“ไม่อยากจะพูดเลย แต่ไม่มีใครเขาจะกลัวเรื่องแบบนี้กันหรอกนะ มันก็แค่ความฝัน ใครจะไปกลัว”
เวส เครเวน ย้อนนึกถึงผลตอบรับหลังเสนอบทหนัง A Nightmare on Elm Street ให้ ฌอน คันนิงแฮม ผู้ให้กำเนิดเจสัน ตำนานสยองหน้ากากฮ็อกกี้ ใน Friday the 13th (1980)
“จุดเริ่มต้นของ Nightmare on Elm Street เริ่มมาจากตอนที่ผมเจอข่าวใน L.A. Times เกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่ตายขณะฝันร้าย” เวส เครเวน เล่าถึงตอนที่เขาพบข่าวเด็กเสียชีวิตหลังจากฝืนไม่หลับไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน โดยยืนยันว่าหากกลับไปนอนจะต้องตายแน่ๆ เมื่อเขาหลับไป พ่อแม่คิดว่าวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทว่าในคืนนั้นเด็กหนุ่มส่งเสียงกรีดร้อง มีอาการชักก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด
หัวข้อข่าวนั้นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ เฟรดดี้ ครูเกอร์ ฆาตกรที่ถูกพ่อแม่ของเด็กที่ถูกฆ่ารวมทั้งประชาชนในเมืองเผาทั้งเป็น ก่อนจะกลับมาในฐานะปีศาจร้ายแห่งความฝันเพื่อแก้แค้นคนในเมือง โดยผู้เคราะห์ร้ายกลุ่มแรกคือ ‘แนนซี่’ และเพื่อนๆ ของเธอที่ถูกเฟรดดี้ไล่ล่าในความฝัน เมื่อจนมุมเธอจึงเอาแขนนาบเข้ากับท่อเหล็กร้อนจนสะดุ้งตื่น แต่กลับพบว่าแขนเธอมีรอยไหม้เหมือนในฝันนั้นไปด้วย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แนนซี่เริ่มเข้าใจว่าชีวิตของเธอและเพื่อนๆ กำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะมีปีศาจร้ายตนหนึ่งกำลังตามฆ่าพวกเธอจากในความฝัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหลับไม่ลง เพราะอาจไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีกเลย
กว่าพล็อตฝันร้ายสุดสยองจะกลายมาเป็นความจริง เวส เครเวน ต้องใช้เวลา 3 ปี เพื่อเสนอบทไปตามสตูดิโอต่างๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง ยกเว้นค่ายดิสนีย์ที่มีท่าทีสนใจ แต่อยากให้ลดความดาร์กลงเพื่อให้เหมาะกับฐานคนดู ต้องยอมรับในความใจแข็งของเวส เครเวน ที่กล้าจะปฏิเสธโอกาสนี้ไป เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะได้เห็นเฟร็ดดี้ ครูเกอร์ ในเวอร์ชันหนังเด็ก ที่ไม่มีใครหวาดกลัวก็เป็นได้
จนในที่สุดเขาก็ได้พบกับ บ๊อบ เชย์ จาก New Line Cinema ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นบริษัทจัดจำหน่ายหนังเล็กๆ ที่ตัดสินใจรับสร้างความฝันนั้นให้กลายเป็นจริง และ Nightmare on Elm Street ที่มีทุนสร้างเพียง 1.8 ล้านเหรียญ ก็ทำรายได้ในสหรัฐอเมริกาไปมากถึง 25.5 ล้านเหรียญ แม้จะดูไม่มากเมื่อเทียบกับหนังใหญ่หลายเรื่อง แต่ก็มากพอที่จะทำให้ New Line Cinema ตัดสินใจทำภาคต่อ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์นิ้วเขมือบที่กอบกู้นิวไลน์จากวิกฤตทางการเงิน และสร้างตัวมาได้ถึงทุกวันนี้ จนทำให้บริษัทมีอีกหนึ่งฉายาว่า ‘บ้านที่เฟรดดี้สร้าง’
แม้จะเป็นหนังสยองขวัญแต่เรื่องราวก็ดำเนินไปอย่างแยบยลคล้ายเป็น Inception ที่มาก่อนกาล จุดแปลกของความฝันที่แตกต่างจากโลกจริงนั้นคือการที่ความฝันไม่มีจุดเริ่มต้น แต่มักเริ่มเหตุการณ์นั้นๆ ตรงกลางทางเสมอ ฉะนั้นระหว่างที่คนดูและตัวละครกำลังตั้งคำถามว่า “เรากำลังตื่นอยู่ หรือชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นเพียงความฝัน” ปีศาจร้ายอย่างเฟรดดี้ก็กำลังลูบกรงเล็บ รอเหยื่อของเขาอยู่ที่ไหนสักแห่งในโลกนี้
นอกจากพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ โรเบิร์ต อิงลันด์ ที่มารับบทภายใต้หน้ากากยางของเฟร็ดดี้ ครูเกอร์ คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Nightmare on Elm Street กลายเป็นหนังสยองขวัญที่แตกต่างจากภาพจำในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง
โดยปกติแล้วแฟรนไชส์หนังฆาตกรโรคจิตหรือปีศาจอำมหิตผิดมนุษย์มักจะเอาสตันต์แมนมาเล่น เพราะนักฆ่าเหล่านี้มักมีท่าทีเชื่องช้าและปกปิดตัวเองไว้ใต้หน้ากากหรือเมกอัปที่ทำให้ไม่ต้องพึ่งสีหน้าท่าทางในการแสดงสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเลเธอร์เฟซจาก The Texas Chain Saw Massacre (1974) ไมเคิล เมเยอร์ จาก Halloween (1978) ก็ใช้สตันต์แมนเล่นและเปลี่ยนคนแสดงไปเรื่อย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ฝีมือการแสดงของใครเป็นพิเศษ ทว่าคาแรกเตอร์ของ ‘เฟรดดี้ นิ้วเขมือบ’ นั้นต่างออกไป เพราะเวส เครเวน ต้องการใช้ ‘นักแสดง’ จริงๆ มารับบทนี้เพื่อให้เฟรดดี้มีบุคลิกและนิสัยเป็นของตัวเอง
แล้วก็เป็น โรเบิร์ต อิงลันด์ ที่ถึงแม้เขาจะเริ่มสร้างชื่อจากบทตัวประกอบในละครเวทีและซีรีส์หลายเรื่อง แต่ก็นับว่ามีพื้นฐานที่ดีกว่าสตันต์แมนทั่วไปหลายเท่า และเขาก็สามารถปลุกชีวิตให้เฟรดดี้ด้วยท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งการกรีดกรายกรงเล็บ ท่าเดินไหล่ตกข้างหนึ่งเป็นเอกลักษณ์เพราะกงเล็บที่หนักอึ้ง นอกจากนี้ โรเบิร์ต อิงลันด์ ยังช่วยผู้กำกับตัดสินใจเลือกหมวกของเฟรดดี้ เพราะคิดมาแล้วว่านั่นจะทำให้เงาของเฟรดดี้ที่สาดพาดบนกำแพงดูโดดเด่น รวมถึงด้นสดบทพูดสยองติดตลกที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเฟรดดี้อย่าง “ขอต้อนรับสู่ไพร์มไทม์ นางตัวดี” ก่อนจะกระชากตัวเด็กสาวที่อยากเป็นดารามาโหม่งหัวเข้าไปอยู่ในทีวีจริงๆ
แต่ก็ใช่ว่าเบื้องหลังการมีชีวิตบนแผ่นฟิล์มของตำนานปีศาจในความฝันจะไม่มีดราม่าอะไรเลย เพราะก่อนเริ่มถ่ายทำภาค 2 โรเบิร์ต อิงลันด์ ขอเรียกค่าตัวในการแสดงเพิ่มขึ้น ทำให้โปรดิวเซอร์อย่าง บ๊อบ เชย์ เกิดแคลงใจขึ้นมาว่า “ทำไมต้องเป็นโรเบิร์ต อิงลันด์ล่ะ มันก็แค่บทชายสวมหน้ากากยาง” แต่หลังจากลองกลับไปใช้วิธีแบบเก่า เขาก็พบว่าการเอาสตันต์แมนมาเล่นบทนี้ทำให้เฟรดดี้แข็งทื่ออย่างกับแฟรงเกนสไตน์ และสูญเสียเสน่ห์ไปหมด ลงท้ายบทปีศาจแห่งฝันร้ายจึงกลายเป็นงานที่คู่ควรกับ โรเบิร์ต อิงลันด์ มาตลอดทั้ง 6 ภาคของแฟรนไชส์ รวมไปถึง Wes Craven’s New Nightmare และ Freddy vs. Jason
และไม่ใช่แค่สร้างภาพหลอนให้กับคนดู แต่บทเฟร็ดดี้ ครูเกอร์ ยังส่งผลกระทบไปถึงตัวโรเบิร์ต อิงลันด์ แบบเต็มๆ ถึงขนาดที่เขาเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า
“ครั้งหนึ่งผมงีบหลับไปตอนแต่งหน้าเป็นเฟรดดี้อยู่ พอตื่นขึ้นมาผมสะดุ้งเลยตอนที่เหลือบไปเห็นกระจก ผมเจอชายหัวล้านหน้าเป็นแผลพุพองเละเทะจ้องมองผมออกมาจากกระจก เฟรดดี้จ้องมาที่ผม ผมใช้เวลา 4-5 วิกว่าจะรู้ตัวว่านั่นเป็นเงาตัวเอง แม้แต่ตัวผมเองก็ยังโดนเฟรดดี้หลอกหลอน บางครั้งผมก็ยังฝันร้ายถึงเรื่องนี้อยู่เลย”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.thefront.com/read/wes-craven-one-last-scream/
- filmmakermagazine.com/88153-i-dont-feel-like-i-gave-birth-to-jesus-wes-craven-on-a-nightmare-on-elm-street/
- www.floridatoday.com/story/entertainment/2016/10/05/freddy-krueger-robert-englund/91610916/
- thisbirdsday.com/robert-englund-freddy-krueger-interview
- สารคดี Never Sleep Again: The Elm Street Legacy