“แย่แล้ว นักท่องเที่ยวจีนหายไปหมดเลย”
เราอาจได้ยินประโยคดังกล่าวมาบ้าง หลังจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ตามมาด้วยแรงกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกาและจีน จำนวนนักท่องเที่ยวแดนมังกรลดลงอย่างชัดเจน ทั้งจากความขุ่นข้องหมองใจกับเรื่องบางเรื่อง และเงินในกระเป๋าที่ไม่ได้เยอะเหมือนแต่ก่อน จนบางส่วนเริ่มเกิดความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และพากันมองว่าวิกฤตการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปฏิเสธและชี้ว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องอธิบายให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังชูประเด็นเรื่องเมืองรอง ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะผลักดันอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วย นี่คือบทสัมภาษณ์พิเศษจากรายการ THE STANDARD BizKlass ของสำนักข่าว THE STANDARD
เข้าใจไฮซีซันแบบจีนและก้าวใหม่ของการท่องเที่ยวไทย
“เรือล่มที่ภูเก็ตเป็นปฐมเหตุ ไม่มีใครอยากให้มันเกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้ว”
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะ 35 ล้านคนในสิ้นปี 2561 ถือเป็นจำนวนที่สูงติดอันดับโลก หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญกับภาคการท่องเที่ยวไทยหนีไม่พ้นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ทุกประเทศต่างต้องการตัว สำหรับเหตุกาณณ์เรือล่มนั้น วีระศักดิ์ชี้ว่ามีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศไทย และต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว
“ยอมรับว่านักท่องเที่ยวจีนมีหายไปบ้างช่วงหนึ่ง แต่ตอนนี้ทยอยกลับเข้ามาแล้ว ยอดนักท่องเที่ยวจีน 10 เดือนแรกของปีนี้ยังเติบโต 10% ในตลาดอื่นโตขึ้น 20-25% อย่างฮ่องกงก็โต 15% ไต้หวันขยายตัว 12% ตลาดผู้ที่พูดภาษาจีนโดยรวมถือว่าโตขึ้น”
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการแก้ไขที่ต้นเหตุ เพราะนี่ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่มีชาวจีนเสียชีวิตนอกประเทศเกือบ 50 ชีวิต สูงเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์ เป็นรองจากเหตุการณ์ช็อกโลกที่เครื่องบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์หายไปจากน่านฟ้าอย่างไม่มีวันหวนกลับเท่านั้น ซึ่งทางรัฐบาลจีนจำเป็นต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
“ถ้าบอกว่านักท่องเที่ยวหาย อย่างนั้นเรารีบลดราคาเพื่อดึงคนกลับมาเถอะ มันทำไม่ได้ ยังไม่ได้แก้ที่เหตุเลย จะไปแก้ที่ผลแล้ว ถ้าพากันกลับมามากๆ แล้วเกิดเหตุอีกจะทำยังไง คนที่ตายไปเราจะอธิบายเขายังไง อย่าเพิ่งรีบใช้นโยบายด้านราคา เพราะมันตอบที่ผล ไม่ใช่เหตุ คำถามคือเราจะรื้อระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยของการท่องเที่ยวไทยได้อย่างไรต่างหาก”
ขณะนี้เรือที่เกิดเหตุถูกกู้ขึ้นมาแล้ว ซึ่งทางการไทยสั่งอายัดเด็ดขาด ห้ามไม่ให้ใครแตะต้องหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรือแม้แต่ทางตำรวจเอง ซึ่งกรณีนี้มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าชุดเอง พร้อมกับติดกล้องวงจรปิดติดตาม 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการทำลายหลักฐาน ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งหาคำตอบเรื่องเรือล่มเพื่อตอบคำถามรัฐบาลจีนโดยด่วนที่สุด
สิ่งที่น่าสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนคือ ช่วงไฮซีซันและโลว์ซีซันที่ไม่ตรงกับประเทศตะวันตก วีระศักดิ์ชี้ว่าหลังจากเดือนตุลาคมของทุกปี จะไม่ใช่เทศกาลท่องเที่ยวของจีนแล้ว ซึ่งแตกต่างจากชาวตะวันตกที่เดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลคริสต์มาส นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี และขยายตัวต่อเนื่องไปจนสิ้นไตรมาส 3 เป็นวัฏจักรแบบนี้มาหลายปีแล้ว
“เข้าใจผิด คนที่พูดเขาไม่เห็นภาพรวม ที่ผ่านมามีดราม่าเยอะ บางคนไปถ่ายคลิปสนามบินแล้วก็บอกว่ามันร้างแล้ว ไปถ่ายเชียงใหม่ก็บอกว่าไม่มีคนมาเที่ยวแล้ว แต่พอเราไปตรวจจริง มันก็ไม่ได้ผิดปกติ คิวก็ยังแน่นอยู่ สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือนักท่องเที่ยวจีนมาไทยคิดเป็นสัดส่วน 30% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากอาเซียนก็สูงถึง 30% หรือประมาณ 10 ล้านคน ชาวสิงคโปร์เดินทางมาไทยครบ 1 ล้านคนเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ แสดงว่ามากันคนละหลายรอบ เช่นเดียวกัน คนอเมริกันก็บินมาเที่ยวไทยแตะ 1 ล้านคนแล้ว ถือว่ามีลูกค้าท่องเที่ยวเยอะและเป็นตลาดที่มีศักยภาพ”
วีระศักดิ์ขยายความประเด็นนักท่องท่องเที่ยวจีนหดตัว กลุ่มที่หายไปคือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษและเลือกเดินทางกับกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือราว 6.6 แสนบาทต่อปี ขณะที่กลุ่ม FIT (Free Independent Travellers) ที่เดินทางท่องเที่ยวเองกำลังเติบโตอย่างมาก และกลุ่มคนจีนที่ฐานะดี รายได้เฉลี่ยสูงกว่า 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ ตัวเลขก็ยังนิ่งขึ้นไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
“ตลาดจีนก็มีเซกเมนต์ที่แตกต่างกัน เขาชอบทะเลไทย เราอยากได้กลุ่มคนจีนที่รักทะเลมากกว่ากลุ่มที่อยากมาดูเฉยๆ มาแล้วต้องไม่ทิ้งขยะหรือสูบบุหรี่ในสถานที่ท่องเที่ยว เราไม่ต้องการให้คนมาเหยียบย่ำที่เที่ยวมากเกินไป นักท่องเที่ยวคุณภาพไม่ได้แปลว่าคนมีเงิน คนมีเงินไปทำลายธรรมชาติมีเยอะแยะ เราต้องการนักท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่อยากให้เห็นว่าการท่องเที่ยวคือช้อนเงินช้อนทองทางเศรษฐกิจ อยากให้เห็นการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำต่างหาก ถ้าเราทำให้เขาจ่ายในที่ที่ควรจะจ่าย จ่ายกับคนที่ควรจะได้รับ ก็จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้ แม้จะไม่มากแต่ก็เป็นรายได้เสริมที่สำคัญ”
โจทย์ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว เรื่องคุณภาพและปริมาณสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากนี้ต่อไป
มองกลยุทธ์มัดใจนักท่องเที่ยวและคำแนะนำถึงผู้ประกอบการ
สำหรับปี 2562 ถือเป็นปีที่ต้องคิดใหม่ทำใหม่สำหรับการจัดการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 35 ล้านคน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรไทย วีระศักดิ์ตั้งคำถามเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยว ประเทศไทยยังอยากให้มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ แต่กระจุกเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีมากเกินกว่าความสามารถที่จะรองรับจะมีผลต่อความประทับใจ และประสบการณ์ของทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้านหรือไม่
“เราต้องเปลี่ยนจากกระจุกเป็นกระจาย ต้องให้พวกเขาไปเที่ยวเมืองรองมากขึ้น เดินทางผ่านสนามบินตามหัวเมืองต่างๆ ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟรางคู่เป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งทำอยู่ สำหรับสัดส่วนนักท่องเที่ยว บ้านเราถือว่าหลากหลาย อย่าพึ่งพาใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น นักท่องเที่ยวยุโรปตะวันออกตั้งแต่รัสเซียจนถึงออสเตรียปีนี้โตเกือบ 20% หรือจากเอเชียใต้ก็เพิ่มขึ้นเยอะ มีคุณภาพด้วย นอกจากมาแต่งงานแล้วก็มาเที่ยวเชิงกีฬา เที่ยวกับครอบครัว หรือทำกิจกรรมพิเศษต่างๆ ด้วย”
มาตรการล่าสุดที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยจะต้องซื้อประกันการเดินทางเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับหลายประเทศในขณะนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านภาระของประเทศ กรณีที่นักท่องเที่ยวไม่สบายหรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ปัจจุบันใช้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขปีละกว่า 200 ล้านบาท สำหรับค่ารักษาพยาบาลของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ซื้อประกันเอาไว้ ขณะเดียวกันวีระศักดิ์เชื่อว่าระบบประกันภัยจะช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในธุรกิจท่องเที่ยวด้วย
“การท่องเที่ยวเชิงกีฬาของเราโตมาก เราจัดงานวิ่งและปั่นจักรยานปีละ 600 ครั้ง มีสัดส่วนชาวต่างชาติโตขึ้นเรื่อยๆ บางกิจกรรมมีคนต่างประเทศถึง 30% งานวิ่งมาราธอนบางงานเขาก็ลงทุนบินตรงเพื่อมาวิ่ง ตอนนี้มีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้วสามารถข้ามแดนไปเที่ยวชายเแดนหรือประเทศเพื่อนบ้านและกลับเข้ามาใหม่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอเรื่อง Double Entry Visa กรณีที่ต้องเดินทางไปกลับประเทศไทยบ่อยๆ เสนอให้ประทับตรา 1 ครั้ง จะเข้าไทยได้ 2 ครั้งใน 6 เดือน เหมาะกับคนที่มาเรียนทำกับข้าว เรียนมวยไทย มาประชุม พบทันตแพทย์ หรือศัลยกรรมความงาม ซึ่งต้องมามากกว่า 1 ครั้งอยู่แล้ว”
วีระศักดิ์เน้นว่าสถานที่ท่องเที่ยวของไทยนั้นยังมีเสน่ห์ซ่อนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเมืองรองทั่วประเทศ กระทั่งกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ก็ยังมีพื้นที่รองที่คนทั่วไปไม่รู้จัก
“เรารู้จักของกินที่เยาวราช แต่รู้ไหมว่าบึงกุ่มมีอะไรให้กิน เมืองรองก็มีระดับที่แตกต่างกันออกไป บางเมืองยังไม่มีกำลังที่จะรองรับนักท่องเที่ยว อาจจะเป็นเที่ยวเช้าเย็นกลับ บางที่ก็อาจจะค้างคืนได้ บางที่ก็ต้องทำกิจกรรมต่อเนื่องไปกับจังหวัดอื่น เดี๋ยวนี้คนไปเที่ยวป่าไม่ใช่ไปเพื่อดูป่าทั้งผืน แต่ไปดูต้นไม้เพียงต้นเดียว เช่น ต้นรังที่อายุร้อยปี ชาวบ้านก็ดูแลต้นไม้นี้เป็นอย่างดี เป็นชีวิตของพวกเขา ดูต้นไม้ก็สวยอยู่หรอก แต่สิ่งที่สวยงามไม่แพ้กันคือ วิถีชุมชนและน้ำใจของชาวบ้านในพื้นที่”
สำหรับคำแนะนำจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถึงผู้ประกอบการคือ การสร้างความแตกต่างให้ชัดเจน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเฉพาะด้านที่มีจุดขาย เช่น โรงแรมที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักกับเจ้าของได้ หรือโรงแรมที่มีรูปปั้นหรือสิ่งดึงดูดใจที่เด็กๆ ชอบจนต้องขอให้ผู้ปกครองพาไป ไม่ควรเน้นการกดราคาขายให้ต่ำ แต่ต้องเน้นความพิเศษและแตกต่างที่ตัวผู้ประกอบการเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรฐานและปลอดภัยด้วย
“การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของไทยไม่ควรเป็นการท่องเที่ยวราคาถูกอย่างเดียว ต้องมีพรีเมียมบ้าง ไม่ใช่ทำให้มันแพงจนคนไทยไปเที่ยวไม่ได้นะ คนไทยเป็นเจ้าของแผ่นดินต้องไปเที่ยวได้ด้วย”
ถึงเวลามองการท่องเที่ยวของไทยในมุมใหม่
ถึงเวลาที่ต้องสนใจเรื่องเที่ยวอย่างไร มากกว่ามีนักท่องเที่ยวอยู่เท่าไรเสียที
ภาพประกอบ: Karin Foxx.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- รายการ THE STANDARD BizKlass สำนักข่าว THE STANDARD
- thestandard.co/bizklass23112561/