“ผู้หญิงไทยต้องทนกับอะไรบ้าง”
“เป็นผู้หญิงต้องอดทน”
คำถามและคำกล่าวชวนคิดเปิดแคมเปญโฆษณาจากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women)
ผู้ป่วยติดเตียงหญิงอายุ 73 ปีถูกกระทำชำเรา เด็กสาวถูกข่มขืนฆาตกรรมโยนลงจากรถไฟ เด็กสาวถูกคนในหมู่บ้านรุมขืนใจ ภรรยาถูกสามีจุดไฟคลอก คืนบาปพรหมพิราม ฯลฯ เราได้ยินเรื่องของเหตุการณ์ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกบ่อยเกินไปไหม?
จากสถิติผลการวิจัยของ UN Women เผยว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลกมีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรง ในปี พ.ศ. 2556 มีรายงานว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงตกอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 87 รายต่อวัน และยังพบว่าร้อยละ 83 ของการทำร้ายมาจากบุคคลใกล้ตัว ทั้งข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่า ในปี พ.ศ. 2561 ความรุนแรงนั้นไม่ได้ลดลงเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
If you’ve been sexually harassed or assaulted write ‘me too’ as a reply to this tweet. pic.twitter.com/k2oeCiUf9n
— Alyssa Milano (@Alyssa_Milano) October 15, 2017
แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กระแส #MeToo ได้แพร่หลายขึ้นจนเป็นกระแสไปทั่วโลก ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ที่ถูกประณาม ประทุษร้าย และคุกคามทางเพศออกมาเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศให้เกิดความเท่าเทียม จนเมื่อปี พ.ศ. 2560 ดาราฮอลลีวูดอย่าง อลิสสา มิลาโน (Alyssa Milano) ได้จุดประเด็นนี้ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการออกมาทวีต #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ บอกเล่าว่าตัวเธอเองก็เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นมาเช่นกัน จนผู้คนนับล้าน รวมถึงเหล่าเซเลบริตี้จำนวนมากต่างออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของตน รวมทั้ง เลดี้ กาก้า (Lady Gaga), แกเบรียล ยูเนียน (Gabrielle Union) และ อีวาน ราเชล วู้ด (Evan Rachel Wood) จุดกระแส #MeToo ให้โด่งดังไปทั่วโลก พร้อมๆ กับการโค่นเจ้าพ่อวงการหนามเตยอย่าง ฮาร์วี ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ที่ลวนลามนักแสดงมาแล้วนับไม่ถ้วน อันเริ่มต้นขุดคุ้ยโดย 2 นักข่าวหญิงมากความสามารถแห่ง New York Times
ห้องครัวเป็นสถานที่สื่อถึงห้องที่ครอบครัวรวมตัวกัน และเป็นสถานที่ที่มักมองว่าเป็นที่ที่ผู้หญิงควรอยู่ รวมถึงเป็นจุดที่ความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นโดยมีมีดทำครัวเป็นอาวุธ
แต่พลังของผู้หญิงยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ในวันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women 2018) ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ดร.พุมเซเล มลัมโบ จนุคคา (Phumzile Mlambo-Ngcuka) ผู้อำนวยการ UN Women ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence) โดยมีเป้าหมายหลักคือการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น เพื่อรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทยสำหรับแคมเปญ #HearMeToo หรือ #มีอะไรจะบอก
แคมเปญนี้ UN Women ได้ร่วมมือกับกลุ่มบริษัทในเครือ Wpp Marketing Communications กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านสื่อโฆษณาในประเทศไทย อาทิ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ, มายรัม (ประเทศไทย), เวิรฟ พับบลิค รีเลชั่นส์ คอนซัลแตนท์ซี, กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และบริษัท อินฟลูออส เพื่อผลักดันให้หญิงไทยกล้าที่จะบอกเล่าประสบการณ์การประสบความรุนแรงในอดีต หรือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศผ่านแคมเปญที่ว่า
ซึ่งในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อ้วน-อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทยอันดับ 2 ปี พ.ศ. 2537 ผู้เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงจนปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักสิทธิสตรีเผยว่า “จากข้อมูลในไทย มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 20,000 กว่าคนต่อปี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพียง 2,000-3,000 คนต่อปี และจบด้วยคำพิพากษาของศาล 200-300 คดีต่อปีเท่านั้น และแม้แต่ละปีตัวเลขการรายงานจะสูงขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าอัตราการทำร้ายสูงขึ้นเสมอไป เพียงแค่ผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดมากขึ้น กล้าลุกขึ้นมาสู้เพิ่มขึ้นนั่นเอง”
อ้วน-อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทยอันดับ 2 ปี พ.ศ. 2537 ผู้เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรง จนปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักสิทธิสตรี
นอกจากนั้นนักสิทธิสตรียังเผยถึงการเปลี่ยนแปลงที่สามารถช่วยเปลี่ยนมุมมองที่ว่า ‘ภรรยาต้องยอมสามี’ โดยระบุว่า ตัวเธอเองเป็นผู้เสียหายของความรุนแรงทางเพศเมื่อ 20 ปีก่อน และได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ตลอดจนต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนกฎหมายมากมายเพื่อสู้คดี ทำให้เธอผันตัวจากอาชีพพยาบาลมาเป็นนักกฎหมายในที่สุด เพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงคนอื่นๆ ทั้งนี้เธอยังเผยอีกว่า เราไม่ควรเอามาตรฐานของตัวเองเป็นที่ตั้งว่าทุกคนจะได้รับแรงสนับสนุนให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง โดยคุณอ้วนได้คุณแม่ที่เข้มแข็งคอยบอกว่า “เราจะสู้ไปให้ถึงที่สุด” แต่ถึงกระนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนที่เหมือนกัน อันเป็นความสำคัญของมูลนิธิที่ช่วยเหลือและหน่วยงานต่างๆ
เธอยังเผยอีกว่า ปัญหาในแง่ของกฎหมายนั้นอยู่ที่นโยบาย ดังนั้นเราจึงต้องแก้โครงสร้างกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เช่น พ.ร.บ. 2540 กฎหมายผู้ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งตามหลักกฎหมายอาญานั้น ผู้เสียหายสามารถแจ้งความและดำเนินคดี ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ภรรยาเกิดความเป็นกังวลถึงความเป็นอยู่ของตัวเอง การหาเลี้ยงชีพ หรือการดูแลบุตรธิดา ทำให้เกิดการยอมความขึ้นมากมาย กลับไปสู่วังวนการทำร้ายที่เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมายถึงชีพก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในการเมืองมากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นในแง่บทกฎหมาย
ทั้งยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้พิพากษา เช่น ที่ศาลอาญาธนบุรี ที่ยกกรณีภาวะผู้หญิงถูกกดดันจนต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง (Battered Wife Syndrome) ซึ่งเกิดในผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายซ้ำๆ จนเกิดความเครียด และสู้กลับด้วยความรุนแรง ขึ้นมาพูดถึงในชั้นศาล ผลจึงให้ลงอาญาในคดีที่สามีถูกฆาตกรรมโดยภรรยา และสนับสนุนให้มีการแก้กำหนดกฎหมายอาญาเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย ซึ่ง พ.ร.บ. นี้เน้นการปกป้องผู้หญิงและเยาวชนหญิง เพื่อเน้นการเยียวยา โดยปรับทัศนคติในผู้ชายเช่นกัน รวมไปถึงการเยียวยาในบริบทของญาติ และการจัดตั้งศูนย์ช่วยพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ หรือบ้านพักฉุกเฉินให้พักจนกว่าจะพร้อมออกไปเผชิญโลกภายนอก และสามารถช่วยดูแลบุตรธิดาได้จนกว่าจะพร้อมรับไปดูแลอีกครั้งเช่นกัน
ทั้งนี้แคมเปญดังกล่าวของ UN Women นำเสนอประเภทของความรุนแรง 4 ประเภทด้วยกันคือ ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence), ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical Violence), ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Violence) และความรุนแรงในบริบททางเศรษฐกิจ (Economic Violence) ซึ่งสร้างเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายด้วยกัน ดังนี้
การรณรงค์ทาลิปสติกสีส้ม
ร่วมทาสิปสติกสีส้มอันสื่อถึงพลัง แล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #HearMeToo #มีอะไรจะบอก ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าที่จะพูดและบอกเล่าประสบการณ์ของตน สะท้อนทัศนคติที่เป็นส่วนช่วยให้เธอก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายในอดีต อันถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทย
พาดหัวข่าวใหม่ (Disruptive News Headlines)
ซึ่ง UN Women ได้จับมือกับเว็บไซต์ MThai เปลี่ยนหัวข้อข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในเชิงลบ ให้กลายเป็นหัวข้อข่าวใหม่ในเชิงบวก เพื่อปรับทัศนคติของสังคมที่มองผู้หญิงว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ให้กลายเป็น ‘ฮีโร่’ ที่กล้าหาญ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม
Immersive 360-Degree Experience
สร้างสถานการณ์จำลองความรุนแรงขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 360 องศาผ่านเว็บไซต์ โดยมีภาพเคลื่อนไหวและเรื่องราวประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงที่มักเกิดขึ้นในห้องครัว อันสื่อถึงสถานที่ที่ครอบครัวรวมตัวกัน และเป็นสถานที่ที่มักมองว่าเป็นที่ที่ผู้หญิงควรอยู่ รวมถึงสถานที่ที่ความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้น โดยมีมีดทำครัวเป็นอาวุธ เพื่อให้ผู้ชมได้ทดลองสัมผัสประสบการณ์จริงที่ 1 ใน 3 ของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลกเคยเจอ พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เว็บไซต์ www.hearmetoo.or.th
ภาพยนตร์สั้นออนไลน์
ถ่ายทอดผ่านมุมมองของ อ้วน-อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทย ผู้ที่เคยผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ปัจจุบันเธอได้ผันตัวเองเป็นนักกฎหมายและนักรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิสตรีมานานกว่า 20 ปี
ภาพยนตร์เสียง
สะท้อนความรุนแรงจากเหตุการณ์จริงของตัวแทนผู้ร่วมรณรงค์ ได้แก่ นุ่น-ธารารัตน์ ปัญญา นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฝน-นันทิยา ภูมิสุวรรณ ตัวแทนเจ้าหน้าที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ วรรณโชค ยิ้มย่อง ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ
คุณเองสามารถมีส่วนร่วมได้กับแคมเปญดังกล่าว โดยสามารถเข้าชมเรื่องราวและคำแนะนำได้ที่ www.hearmetoo.or.th หรือชมวิดีโอแคมเปญได้ที่ youtu.be/EBEOO0bFQ3s
แล้วคุณจะยอม หรือลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกัน?
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีถูกกำหนดโดยสหประชาชาติ (United Nations) ให้เป็นวันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงของผู้หญิงระดับสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women)
- แฮชแท็ก #MeToo เริ่มต้นจาก Myspace ของทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) นักกิจกรรมสังคมและนักจัดการชุมชนที่ใช้วลี #มีทู (#MeToo) เพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ของผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ที่ถูกประณาม ประทุษร้าย และคุกคามทางเพศในกลุ่มผู้หญิงผิวสี และบุคคลที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริกา