“การเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐธรรมนูญเขาดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
คือคำพูดของ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ แกนนำกลุ่มสามมิตร และอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ในงานสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มสามมิตรราว 60 ชีวิตเข้าร่วม เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.)
ขณะที่วันนี้ (19 พ.ย.) ประโยคสำคัญของจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งลาออกจากพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้าก่อนมาสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในช่วงบ่ายคือ
“เมื่อรู้เท่าทันรัฐธรรมนูญอย่างนี้ รู้ว่าเขามีหมากกลที่วางไว้อย่างไร ผมคิดว่านักการเมืองเราสามารถที่จะทำให้พรรคการเมืองพ้นจากกับดักนี้ได้”
ช่วงเช้าวันนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง เดินทางไปที่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี เข้าพบพลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค และภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แจ้งการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ช่วงบ่าย จาตุรนต์เดินทางมาที่พรรคไทยรักษาชาติ ย่านแจ้งวัฒนะ เพื่อสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)
โดยจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะมีความขัดแย้งกับใครในพรรค หรือเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวของตนเอง
แต่ด้วยเพราะประเทศอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกระหว่างฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสืบทอดอำนาจกับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งโจทย์ของเราคือจะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และหากหยุดยั้งไม่ได้ ประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ คสช. 10-20 ปี
ขณะที่ตามกติการัฐธรรมนูญพรรคการเมืองขนาดใหญ่ถูกสกัดไม่ให้ได้เสียงข้างมาก ถึงแม้จะได้ ส.ส. เกินครึ่งของ ส.ส. เขต ก็จะยังเป็นเสียงข้างน้อย
โดยนักการเมืองบางคนถึงกับประกาศว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาเพื่อพวกเขา
การออกแบบกติกานี้เป็นเหมือนประตูกล หรือกับดักที่เล่นงานพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายประชาธิปไตย
เมื่อเรารู้เท่าทันในรัฐธรรมนูญและหมากกล เราเชื่อว่าสามารถทำให้พรรคการเมือง พ้นและฝ่าจากกับดักนี้ไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสฝ่ายประชาธิปไตย ลดโอกาสที่เขาจะสืบทอดอำนาจ
ขณะที่เหตุผลของการมาร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ จาตุรนต์กล่าวว่า เนื่องจากพรรคนี้ได้รวมผู้สนใจ มีวิสัยทัศน์ ต้องการมีบทบาททางการเมือง หัวหน้าพรรคได้มาเชิญ ได้ร่วมหารือ เห็นได้ชัดว่าพรรคนี้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตรงกัน เลยตัดสินใจมา ที่มาไม่ใช่เพราะหนีกับดักส่วนตัว แต่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เพื่อให้พรรคนี้เป็นยานพาหนะ ที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หลีกเลี่ยงกับดักที่ออกแบบไว้ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน โดยตั้งเป้าจะนำพาพรรคในฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ 251 เสียง
“ในส่วนของการรับมือนั้น เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากที่สุด โจทย์คือ ไม่ให้กลไกรัฐธรรมนูญทำให้เราอ่อนแอ ซึ่งเป็นเรื่องเกมเลือกตั้งที่เราต้องรู้ทันและแก้เกม แต่หลักใหญ่การสกัดสืบทอดอำนาจ คือ เราต้องอธิบายกับประชาชนว่า เหตุใดควรสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้เสียงมากที่สุด หากไม่เป็นเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร ส่วน คสช. จะสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เป็นเรื่องพรรคการเมืองต้องประกาศแต่ต้น สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ทำตัวเองให้ชัดเจน” จาตุรนต์ กล่าว
บรรยากาศที่พรรคไทยรักษาชาติวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนายจาตุรนต์แล้วยังมีอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ร่วมสมัครสมาชิกพรรค อาทิ 4 แกนนำ นปช. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และก่อแก้ว พิกุลทอง
นอกจากนี้ยังมี นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา, ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ, ฐิติมา ฉายแสง อดีต ส.ส. ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย, วุฒิพงษ์ ฉายแสง น้องชายของจาตุรนต์, อนุตตมา อมรวิวัฒน์ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์, นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์
โดยณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย มีแต่ความรัก อบอุ่น ถึงทุกวันนี้ก็รู้สึกดีไม่เสื่อมคลาย จะยืนหยัดต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสันติวิธี ยืนยันว่าพวกเราจึงเดินทางมาในพรรคนี้ โดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเรียกร้องในสถานะใดๆ แต่ขอเพียอย่างเดียว ไทยรักษาชาติต้องไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนประชาธิปไตย
ส่วนข้อสังเกตจากคนเสื้อแดง ที่ไปอยู่ทั้งพรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ ณัฐวุฒิกล่าวว่า นปช. ได้หารือ จะไม่ตั้งพรรคการเมืองในนาม นปช. ส่วนสมาชิกจะไปร่วมงานพรรคใดถือเป็นเสรีภาพ ตราบใดยังยืนยันตามหลักประชาธิปไตยถือเป็นแนวร่วม แต่ถ้าใครไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการถือว่าขาดกัน