ปาเลา หนึ่งในประเทศหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ประกาศแบนกันแดดผสมสารเคมีเป็นประเทศแรกในโลก เพื่อป้องกันปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล โดยประธานาธิบดีทอมมี เรเม็งเกเซา จูเนียร์ ของปาเลา ได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2020
ปาเลาได้ระบุชื่อสารเคมีต้องห้ามในกันแดด 10 ชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ออกซีเบนโซน (Oxybenzone) และออกติโนเซท (Octinoxate) ซึ่งมักจะถูกบรรจุอยู่ในกันแดดหลากหลายยี่ห้อที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาตามผลการศึกษาของ Consumer Healthcare Products Association โดยสารเคมีเหล่านี้มักจะถูกชะล้างและตกค้างในทะเล ซึ่งเป็นอันตรายต่อปะการังและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
โดยนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนจะถูกยึดกันแดดเหล่านั้นไว้ก่อนเดินทางเข้าประเทศ ในขณะที่ผู้ค้ารายย่อยที่พยายามจะขายกันแดดเหล่านี้จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 33,000 บาท) ฐานฝ่าฝืนกฎหมาย
การตัดสินใจประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีรายงานเมื่อปี 2017 ว่า มีการตรวจพบสารจากผลิตภัณฑ์กันแดดตกค้างอยู่ในปริมาณมากใน Jellyfish Lake หนึ่งในแหล่งมรดกโลกที่มีชื่อเสียงของปาเลา ซึ่งทำให้เกิดสภาวะปะการังฟอกสีในหลายพื้นที่ ขณะที่ในปัจจุบันก็มีกันแดดทางเลือกมากมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้านี้ ฮาวาย ได้กลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายแบนกันแดดที่ผสมสารเคมีเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2021 นอกจากนี้ เกาะ Bonaire ของเนเธอร์แลนด์ ในทะเลแคริบเบียน ก็กำลังพิจารณาผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่เช่นกัน
เครก ดาวน์ หัวหน้านักวิจัยที่ห้องแล็บในฮาวายระบุว่า เขาจะจับตาดูวิธีการของปาเลาอย่างใกล้ชิด “นี่เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศแบนสารเคมีจากนักท่องเที่ยว ผมคิดว่ามันยอดเยี่ยมมากที่พวกเขาตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขนาดนี้ พวกเขาไม่ต้องการจะเป็นแบบไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่จะต้องทำการปิดเกาะ ปิดชายหาด เพราะแนวปะการังแถบนั้นได้ตายลงแล้ว”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: