธุ์หมาบ้า นวนิยายเล่มหนา ตีพิมพ์ 647 หน้า ที่เป็นอะไรมากกว่านวนิยายสำหรับนักอ่าน งานเขียนขึ้นหิ้งโดย ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2547 และนักเขียน 2 รางวัลซีไรต์คนแรกของเมืองไทย จากนวนิยาย คำพิพากษา ในปี 2525 และ เวลา ในปี 2537
ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ พันธุ์หมาบ้า จะกลายเป็นนวนิยายที่ตัวผู้เขียนมักบอกเล่าเสมอ (เมื่อมีโอกาส) ว่ามันคือความจริงเพียงบางส่วน ในเสี้ยวส่วนชีวิตวัยหนุ่มของชาติและผองเพื่อน ‘เพื่อน’ ซึ่งเขายึดถือเป็นดังศาสนา ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ลลนา โดยทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ปักษ์แรกของเดือนสิงหาคม 2528 ถึงเดือนธันวาคม 2530
กระทั่งมีรวมเล่มครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2531 และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง อย่างยาวนานจนมาถึง 30 ขวบปีแล้วในวันนี้
พันธุ์หมาบ้า ถือเป็นหนังสือขายดี และยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ว่ากันว่ามันคือหนังสือที่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่เล่าขาน บอกต่อให้ ‘เพื่อน’ ได้ลองอ่าน เรื่องราวว่าด้วยมิตรภาพระหว่างผองเพื่อนที่เต็มไปด้วยวีรกรรมเจ็บแสบในช่วงวัยแห่งการแสวงหา ซึ่งเต็มไปด้วยความคึกคะนอง และพร้อมที่จะใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ทุกบท ทุกตอน ทุกรสชาติ อิ่ม อด หยดน้ำตา และอาการเมามาย เล่าผ่านตัวละครที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อย่าง ทัย ชวนชั่ว เล็กฮิป อ๊อดโต แก่ ล้าน สำลี ฯลฯ นอกจากเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจที่ทำให้ ‘นักอ่าน’ เติบโตขึ้น หากแต่มากไปกว่านั้น ตัวละครเหล่านี้ยังกลายเป็นดั่ง ‘เพื่อน’ และญาติมิตร ที่นักอ่านรู้สึกผูกพันเมื่ออ่านจนถึงหน้าสุดท้าย
และก็เพราะด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้นวนิยายอย่าง พันธุ์หมาบ้า ยังคงเป็นงานอมตะที่ผู้ที่ได้อ่านหลงรัก และมักจะนึกถึงเสมอแม้จะผ่านการเวลาเข้าสู่หลัก 30 ซึ่งสำหรับชีวิตมนุษย์ มันคือช่วงวัยแห่งความสุขุมลุ่มลึก หลังจากผ่านช่วงเวลาคึกคะนองมาอย่างเต็มที่
3
‘เก็บวิ่งดีจากหนังสือไปใช้ จำสิ่งชั่วไปเตือนตน’
สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังอยู่ในวัยรุ่น-วัยคะนอง ผมใคร่ขอร้องว่า ขอให้อ่านเรื่องนี้อย่างพินิจพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นแม่แบบที่เก๋ไก๋เพียงผิวเผิน ไม่ใช่เป็นแม่แบบที่ดีสำหรับการดำเนินชีวิต ตรงข้าม กลับเป็นอุทาหรณ์ให้พึงสังวรไว้ว่า ชีวิตวัยรุ่นนั้นแม้ก้าวพลาดเพียงก้าวเดียว อาจทำให้ชีวิตหันเหเป็นอย่างอื่น ที่เราต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
ในบรรดา ‘เพื่อน’ ของผมกลุ่มนี้ ถึงวันนี้เสียชีวิตไปแล้วถึงเจ็ดคน เสียชีวิตไปทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยอันควร เสียชีวิตไปกับยาเสพติดบ้าง อุบัติเหตุอันเกิดจากความเมามายบ้าง ถูกดักทำร้ายบ้าง ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเสียใจให้กับคนที่อยู่ข้างหลังทั้งสิ้น ทั้งพ่อแม่และญาติมิตร
เจ็ดศพนี้คงเป็นหลักฐานเพียงพอแล้วที่ท่านจะอ่านอย่างไตร่ตรองให้รอบด้านขึ้น…
‘เก็บวิ่งดีจากหนังสือไปใช้ จำสิ่งชั่วไปเตือนตน’ โดยไม่ต้องไปลองเสี่ยงเอง เพียงเพราะว่าอยากลองเท่านั้น และผมขอยืนยันตรงนี้ว่า ผมไม่เชื่อว่าคนที่รักการอ่านหนังสือจะต้องมาเสียคน เพราะการอ่านหนังสือ
ชาติ กอบจิตติ เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2530
*และเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ชาติ กอบจิตติ ร่วมด้วยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย สำนักพิมพ์หอน และนิตยสาร สีสัน จะมีงาน 30 ปี พันธุ์หมาบ้า ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หากแฟนหนังสือท่านใดอยากพบปะพูดคุยกันด้วยบรรยากาศแบบ ‘มิตรภาพแบบผองเพื่อน’ สามารถไปเจอกันได้ เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล