×

ประชาธิปไตยไม่ไปไหน? เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่ในอาเซียน ปัญหาสิทธิมนุษยชน การศึกษา และการก่อการร้าย

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ภายใต้การเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับความท้าทาย และปัญหาที่มีคล้ายคลึงกันคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาลที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย
  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นอีกพื้นที่ที่พบความเคลื่อนไหวของคนที่พยายามเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
  • เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอินโดนีเซียปี 2016 และเหตุการณ์โจมตีล่าสุดในฟิลิปปินส์ เดือนพฤษภาคม ปี 2017 คือตัวอย่างของเหตุโจมตีที่ผู้ก่อเหตุประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส
  • THE STANDARD เลือกสะท้อนปัญหาในภูมิภาคนี้ผ่านการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในแวดวงต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักรณรงค์ ไปจนถึงนักข่าวใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อสำรวจความเป็นไปในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่หลายๆ ประเทศอยากจะกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือ เพราะมองว่าเป็น ‘ภูมิภาคแห่งความหวัง’ เนื่องจากปลอดสงครามกลางเมืองรุนแรงอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง และยังเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้และพลังใหม่ๆ จนเป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง

     

แต่ภายใต้พลังใหม่ๆ ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ การใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐบาล และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกลิดรอน มีทั้งประเทศที่กำลังเป็นประเทศประชาธิปไตยใหม่ ประเทศที่ประชาธิปไตยยังคงสะดุด และประเทศที่ประชาธิปไตยยังคงถูกตั้งคำถาม แม้จะมีการเลือกตั้งเป็นประจำก็ตาม รวมถึงยังเป็นภูมิภาคที่พบว่ามีคนเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอีกพื้นที่เฝ้าระวังกลุ่มก่อการร้ายที่สำคัญ

     

แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนามากที่สุด แต่บริบทสังคมและการเมืองของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันมากเช่นเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้คล้ายกันคือ ‘asian values’ หรือ ‘หลักคุณค่าทางเอเชีย’ ที่หมายถึงการไม่ใช้ ‘มาตรฐานของชาติตะวันตก’ มาตัดสินในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเชื่อว่าคุณค่านี้จะนำไปสู่ประชาธิปไตยวิถีทางเอเชีย (asian democracy) แต่ขณะเดียวกัน คุณค่านี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับบางรัฐเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหรือไม่

     

สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่ภูมิภาคเรากำลังเผชิญร่วมกัน และ THE STANDARD เลือกที่จะสะท้อนความเป็นไปที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา ที่เลือกเผชิญหน้าความท้าทายเหล่านี้ผ่านหมวกแต่ละใบที่พวกเขาสวม ตั้งแต่นักข่าว นักวิจัย นักรณรงค์ ไปจนถึงนักการเมือง

     

บางคนเลือกเป็น ‘เสียงใหม่’ บางคนเลือกที่จะลองแก้ปัญหาด้วย ‘มุมมองและวิธีการใหม่’ และบางคนเลือกที่จะสร้าง ‘เสาหลักใหม่’ ในวันที่โครงสร้างเดิมกำลังสึกกร่อน เพราะเสียงที่ดังอยู่อาจไม่ได้สะท้อนเสียงของประชาชน หรือวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้อยู่อาจไม่ใช่คำตอบ

     

แม้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเสียงของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะเป็น ‘ทางออก’ หรือไม่ แต่อย่างน้อยมุมมองและคำตอบของพวกเขาก็ทำให้เห็นและเข้าใจภูมิภาคของเราในอีกมิติที่เราอาจไม่เคยเห็นหรือรับรู้มาก่อน

ขณะที่อาเซียนถูกมองว่าเป็นภูมิภาคแห่งความหวัง

เพราะเรายังไม่เผชิญกับสงครามรุนแรงเท่ากับภูมิภาคอื่น

เคิร์สเทน ฮาน (Kirsten Han) 

นักข่าวออนไลน์รุ่นใหม่ของสิงคโปร์

 

สิงคโปร์: ‘เสียงทางเลือก’ ในวันที่ พ.ร.บ. การออกอากาศ กดทับการมีส่วนร่วมของประชาชน

สิงคโปร์และมาเลเซีย คือสองประเทศที่ถูกปกครองโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมาอย่างยาวนาน ขณะที่สิงคโปร์ถูกปกครองโดยพรรค People’s Action Party (PAP) มาตั้งแต่เป็นเอกราชจากอังกฤษ มาเลเซียถูกปกครองโดยพรรค United Malays National Organisation (UMNO) ตั้งแต่เป็นเอกราชจากอังกฤษเช่นกัน จนประชาธิปไตยของสองประเทศนี้ถูกตั้งคำถามจากการที่มีระบบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาด ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นประจำก็ตาม หรือที่นักวิชาการ (William F. Case, 1996) อธิบายลักษณะระบอบการเมืองของสิงคโปร์และมาเลเซียว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ (semi-democracy) ระบอบการเมืองของสิงคโปร์และมาเลเซียยังสะท้อนไปถึงเรื่องของการเมืองแบบอัตลักษณ์ (identity politics) ที่ส่งผลให้สองประเทศนี้เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติภายในประเทศ

     

การมี ‘เสียงทางเลือก’ จึงสำคัญในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเวลาที่สิทธิในการออกเสียงของประชาชนหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกลิดรอน ซึ่ง เคิร์สเทน ฮาน (Kirsten Han) เลือกที่จะเป็นกระบอกเสียงนี้ผ่านบทบาทของนักข่าว เธอได้สะท้อนปัญหาเรื่องการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ในสิงคโปร์ โดยเฉพาะเชื้อชาติมาเลย์และอินเดียที่นับว่าเป็นคนกลุ่มน้อยในสิงคโปร์ จนรายงานข่าวของเธอหลายชิ้นถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างชาติ ทั้ง The Guardian, Al Jazeera English, The Diplomat และ Asian Correspondent เพราะเธอเชื่อว่าข้อมูลที่เพียงพอและหลากหลายจะสร้างสังคมแห่งการถกเถียงและคิดวิเคราะห์

     

“ฉันไม่คิดว่าสิงคโปร์ต้องการ ‘คนใดคนหนึ่ง’ ที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ฉันคิดว่ามันจะมีความหมายมากกว่าหากมีชาวสิงคโปร์ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น

     

“ฉันมองว่าการคิดวิเคราะห์นั้นแตกต่างจากการเยาะเย้ยถากถาง แต่คือการเปิดกว้างต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเราไม่สามารถที่จะฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวได้ แต่มันคือการเปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด”

     

เครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้เพื่อกดทับ ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ คือ พ.ร.บ. การออกอากาศ (Broadcasting Act) ที่ควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่บนสื่อต่างๆ และจับกุมนักข่าวที่เผยแพร่เนื้อหาที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จนกฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศว่ารัฐบาลสิงคโปร์ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงประชาชนเองในการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพรรค People’s Action Party ได้เต็มที่ ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งนี้เป็น ‘บรรทัดฐาน’ ที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย จนองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อของสิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 151 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

     

ฮานมองว่า หัวใจของการเป็นนักข่าวนั้นไม่ใช่เพียงแค่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่คือการค้ำจุนหลักการและยึดถือคุณค่าในสังคมประชาธิปไตย

   

“ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสคือสิ่งสำคัญในระบอบการปกครอง เพราะประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ว่าคนที่อยู่ในอำนาจนั้นบริหารจัดการกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขาอย่างไร หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาล แต่สิ่งเหล่านี้ก็จะสะท้อนออกมาเช่นกันหากมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือภาคส่วนอื่นๆ ก็ตาม”

     

มาถึงวันนี้ แม้ พ.ร.บ. การออกอากาศจะยังถูกบังคับใช้อยู่ในสิงคโปร์ แต่เสียงของคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์ก็เริ่มสะท้อนก้องดังมากขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือสื่อออนไลน์ และสิ่งนี้สะท้อนออกมาในการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ครั้งล่าสุดในปี 2015 ที่พรรคการเมืองอื่นๆ เริ่มมีพื้นที่และได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น

 

ดีอานา ซอฟยา (Dyana Sofya Mohd Daud)

นักการเมืองผู้หญิงรุ่นใหม่ในพรรคฝ่ายค้าน (Democratic Action Party)

 

มาเลเซีย: ความกลัวของประชาชน-คอร์รัปชันของนักการเมืองภายใต้ระบบการเมืองพรรคเดียวแบบผูกขาด

เช่นเดียวกับ ดีอานา ซอฟยา (Dyana Sofya Mohd Daud) หญิงสาวชาวมาเลเซีย วัย 29 ปี ที่เลือกจะเป็น ‘เสียงทางเลือก’ ท่ามกลางกลุ่มอำนาจที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ผ่านบทบาทของนักการเมืองผู้หญิงรุ่นใหม่ในพรรคฝ่ายค้าน (Democratic Action Party) ที่สมาชิกพรรคมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด หลังจากมาเลเซียเผชิญกับปัญหาระบบพรรคการเมืองผูกขาดคล้ายคลึงกับสิงคโปร์ และความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติระหว่างมาเลย์ จีน และอินเดีย

     

“ระบบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาดสร้างความกลัวให้กับประชาชน ประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากระบอบการเมืองออกแบบให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้ชนะเสมอโดยใช้ประเด็นเรื่องเชื้อชาติมาสร้างความหวาดกลัว และระบบนี้ทำให้มีคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์หรือเลือกที่จะเข้าข้างรัฐบาลอย่างไม่สนใจความถูกต้อง เพราะต้องการผลประโยชน์จากรัฐบาลเช่นกัน และสิ่งนี้นำไปสู่การขาดสังคมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-partisan public) และท้ายที่สุดเราจะได้รัฐบาลที่ทำเพื่อตัวเองมากกว่าประชาชน” ซึ่งปีที่แล้วมีรายงานข่าวที่พบว่ามีการโอนเงินจากกองทุนจำนวน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าบัญชีส่วนตัวของประธานาธิบดีนาจิบ ราซัค

     

ระบบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาดในมาเลเซียยังนำมาสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ เพราะวาทกรรมเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้พรรคการเมือง UMNO ปกครองประเทศมายาวนาน ซึ่งดีอานามองว่า การมี ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของแต่ละเชื้อชาติให้ได้มากที่สุดนั้น แท้จริงไม่ใช่คำตอบ แต่ตัวแทนเหล่านั้นจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือสีผิว

     

“ฉันคิดว่าวิธีคิดแบบนี้มันไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป เชื้อชาติของ ส.ส. ไม่ควรจะเป็นปัจจัยด้วยซ้ำ เพราะตราบใดที่ ส.ส. นั้นเป็นตัวแทนและทำงานเพื่อประชาชนชาวมาเลเซียทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว และไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีความเชื่อแบบไหนก็ตาม ตราบใดที่ผู้ที่ถูกเลือกตั้งเข้าไปทำงานนั้นเป็นกระบอกเสียงให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม รับฟังประชาชนถึงความลำบากและความต้องการของพวกเขา เสียงของทุกคนก็จะได้รับการรับฟังอย่างเท่าเทียมเอง”

     

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของการเมืองมาเลเซียที่เผชิญกับระบอบการเมืองแบบพรรคเดียวผูกขาดประเทศมาอย่างยาวนาน

 

นูร์ ฮูดา อิสมาอิล (Noor Huda Ismail)

นักวิจัยด้านความขัดแย้งรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซีย

 

อินโดนีเซีย: การก่อตัวของกลุ่มหัวรุนแรง กับมุมมองใหม่เพื่อต่อสู้ปัญหาก่อการร้ายจากระดับรากหญ้า

อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ คือกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง และอินโดนีเซียคืออีกประเทศที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และการก่อการร้าย

     

นูร์ ฮูดา อิสมาอิล (Noor Huda Ismail) คือนักวิจัยด้านความขัดแย้งรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซีย ที่เลือกที่จะแก้ไขปัญหาความคิดรุนแรงและการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ด้วย ‘มุมมองและวิธีการใหม่’

     

การสัมผัสกับความตายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ทำให้อิสมาอิลตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า หากปัญหาเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้น แสดงว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้อยู่อาจจะไม่ใช่ทางออก จากข้อสังเกตนี้ทำให้เขาตัดสินใจไปศึกษาต่อด้านความมั่นคงและความขัดแย้ง แล้วกลับมาตั้งสถาบันวิจัยด้านสันติภาพและการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในอินโดนีเซียชื่อ ‘Yayasan Prasasti Perdamaian’ และเริ่มวิจัยและค้นคว้าถึงสาเหตุที่คนธรรมดาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง จนท้ายที่สุดนำไปสู่การลงมือก่อเหตุ กระทั่งเขาพบคำตอบว่า ไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้ก่อการร้าย

     

การค้นคว้าและวิจัยข้างต้นทำให้เขาพยายามแก้ปัญหาการก่อการร้ายแบบล่างสู่บน คือการเยียวยาความคิดของคนที่ก่อเหตุรุนแรงให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง และส่งเสริมสถาบันหน่วยเล็กที่สุดอย่างครอบครัวและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

     

“ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทีมงานของเราได้ลงพื้นที่ไปศึกษาใน 32 เมืองทั่วทุกหมู่เกาะของอินโดนีเซีย รวมไปถึงผู้มีแนวคิดรุนแรงหลายร้อยคนทั่วมาเลเซียและสิงคโปร์ และพบว่าหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันและเยียวยาความคิดรุนแรงคือการเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดพวกเขาผ่านการสัมผัสและพูดคุย รวมถึงสังเกตกิจกรรมที่พวกเขาทำ

     

“ผมไม่ได้เข้าไปแล้วบอกให้พวกเขาเปลี่ยนอุดมการณ์หรือความเชื่อ เพราะพวกเขาจะยิ่งต่อต้านทันที แต่เราพยายามเข้าใจกิจกรรมที่พวกเขาทำ รวมถึงทำให้ครอบครัวและชุมชนตระหนักว่านี่คือปัญหาของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาจากระดับรากหญ้า”

     

จากการลงไปคลุกคลีกับกลุ่มหัวรุนแรง ทำให้อิสมาอิลจำแนกสาเหตุที่คนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายออกเป็น 3 สาเหตุ เพื่อทำให้เขารู้ว่าควรจะพูดคุยกับแต่ละคนอย่างไร เพราะแต่ละคนอาศัยวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปมได้ถูกต้องและตรงจุด

     

“ผมจำแนกการเข้าร่วมออกเป็น 3 สาเหตุ หนึ่ง ผู้ก่อการร้ายที่ตัดสินใจเข้าร่วมหรือก่อเหตุเพราะอุดมการณ์ สอง ผู้ก่อการร้ายมีฐานะยากจน และเชื่อว่าการเข้าร่วมจะทำให้พวกเขาขึ้นสวรรค์ สาม ผู้ก่อการร้ายที่ตัดสินใจลงมือเพราะต้องการแก้แค้น ซึ่งสาเหตุนี้กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ซึ่งที่ผ่านมาเขาได้เยียวยาความคิดของนักรบกลุ่มญิฮัดบางคนแล้ว

     

จากการพูดคุยกับอิสมาอิล เราสามารถกล่าวได้ว่า เขาเลือกที่จะเข้าใจ ‘โครงสร้างของปัญหา’ ก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหาก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังลุกลามบานปลายไปทุกภูมิภาคของโลก และครอบคลุมไปทั้งบริบททางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา

     

“ผมอยากผลักดันแนวทางนี้ในระดับภูมิภาคและนานาชาติในภายภาคหน้า ขณะที่อาเซียนถูกมองว่าเป็นภูมิภาคแห่งความหวัง เพราะเรายังไม่เผชิญกับสงครามรุนแรงเท่ากับภูมิภาคอื่น การที่พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่สำคัญนั้น จึงหมายความว่าโลกกำลังเผชิญปัญหานี้อย่างแท้จริง”

     

ในปี 2016 กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเจอกับเหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 6 ครั้ง และเหตุโจมตีล่าสุดในฟิลิปปินส์ที่มีผู้เสียชีวิตไป 22 คน โดยผู้ลงมือได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส

 

เมียนมา: สร้าง ‘การศึกษา’ เสาหลักคานอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐ คือปัญหาที่เกือบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญร่วมกันมาเป็นเวลานาน และส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจนเกิดภาวะชะงัก ชะลอ หรือสะดุด ซึ่งบทบาทของ ‘องค์กรอิสระ’ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับความชอบธรรมของของรัฐ

     

ลิน เต็ด เน (Lin Htet Naing) คือนักศึกษาชาวเมียนมาที่ตัดสินใจก่อตั้งสหพันธ์นักศึกษาเมียนมา และ The Wings Capacity Building School โครงการสนับสนุนการศึกษาทางเลือกให้กับเยาวชนในเมียนมา ก่อนหน้านี้เขาถูกรัฐบาลทหารเมียนมาจับกุม 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2007 จากการร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และครั้งที่สองในปี 2015 จากการประท้วงต่อต้าน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ (เริ่มมีการบังคับใช้ในปี 2004) ที่ถูกนักศึกษาและภาคประชาสังคมมองว่ารัฐบาลทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมระบอบการศึกษา ไม่เปิดโอกาสให้ครู นักศึกษา และภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่พวกเขามองว่ารัฐบาลละเลยวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมถึงปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการก่อตั้งองค์กรนักศึกษาอย่างเป็นอิสระ

     

“เผด็จการทหารต้องการควบคุมทุกภาคส่วน เพราะต้องการให้อำนาจยังอยู่ในมือพวกเขา พวกเขาจึงพยายามล้างสมองคนรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบผ่านนโยบายการศึกษา อย่างเช่นสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียน หรือการรวมตัวของนักศึกษา และนี่คือสาเหตุว่าทำไมพวกเขาจึงต้องมีพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งทำให้พวกเขาควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับระบบการศึกษาได้เบ็ดเสร็จ และการศึกษาคือส่วนสำคัญที่จะทำให้ทหารสามารถควบคุมประเทศได้ง่ายขึ้น”

     

แม้ว่าวันนี้เมียนมาจะเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่นำโดยพรรค National League of Democracy อำนาจของทหารยังคงแทรกซึมผ่านรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

     

“รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 ที่อำนาจของทหารยังแทรกแซงอยู่ในการเมือง ทำให้รัฐบาลของพรรค NLD ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก และเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะเปลี่ยนในตอนนี้”

     

เมื่อประชาชนไม่อาจฝากความหวังทั้งหมดไว้กับนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ การผลักดันความเปลี่ยนแปลงด้วยภาคประชาชนจึงสำคัญ และนี่คือสาเหตุที่ลินเลือกที่จะผลักดันการศึกษาต่อผ่าน The Wings Capacity Building School โครงการสนับสนุนการศึกษาทางเลือกให้กับเยาวชนในเมียนมา เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยสร้างสันติภาพและสังคมประชาธิปไตย ขณะที่สหพันธ์นักศึกษาเมียนมาที่เขาได้ก่อตั้งนั้นยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายให้คำนึงถึงภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มากขึ้น รวมถึงให้อำนาจกับภาคการศึกษาได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรและเนื้อหาวิชา

     

“ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ ประชาธิปไตยไม่สามารถงอกเงยได้ การศึกษาควรถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่สร้างวัฒนธรรมแห่งประชาธิปไตยให้กับประชาชน”

 

กัมพูชา: ต่อกรภาครัฐด้วยการเปิดพื้นที่การแสดงออกและให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

ด้าน สุภาพ จัก (Sopheap Chak) ชาวกัมพูชา วัย 29 ปี เลือกที่จะขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาผ่านองค์กรอิสระเช่นเดียวกัน เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชา (Cambodian Center for Human Rights) เพื่อต่อสู้และลบล้างความกลัวในการแสดงออกทางความคิดโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐบาล เนื่องจากกัมพูชาเป็นอีกประเทศที่ถูกปกครองโดยพรรค Cambodian People’s Party (CPP) มาตั้งแต่ปี 1979 หรือเป็นเวลาทั้งหมด 38 ปี การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงถูกทั้งประชาชนและต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรม

     

“การที่รัฐบาลกัมพูชาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวของภาคประชาสังคม รวมถึงกวาดล้างและจับกุมนักเคลื่อนไหวได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว สิ่งนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวหลายคนถอดใจหรือหวาดกลัวที่จะรณรงค์เรื่องนี้” ซึ่งกัมพูชาได้ออกกฎหมายที่สามารถสั่งยุบองค์กรอิสระ และห้ามทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ (The Law on Associations and Non-Governmental Organisations หรือ LANGO)

     

กัมพูชากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลกัมพูชาพยายามรักษาอำนาจด้วยการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก จักได้พยายามต่อสู้ให้กัมพูชามีการเลือกตั้งที่มีคุณภาพให้ได้มากที่สุดด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เพราะจะเป็น ‘รากฐาน’ สำคัญที่นำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสและยุติธรรม

 

“องค์กรเราจัดรายการวิทยุ Human Rights Radio Program ที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองจากทุกพรรคได้มานำเสนอนโยบายและถกเถียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากฝ่ายรัฐบาล รายการนี้กระจายเสียงไปทั่วประเทศและได้รับการตอบรับที่ดีมาก นอกจากนี้เรายังจะส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการตามคูหาเลือกตั้งเพื่อป้องกันการทุจริต”

     

ภารกิจและกลยุทธ์ของศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชาคือการสร้างสังคมที่ตระหนักและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนโดยการปูพื้นสิ่งเหล่านี้จากรากฐาน และเดินหน้าทำวิจัยสะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา ทั้งเรื่องการครอบครองที่ดิน สิทธิของชนกลุ่มน้อยในกัมพูชา ผู้หญิง ไปจนถึงกลุ่ม LGBT

     

“เราให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในชุมชน และยังส่งเสริมให้พวกเขาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการแนะแนววิธีการ กลยุทธ์ และเครื่องมือที่จะสามารถขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้ พวกเขาจะตระหนักต่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่มีพลังมากขึ้น

     

“ท้ายที่สุด เมื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพ ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืนจะตามมา”

     

นี่คือเสียงจากคนรุ่นใหม่ 5 คน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะท้อนว่า ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา เราต่างเผชิญกับความท้าทายและปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

     

เสียงสะท้อนเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เราเห็นความจริงและปัญหาชัดขึ้น แต่ยังช่วยส่งเสียงของประชาชนให้ดังและไกลออกไปจนถึงจุดที่ฐานเสียงของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจของประชาธิปไตยเข้มแข็งและหนักแน่นมากพอ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X