สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของปี 2561 ขยายตัว 3.3% มูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท เติบโตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัว 4.6% ซึ่งสภาพัฒน์ชี้แจงว่า ปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการไทยจากต่างประเทศลดลง
ผลผลิตภาคเกษตรขยายตัว 4.3% โตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่โต 10.2% โดยชะลอตัวตามผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวลดลงที่ 1.6% เมื่อเทียบกับ 3.2% ในไตรมาสที่ 2 เห็นชัดเจนจากกลุ่มอุตสาหกรรมทุนและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมวัตถุดิบที่ชะลอตัว การบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมและภัตตาคาร เติบโตลดลงที่ 6.5% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในไตรมาสก่อนหน้า
เมื่อพิจารณาธุรกิจโรงแรมพบว่า ขยายตัว 3.6% เติบโตลดลงจาก 10.3% ในไตรมาสที่ 2 สภาพัฒน์วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวเพียง 1.9% โดยเฉพาะการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน 8.8% เมื่อเทียบกับ การขยายตัว 21.3% ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีผลสืบเนื่องจากเทศกาลฟุตบอลโลก ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวไปยังประเทศรัสเซียมากขึ้น โดยรายได้จากการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 นี้เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น
ส่วนภาคการส่งออก มูลค่าที่แท้จริงลดลง 0.2% จากที่ขยายตัว 7.4% ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกยางพาราเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากสต๊อกยางพาราของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การส่งออกข้าวลดลง โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกา การส่งออกสินค้าประมงหดตัวตามปริมาณการส่งออกกุ้งที่ลดลง ซึ่งการส่งออกสินค้าโดยรวมได้รับผลกระทบจากการส่งออกทองคำที่ลดลงมาก นอกจากนั้นการส่งออกสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องซักผ้าและเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและจีนด้วย
เมื่อพิจารณา GDP ที่ปรับฤดูกาล (Seasonal Adjustment) ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนการทางสถิติซึ่งขจัดผลจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจพบว่าอยู่ในภาวะทรงตัว นั่นคือไม่เติบโตเลย (0%) เมื่อเทียบการขยายตัว 0.9% ในไตรมาสที่ 2
จากตัวเลขล่าสุดที่สภาพัฒน์แถลงนี้ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า สำนักเศรษฐกิจต่างๆอาจจะต้องทบทวนและพิจารณาปรับประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจของปี 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ซึ่งช่วงที่ผ่านมาทุกภาคส่วนต่างยินดีกับตัวเลขที่หวือหวา จนเมื่อตัวเลขการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังสำคัญชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด และเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่เป็นความหวังก็ยังเร่งเครื่องได้ไม่ทันใจนัก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: