×

ใกล้อวสาน ‘ยิ่งลักษณ์’ กับคดีจำนำข้าว จุดจบหรือจุดเริ่มต้นความระอุการเมืองไทย?

21.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • 25 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตกเป็นจำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าว สิ้นสุดการรอคอยของทุกฝ่าย พร้อมชี้ชะตาอุณหภูมิทางการเมืองในปี 2560

     “ขอให้ติดตามการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 สิงหาคมนี้”​ คือประโยคที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อ หลังการไต่สวนพยานคดีจำนำข้าวในนัดสุดท้าย พร้อมบอกส่งท้ายว่า “วันนี้จะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ขอบคุณสื่อและประชาชนที่มาให้กำลังใจ”

     วันนี้ฝ่ายจำเลยนำพยาน 3 ปากเข้าไต่สวน โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น และถือว่ากระบวนการไต่สวนจบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ได้นัดให้คู่ความมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 9.00 น. ต้องกาดอกจันปฏิทินการเมืองไว้ทันที

     เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน หากนับจุดสตาร์ทของคดีที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 โดยอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีการทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐกว่า 5 แสนล้านบาท

     คดีนี้ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยรวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด เริ่มไต่สวนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559

     โดยศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม ฝ่ายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยานไป 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด ขณะที่ฝ่ายจำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด

     เส้นทางการต่อสู้คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ยังเหลือขั้นตอนการแถลงปิดคดีด้วยวาจา และต้องทำคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาลภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ก่อนจะมีการตัดสินคดีตามวันเวลาที่ศาลได้นัดคู่ความ

 

พยาน 3 ปากสุดท้ายขึ้นไต่สวน

     ในการสืบพยานฝ่ายจำเลยปากแรก นายพศดิษ ดีเย็น อดีตหัวหน้าคลังสินค้า องค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวภายหลังการเบิกความเป็นพยานตอนหนึ่งว่า หลังการรัฐประหาร รัฐบาล คสช. ได้มีคำสั่งโดยกระทรวงพาณิชย์ให้ยกเลิกการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เคยติดตั้งอยู่ที่โกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำ รวมถึงสั่งเปลี่ยนคณะบุคคลที่ถือกุญแจ และตั้งแต่ปี 2557-2559 กระทรวงพาณิชย์ห้ามมิให้มีการเปิดโกดังข้าวเพื่อรมยาตามปกติ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวในโครงการรับจำนำ ได้รับความเสียหาย

     ขณะที่ นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุว่า กรณีข้าวถุงที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีการสูญหายไป 2.5 ล้านตัน จำนวนการสูญหายที่แท้จริงมีเพียงแค่ 5 แสน 9 หมื่นกว่าตันเท่านั้นจากการตรวจสอบย้อนหลังในระบบ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพียง 1 ใน 5 ของการนำเสนอข่าว

     ด้าน รศ.ดร. กิตติ ลิ่มสกุล นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยไซตามะ พยานปากสุดท้ายชี้ว่า หากโครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าตามระบบจนเสร็จสิ้นและไม่มีรัฐประหาร โครงการนี้ก็จะไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน แต่โครงการนี้จะเป็นผลดี ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากมีมาตรการสร้างความสมดุลให้ชาวนามีส่วนแบ่งการตลาด จากเดิมที่ผูกขาดโดยโรงสี ประโยชน์จึงเกิดกับชาวนาระดับกลางและล่าง ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศ อีกทั้งการใช้งบประมาณไม่เกิน 60% ของจีดีพี ถือว่าโครงการนี้ไม่เกินกรอบวินัยการเงินและการคลัง

 

อ่านคำพิพากษา 2 คดีข้าววันเดียวกัน

     ขณะที่ในตอนท้าย ประเด็นที่ทีมทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่

     ปรากฏว่าศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาให้ยกคำร้องดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการใช้คำที่มีความหมายเดียวกัน ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลให้โอกาสคู่ความนำพยานบุคคลไต่สวนเต็มที่แล้ว

     ขณะที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นวันเดียวกันกับที่ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีทุจริตจีทูจีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย เนื่องจากข้อเท็จจริงและหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษามีจำนวน 5 คนที่ร่วมพิจารณาทั้ง 2 สำนวน

 

จับตา 25 สิงหาคม อุณหภูมิร้อนการเมือง

     ขณะที่กูรูการเมืองล้วนเห็นตรงว่า คดีโครงการรับจำนำข้าวที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกผู้นี้ตกเป็นจำเลย จะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ปลุกให้อุณหภูมิการเมืองต้องร้อนแรงในปี 2560 อย่างแน่นอน

     คำถามที่ถาโถมเธอก่อนหน้านี้ว่าจะ ‘หนี’ ตามรอยพี่ชายหรือไม่นั้น เธอได้เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ทั้งน้ำตามาแล้ว เมื่อวันคล้ายวันเกิด 21 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า

     “วันนี้ดิฉันก็อยู่ที่นี่ ยืนที่จะพิสูจน์ความจริง และหวังว่าสิ่งที่ดิฉันพิสูจน์ความจริงนี้จะทำให้ทุกอย่างรอดพ้นจากคดี เพราะเราก็เชื่อในความบริสุทธิ์ของเราในการที่จะต่อสู้” และเธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเธอไปศาลทุกนัด ทุกขั้นตอน เธอไม่เคยขาด

     ขณะที่สื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่มาเกาะติดสนามข่าววันนี้ก็พยายามเค้นหาคำตอบยืนยันเรื่องนี้จากเธอ แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ มีเพียงประโยคที่ว่า “ให้ติดตามการแถลงด้วยวาจาในวันที่ 1 สิงหาคม” เธอบอกว่าเธอจะพูดทุกเรื่องทั้งหมด

     มีผู้ประเมินว่าวันนี้เป็นเพียงวันไต่สวนพยานนัดสุดท้าย มวลชนที่ส่งกำลังใจให้เธอยังเดินทางมามากขนาดนี้ หากเป็นวันนัดชี้ชะตาอนาคตของเธอว่าจะเดินเข้าสู่เรือนจำหรือรอดปลอดภัย มวลชนน่าจะหลั่งไหลมาจากหลายพื้นที่

     เพราะที่ผ่านมา การเดินสายพบปะมวลชน จัดงานมีตติ้งแฟนคลับ หรือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารหลายๆ เรื่อง มีผู้มองว่าเป็นหมากทางการเมืองที่เธอพยายามสื่อสาร ไม่นับรวมความอัดอั้นตันใจที่ปรากฏออกมาจากหยดน้ำตาของเธอ

     “ของพวกนี้ นักการเมืองอย่างเราแค่อ้าปากก็มองออกแล้ว เราต้องตามให้ทันทางการเมืองเหมือนกัน” คือถ้อยคำที่ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อถึงปรากฏการณ์หมากนี้ของอดีตนายกฯ

 

     และ 25 สิงหาคมนี้ คือวันแห่งคำตอบที่ทุกฝ่ายรอคอย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising