×

In Iran, print is not dead. ที่เตหะราน สื่อกระดาษยังไม่ตาย

17.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • Memar จะตีพิมพ์เนื้อหาที่ว่าด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศเป็นภาษาเปอร์เซียให้ผู้อ่านชาวอิหร่านได้อ่าน และยังเป็นพื้นที่ที่เชื้อเชิญให้สถาปนิกมาร่วมเขียนบทความเชิงวิพากษ์อย่างถึงพริกถึงขิง
  • ความเจ๋งของอาลี และ ABBookness ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เขามุ่งมั่นที่จะนำเสนอเฉพาะศิลปินในอิหร่านและประเทศรอบๆ แล้วส่งผลงานตรงไปยังแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา
  • นิตยสาร Neshan มีทีมงานทั้งหมด 3 คนเท่านั้น และพอจะเรียกได้ว่ามาจิดคือคนเดียวที่ทำเกือบทั้งเล่ม เขารับหน้าที่คิดธีมเล่ม เขียนบทบรรณาธิการ ติดต่อประสานงานนักเขียนต่างๆ คัดเลือกบทความ อีดิทบทความ จัดหน้า รวมไปถึงดูแลการผลิต
  • คนในประเทศของเขายังคงใช้การอ่านจากหน้ากระดาษเป็นหลัก ราคาหนังสือของพวกเขาจัดว่าอยู่ในราคาที่ถูก ไม่มีใครอ่านจากหน้าจอมากเท่าไร น่าจะเป็นเพราะคุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศ และการโดนเซนเซอร์เว็บต่างๆ อย่างเข้มงวดจากรัฐบาล

     หลังจากประชุมกันในกองบรรณาธิการว่าตกลงจะทำ art4d ฉบับพิเศษ ว่าด้วยความเป็นไปของวงการสถาปัตยกรรม ออกแบบ และศิลปะร่วมสมัยของอิหร่าน ที่ที่พวกเราตั้งใจจะไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาทำฉบับพิเศษที่ว่าก็หนีไม่พ้นเมืองหลวงของประเทศอย่างเตหะราน เมืองที่สถาปนิก นักออกแบบ และศิลปินอิหร่านที่มีผลงานโดดเด่นและไม่ได้ย้ายออกไปใช้ชีวิตที่ประเทศอื่นมักจะอาศัยและทำงานอยู่ เราใช้เวลาหมดไปกับการหาข้อมูลของสถาปนิก นักออกแบบ และศิลปินหลายต่อหลายคนที่อยากเขียนถึงพวกเขา พอค้นไปเรื่อยๆ ก็พบว่าสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ที่อิหร่านมีนิตยสารเกี่ยวกับงานออกแบบกราฟิกด้วยแฮะ

     นิตยสารกราฟิกเล่มนั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องเพิ่มลิสต์คนที่ต้องไปคุยด้วยที่เตหะรานมากขึ้น พวกเขาเหล่านั้นคือคนทำสื่อด้านศิลปะและออกแบบที่ยังเป็นกระดาษนั่นเอง

 

Photo: Ketsiree Wongwan / art4d

     

     ฉบับแรกที่ผมและทีมไปคุยด้วยคือ Memar นี่คือนิตยสารเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่สำคัญยิ่งของวงการสถาปัตยกรรมอิหร่าน ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อปี 1998 ในรูปแบบราย 3 เดือน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นราย 2 เดือนตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เนื้อหาของ Memar ความจริงแล้วก็ไม่ต่างจากนิตยสารสถาปัตยกรรมเล่มอื่นๆ ในโลกนี้สักเท่าไร เริ่มต้นด้วยข่าวสั้นๆ เกี่ยวกับความเป็นไปต่างๆ ของวงการสถาปัตยกรรมทั้งของอิหร่านและตะวันตก รีวิวโปรเจกต์จากทั้งในและต่างประเทศ บทสัมภาษณ์สถาปนิกอิหร่านที่น่าสนใจ รวมไปถึงการตีพิมพ์งานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของพวกเขา ส่วนที่ต่างจากนิตยสารสถาปัตยกรรมเล่มอื่นๆ ก็คือส่วนที่เรียกว่า Critique & Theory ที่พวกเขาจะตีพิมพ์เนื้อหาที่ว่าด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศเป็นภาษาเปอร์เซียให้ผู้อ่านชาวอิหร่านได้อ่าน และยังเป็นพื้นที่ที่เชื้อเชิญให้สถาปนิกมาร่วมเขียนบทความในเชิงวิพากษ์อย่างถึงพริกถึงขิงตามความเชื่อของบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้ว่า การเขียนจะช่วยทบทวนและขัดเกลาความคิดในการทำงานออกแบบของสถาปนิกให้ดีขึ้นได้

     นอกจากการแบ่งซอยเป็นส่วนๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว Memar ยังมีธีมประจำเล่มที่น่าสนใจในหลายฉบับด้วยกัน ตัวอย่างเช่น เล่มที่ว่าด้วยงานสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคในกรุงเตหะราน เล่มที่รวบรวมงานยุคโมเดิร์นของอาคารในเตหะรานช่วงปี 1950-1970 หรือเล่มที่ตั้งคำถามว่า Who’s Afraid of What? แล้วทั้งเล่มก็จะเป็นเรื่องของคนที่ Afriad of หัวข้อต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ทฤษฎีสถาปัตยกรรม การทำรีเสิร์ชด้านการออกแบบ และการคิดเชิงวิพากษ์

 

Photo: Piyapong Bhumichitra

 

Photo: Ketsiree Wongwan / art4d

 

     และที่ทำให้ Memar พิเศษยิ่งกว่านิตยสารสถาปัตย์เล่มอื่นก็คือ พวกเขามีการประกาศรางวัลประจำปีให้กับงานสถาปัตยกรรมและสถาปนิกที่มีผลงานโดดเด่นของอิหร่าน รางวัลนี้มีชื่อว่า Memar Award เริ่มต้นเมื่อปี 2004 โดยโซฮีลา เบสกี (Soheila Beski) ผู้ก่อตั้งนิตยสาร แบ่งรางวัลออกเป็น 4 สาขา ทั้งแบบที่เป็นบ้านเดี่ยว เป็นอพาร์ตเมนต์ เป็นอาคารสาธารณะ และอาคารรีโนเวต โดยจะเชิญสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินในแต่ละปีอีกด้วย

     รางวัลนี้เหมือนเป็นเครื่องยืนยันได้ประมาณหนึ่งว่า ถ้าคุณได้รางวัลนี้แล้วคุณก็จะได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว หลายๆ สตูดิโอที่เราเห็นมีผลงานลงในเว็บไซต์ Dezeen หรือ ArchDaily ก็ผ่านรางวัลนี้กันมาเกือบทั้งนั้น นี่คือวิธีที่น่าสนใจมากทีเดียวที่นิตยสารฉบับหนึ่งค่อยๆ เพิ่มบทบาทให้กับตัวเอง นอกจากจะเป็นแค่สื่อที่มีเนื้อหาแบบเฉพาะกลุ่มแล้ว ยังสามารถผันตัวเองไปเป็นสถาบันหลักที่สนับสนุนวงการสถาปัตยกรรมให้แข็งแรงและได้รับการยอมรับในระดับประเทศและภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

 

Photo: Ketsiree Wongwan / art4d

 

     รายถัดมาที่นัดเจอในลิสต์ก็คืออาลี บากิตารี (Ali Bakhitari) ผู้ชายคนนี้ถือเป็นตัวท็อปของวงการศิลปะร่วมสมัยอิหร่าน ไม่ว่าไปที่ไหน ใครๆ ก็รู้จักอาลี ทั้งสถาปนิก นักออกแบบกราฟิก เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงคนทำอาร์ตสเปซเปิดใหม่ในเตหะราน สิ่งที่อาลีทำนอกจากการเป็นคิวเรเตอร์งานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีชื่อดังของอิหร่านและของโลกแล้ว เขายังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์หนังสือศิลปะที่ชื่อ ABBookness อีกด้วย

     เพราะเชื่อว่ายังมีศิลปินที่ส่วนมากเป็น visual artist ที่ยังไม่เคยใช้หนังสือมาเป็นสื่อชนิดหนึ่งในการนำเสนอผลงานศิลปะของตัวเอง ABBookness คือโปรเจกต์ที่ทำให้อาลีได้ทำสิ่งที่ชอบพร้อมๆ กันทั้งสองอย่างเลย นั่นก็คือการคิวเรตงานศิลปะและการทำหนังสือ วิธีการทำงานของเขาก็คือ เลือกศิลปินที่สนใจ ตกลงกันว่าจะนำเสนออะไร จากนั้นก็ไปจับคู่กับกราฟิกดีไซเนอร์ที่เขาเห็นว่าเหมาะกับงาน แล้วก็ใช้เวลาพัฒนาแบบและเนื้อหาจนออกมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม หนังสือของ ABBookness ส่วนมากจะใช้วิธีการทำด้วยมือเกือบทุกเล่ม เล่มที่ผมชอบมากมีชื่อว่า The Grand Book of Heech ที่เขาเชิญปาวิซ ตานาโวลี (Parviz Tanavoli) ประติมากรชาวอิหร่านผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในตะวันออกกลางมาร่วมงาน พวกเขาทำออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ที่มีความนูน 3 มิติ วัสดุทำจากกระดาษหนาๆ แบบถาดใส่ไข่ที่เราซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนที่นูนสูงออกมาที่หน้าปกเป็นตัวหนังสือภาษาเปอร์เซียคำว่า Heech ที่แปลว่า ‘ไม่มี’ และคำนี้เป็นงานประติมากรรมที่โด่งดังของปาวิซในช่วงยุค 70s เมื่อค่อยๆ เปิดหนังสือเล่มนี้ไปทีละหน้า คำว่า Heech จะค่อยๆ หายไปจนหน้าสุดท้ายเหลือแต่กระดาษแบนๆ ไม่เหลือตัวอักษรนี้เลย  

     หนังสือของ ABBookness ออกมาได้ปีละเล่ม แต่ละเล่มก็ไม่ได้ผลิตจำนวนมากมาย น่าจะไม่เกินปกละ 100 เล่ม เพราะทำด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ คนที่ซื้อผลงานส่วนมากก็คือนักสะสมงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ รวมถึงแกลเลอรีต่างๆ ทั้งในอิหร่านและยุโรป ความเจ๋งของอาลีและ ABBookness ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เขามุ่งมั่นที่จะนำเสนอเฉพาะศิลปินในอิหร่านและประเทศรอบๆ แล้วส่งผลงานตรงไปยังแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา นอกจากสำนักพิมพ์ที่เขาทำขึ้นมาจะตอบสนองความหลงใหลส่วนตัวแล้ว มันยังเป็นการโปรโมตผลงานของศิลปินชาวอิหร่านในเวทีนานาชาติได้เป็นอย่างดี

Photo: ABBookness

 

Photo: Piyapong Bhumichitra

 

     สุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือ นิตยสารกราฟิกหัวแรกและหัวเดียวของประเทศอิหร่านที่พูดถึงตั้งแต่แรกนี้ชื่อ Neshan เป็นคำภาษาเปอร์เซีย ถ้าแปลภาษาอังกฤษแบบเร็วๆ ก็คือ sign หรือสัญญะ

     Neshan เกิดจากไอเดียของกลุ่มนักออกแบบกราฟิกที่ถือเป็นเสาหลักและเป็นตำนานของอิหร่าน เมื่อรู้สึกว่างานออกแบบกราฟิกในประเทศที่มีมากว่า 90 ปีเริ่มไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ พวกเขาจึงร่วมกันก่อตั้งนิตยสารเล่มนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2003 เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวมข่าวสารด้านงานออกแบบกราฟิกและสื่อสารถึงผู้อ่านถึงวิชาชีพนี้ โดยได้โมทีซา โมมาเยซ (Morteza Momayez) นักออกแบบกราฟิกระดับตำนานของอิหร่านมาเป็นบรรณาธิการบริหารคนแรก (เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2015) เขาเป็นคนออกแบบหัวหนังสือของ Neshan ที่ยังใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย ส่วนคนที่ผมไปนั่งคุยด้วยคือมาจิด อับบาซี (Majid Abbasi)  

     มาจิดเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่เป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบของตัวเองที่ชื่อ Studio Abbasi เขาเล่าให้ฟังว่า นอกจากต้องรันสตูอิโอออกแบบของตัวเองแล้ว เขายังคลั่งนิตยสารเล่มนี้มากๆ ขนาดที่ว่าไม่อยากให้นิตยสารเล่มนี้ต้องจากไป ก่อนเวลาอันควร เขาเลยมารับหน้าที่ Editor-in-chief ต่อจากโมทีซา

     Neshan มีทีมงานทั้งหมด 3 คนเท่านั้น และพอจะเรียกได้ว่ามาจิดคือคนที่ทำคนเดียวเกือบทั้งเล่ม เขารับหน้าที่คิดธีมเล่ม เขียนบทบรรณาธิการ ติดต่อประสานงานนักเขียนต่างๆ คัดเลือกบทความ อีดิทบทความ จัดหน้า รวมไปถึงดูแลการผลิต

     Neshan พิมพ์ออกมาปีละ 3 เล่ม ราคาเล่มละประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐ เนื้อหามีภาษาเปอร์เซียเป็นหลัก และมีภาษาอังกฤษรวมอยู่ช่วงท้ายของเล่ม แต่ละเล่มจะถูกเซตขึ้นมาเป็นธีม และจะใช้วิธีการเชิญนักเขียนจากที่ต่างๆ ทั่วโลกส่งบทความมาลง ซึ่งส่วนมากเขาเหล่านั้นเป็นเพื่อนกับมาจิด สิ่งที่พิเศษมากสำหรับ Neshan ก็คือ บทความทั้งหมดที่ได้มาจากนักเขียนต่างๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เขาใช้คำว่า ‘เหมือนงานการกุศลที่เพื่อนๆ ทำให้’ และเพื่อนที่ว่าของเขาส่วนมากก็เป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับงานออกแบบกราฟิกชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของโลก เช่น สตีเวน เฮลเลอร์ (Steven Heller)

     ธีมที่ Neshan นำเสนอในแต่ละเล่มก็น่าสนใจพอๆ กับรายชื่อนักเขียนชื่อดัง และสอดคล้องกับการออกแบบปกในแบบของมาจิด หน้าปกแบบที่ว่านี้ก็คือ การเลือกสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงเนื้อหาธีมเล่ม แล้วนำมาพิมพ์ในสีพิเศษคู่กับเทคนิคการปั๊มฟอยล์เงิน เป็นอย่างนี้ทุกฉบับนับตั้งแต่มาจิดเข้ามารับหน้าที่บรรณาธิการ

     มาจิดบอกผมว่า ส่วนที่ยากที่สุดของการทำ Neshan ก็คือการทำคอนเทนต์ เขาไล่เรียงให้ฟังว่าโครงสร้างของเนื้อหาในเล่มแบ่งเป็นอะไรบ้าง เริ่มจาก Opinion ที่เป็นบทความของนักเขียนรับเชิญที่ต้องเลือกให้สอดคล้องกับธีมหลัก ต่อด้วยบทสัมภาษณ์นักออกแบบต่างชาติที่เขามักจะต้องเป็นคนสัมภาษณ์เอง ส่วนที่สามคือเนื้อหาของวงการออกแบบกราฟิกร่วมสมัยของอิหร่าน และส่วนสุดท้ายคือการรีวิวหนังสือที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งถ้าเกือบทั้งหมดเป็นบทความภาษาอังกฤษ เขาจะต้องรับหน้าที่แปลกลับมาเป็นภาษาเปอร์เซียอีกด้วย ความยากก็คือการจัดการเนื้อหาพวกนี้ให้กลมกล่อมและลงตัวเหมาะกับแต่ละธีม

     การโดนคว่ำบาตรจากอเมริกาทำให้อิหร่านมีปัญหามากๆ ในเรื่องการโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ หลายธุรกิจต้องใช้วิธีโอนเงินไปประเทศที่สามแทน แล้วค่อยไปทำธุรกรรมกันผ่านบัญชีของประเทศนั้นๆ Neshan ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน มาจิดยกตัวอย่างให้ฟังว่า บางทีเวลาได้ลงโฆษณาของโรงเรียนสอนออกแบบในบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ กว่าจะได้ค่าโฆษณาก็เป็นเรื่องที่ลำบากเหลือเกิน รวมไปถึงการเปิดรับสมาชิกก็ทำได้แค่รับสมาชิกในประเทศเท่านั้น เพราะเหตุผลเดิม นั่นก็คือทั้งประเทศโดนคว่ำบาตร

     นอกจากวางแผงตามปกติแล้ว มาจิดยังใช้วิธีส่งหนังสือของเขาไปตามห้องสมุดของคณะที่มีการเรียนการสอนออกแบบกราฟิกของมหาวิทยาลัยในประเทศ และแผนการในอนาคตที่เขาคิดไว้ก็คือการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่ตอนนี้ก็เริ่มขยับขยายไปบ้างแล้ว โดยไม่ทิ้งฉบับพิมพ์ด้วยกระดาษโดยเด็ดขาด

 

Photo: Neshan Magazine

 

     ภาพรวมที่พอมองเห็นได้จากการคุยกับนิตยสารและคนทำสำนักพิมพ์หนังสือศิลปะของเตหะรานทำให้เห็นความเชื่อมโยงกัน 2-3 อย่าง อย่างแรกเลยก็คือความอินจัดของคนทำ อย่างที่สองคือคนในประเทศของเขายังคงใช้การอ่านจากหน้ากระดาษเป็นหลัก ราคาหนังสือของพวกเขาจัดว่าอยู่ในราคาที่ถูก ไม่มีใครอ่านจากหน้าจอมากเท่าไร น่าจะเป็นเพราะคุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศและการโดนเซนเซอร์เว็บต่างๆ อย่างเข้มงวดจากรัฐบาลด้วย อย่างสุดท้าย การผลิตหนังสือถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมอิหร่าน คนในประเทศเขามีความเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับการศึกษาคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาผู้คนในประเทศ อาชีพที่ให้ความรู้อย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงเป็นที่นิยมและได้รับความเคารพมากกว่าอาชีพอื่นๆ ถ้าขาดความเชื่อมโยงอย่างใดอย่างหนึ่งไป ผมเชื่อว่าสุดท้ายพวกเขาก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาผลิตหนังสือกันต่อแหละ …แต่จะด้วยความยากลำบากมากกว่านี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X