หลังจากเข้าไปดู Dunkirk ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Inception – 2010, The Dark Knight – 2008, Interstellar – 2014) ต้องบอกว่าทุกอย่างสมบูรณ์แบบแทบไม่มีอะไรที่ ‘เสด็จพ่อโนแลน’ ทำให้ผิดหวัง
Dunkirk เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี 1940 หรือช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรนับแสนๆ นายโดนกองกำลังฝ่ายตรงข้ามโอบล้อมจนไปติดอยู่บนชายหาดดันเคิร์กที่ไร้ทางออก ขณะที่การปะทะทั้งบนฟ้าและด้านล่าง เรือเล็กนับร้อยๆ ลำของฝ่ายทหารและพลเรือนต่างช่วยเหลือเต็มกำลังเพื่อจะช่วยชีวิตเหล่าทหารให้ได้มากที่สุด โดยใช้รหัสเรียกว่าปฏิบัติการไดนาโม
คริสโตเฟอร์ โนแลน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เหตุการณ์ที่ดันเคิร์กเป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ เป็นการแข่งขันกับเวลาเพื่อตัดสินชี้เป็นชี้ตาย สถานการณ์ครั้งนั้นชวนระทึกขวัญอย่างที่สุด นั่นคือความเป็นจริงครับ จุดประสงค์ของเราในหนังเรื่องนี้ก็คือการนำผู้ชมไปสัมผัสประสบการณ์นั้นโดยเคารพต่อประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด แต่ก็ยังคงความหนักหน่วงเข้มข้น และแน่นอนว่าต้องมีความบันเทิงอยู่ด้วย”
สำหรับการรับชมในโรงภาพยนตร์เพื่อให้ได้อรรถรสสูงสุด ควรเตรียมความพร้อมเชิงข้อมูลจะเป็นการดี เพราะการดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้มีรายละเอียดหลายอย่างที่ภาพยนตร์อาจไม่ได้มีเวลาอธิบายมากพอ เราจึงทำการรวบรวม ‘เกร็ด’ ประวัติศาสตร์จากหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นพื้นฐานก่อนเข้าชมภาพยนตร์
– ดันเคิร์กเป็นเมืองชายฝั่งของประเทศฝรั่งเศส อยู่ติดกับทะเลเหนือ เป็นด่านหน้าของอังกฤษที่ถ้าหากเสียไปจะทำให้กองทัพเยอรมันรุกคืบเข้าโจมตีประเทศอังกฤษ อันเป็นกำลังหลักของฝ่ายสัมพันธมิตรได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งกองกำลังทหาร 4 แสนนายที่เป็นกำลังพลหลักจะสูญเสียไปด้วย ในสมรภูมินี้ การอพยพพลทหารทั้งหมดจึงเป็นภารกิจสำคัญมากกว่าการเอาชัยชนะในสงคราม
– จนกลายเป็น ปฏิบัติการไดนาโม (Operation Dynamo) โดยชื่อมีที่มาจากห้องไดนาโม ห้องประชุมวางแผนปฏิบัติการ ณ กองบัญชาการบริเวณหน้าผาแห่งโดเวอร์ ได้ออกคำสั่งเรียกประชุมเรือทุกลำที่บรรทุกทหารได้มากกว่า 1,000 นาย เพื่อไปรับทหารจากเมืองดันเคิร์กกลับมาที่ประเทศอังกฤษ ผ่านไป 5 วัน ช่วยชีวิตกลับมาได้ 120,000 นาย แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะกองทัพเยอรมันรุกหนักขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจึงขอความช่วยเหลือจากประชาชนให้เอาเรือเล็กมาเข้าร่วมปฏิบัติการนี้ด้วย โดยมีเรือของเอกชนและพลเรือนทั่วไปเข้าร่วมปฏิบัติการทั้งหมด 842 ลำ แบ่งเป็นอังกฤษ 519 ลำ ฝรั่งเศส 300 ลำ และเนเธอร์แลนด์ 29 ลำ (ปฏิบัติการนี้กินเวลาทั้งหมด 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 1940)
– เรือลำเล็กที่สุดที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้คือเรือตกปลาที่ชื่อ ‘แทมซีน’ (Tamzine) มีความยาวประมาณ 4.2 เมตร และจุคนได้ประมาณ 10 คนเท่านั้น
– สมรภูมิทางอากาศกลายเป็นสมรภูมิหลักของดันเคิร์ก เพราะกองทัพเยอรมันตัดสินใจสั่งให้ทหารบกถอนกำลัง และให้ใช้การโจมตีทางน้ำและอากาศเป็นตัวชี้วัดแทน ซึ่งจุดนี้หลายคนวิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการไดนาโมประสบความสำเร็จ เพราะถ้าหากเยอรมันสั่งให้ทหารบกรีบบุกยึดดันเคิร์กเสียแต่เนิ่นๆ ไม่รอให้อังกฤษรวบรวมกองเรือได้ การอพยพครั้งนี้อาจไม่เกิดขึ้น
– การตัดสินหลักๆ จึงโอนน้ำหนักไปที่การต่อสู้กันระหว่างกองทัพอากาศของอังกฤษและเยอรมัน โดยพระเอกของกองทัพอังกฤษคือ Spitfire เครื่องบินขับไล่ที่มีจุดเด่นที่ลำเล็ก ขนาดเบา เปลี่ยนมุมการเลี้ยวได้ง่าย และต้องคอยต่อสู้กับ Messerschmitt BF 109 ของเยอรมันที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความเร็ว ภารกิจของ Spitfire คือคอยปกป้องทหารและกองทัพเรือจากการโจมตีทางอากาศจากกองทัพเยอรมัน
– U-Boat (ในหนังเรียกว่า ‘เรืออู’ ชื่อเต็มคือ Unterseeboot เป็นเรือดำน้ำของกองทัพเยอรมันที่มีบทบาทมากในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งหมด โดยมีภารกิจสำคัญคือทำลายกองเรือขนส่งสินค้าของฝ่ายข้าศึก รวมทั้งการดักทำลายเรือลำเลียงทหารจากดันเคิร์กในครั้งนี้ด้วย ถึงแม้ในเรื่องเราจะไม่ได้เห็นเรือนี้แบบเต็มๆ (ตอร์ปิโดพิฆาต ที่เห็นตั้งแต่ตัวอย่างหนังก็เป็นฝีมือของเรือลำนี้) แต่ตลอดทั้งเรื่อง ชื่อนี้จะเป็นอะไรที่หลอนทั้งทหารในเรื่องและคนดูอยู่ตลอดเวลา
– กองทัพไฮแลนด์ อีกหนึ่งกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญมากในเรื่อง ชื่อเต็มคือ 51st (Highland) Division คือกองกำลังทหารราบของกองทัพอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1908 มีบทบาทสำคัญในสงครามหลายครั้ง แล้วก็เป็นพวกเขานี่แหละที่คอยต้านกองทัพเยอรมันขณะพยายามบุกดันเคิร์ก และก็เป็นพวกเขาอีกเช่นกัน ที่มีส่วนสำคัญในการขับไล่ทหารเยอรมันออกจากชายหาดนอร์มังดีในช่วงท้ายของสงคราม
– ผลสรุปจากสงครามครั้งนี้ ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร 11,000 นายเสียชีวิต 40,000 คนถูกจับเป็นเชลย ยานพาหนะ 50,000 คันเสียหาย เรือรบ 9 ลำ และเรือขนส่ง 200 ลำอับปาง และมีเครื่องบิน 177 ลำถูกยิงตก ส่วนฝ่ายเยอรมันมีทหาร 20,000 นายบาดเจ็บและเสียชีวิต ยานพาหนะเสียหาย 100 คัน เครื่องบิน 132 ลำถูกยิงตก
– หลังปฏิบัติการไดนาโมสำเร็จ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ ‘We shall fight on the beaches’ ที่มีเนื้อหาว่า “เราจะสู้บนหาด เราจะสู้บนผืนแผ่นดิน เราจะสู้บนท้องทุ่งและถนน เราจะสู้บนเนินเขา และเราจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด” เพื่อปลุกใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทหารและประชาชนเพื่อต่อสู้กับการโจมตีของเยอรมัน และกลายเป็นหนึ่งในสุนทรพจน์ที่ทรงพลังมากที่สุดในเวลาต่อมา
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/10188033
- en.wikipedia.org/wiki/U-boat
- en.wikipedia.org/wiki/Aircraft_of_the_Battle_of_Britain
- www.britannica.com/event/Dunkirk-evacuation
- www.warbirdsnews.com/warbirds-news/dunkirk.html
- www.imdb.com/title/tt5013056/trivia?ref_=tt_ql_2
- en.wikipedia.org/wiki/We_shall_fight_on_the_beaches
- เสียงนาฬิกาที่ได้ยินตลอดเรื่อง สร้างมาจากเสียงนาฬิกาพกของคริสโตเฟอร์ โนแลน จริงๆ
- ถึงเรื่องนี้จะมีบทพูดน้อยมาก แต่บทภาพยนตร์มีความยาว 76 หน้ากระดาษ อันเป็นการลงรายละเอียดเรื่องภาพและเสียงประกอบล้วนๆ (เสียงประกอบฉากในเรื่องนี้ทำหน้าที่เล่าเรื่องแทนบทพูดได้ดีมาก)