ประชาชนที่อาศัยอยู่ในนิวแคลิโดเนีย หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ นูแวล-กาเลดอนี (Nouvelle-Calédonie) ดินแดนโพ้นทะเลรูปแบบพิเศษที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีกำหนดการลงประชามติครั้งสำคัญในวันที่ 4 พ.ย. นี้ เพื่อตัดสินอนาคตของตัวเองว่าจะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสต่อไป หรือเลือกที่จะประกาศเอกราชและจัดตั้งเป็นประเทศใหม่ในท้ายที่สุด
การลงประชามตินี้มีขึ้นตามข้อตกลงนูเมอา (Nouméa) 1998 ที่ระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะยินยอมให้นิวแคลิโดเนียมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเอง ซึ่งการลงประชามติในครั้งนี้เป็นการลงประชามติรอบที่ 2 หลังจากที่การลงประชามติรอบแรก (ปี 1987) กว่า 98% ตัดสินใจที่จะอยู่กับฝรั่งเศสต่อไป โดยกลุ่ม Pro-independence ส่วนใหญ่บอยคอตการลงคะแนนเสียงในครั้งนั้น
ทางด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ระบุว่า เขายังคงต้องการให้นิวแคลิโดเนียอยู่กับฝรั่งเศสต่อไป ซึ่งดินแดนโพ้นทะเลนี้นอกจากจะมีความสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของฝรั่งเศสทั้งทางด้านการทหารและทางทะเล
“ฝรั่งเศสจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหากไม่มีนิวแคลิโดเนีย”
หากผลประชามติในครั้งนี้ นิวแคลิโดเนียเลือกที่จะแยกตัวจากฝรั่งเศส อาจยิ่งทำให้ดินแดนโพ้นทะเลอื่นๆ อาทิ เฟรนช์โปลินีเซีย เริ่มเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสได้ และจะทำให้นิวแคลิโดเนียกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ประเทศล่าสุดในประชาคมโลก ที่แยกตัวมาจากอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสในรอบเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่วานูอาตู ที่ประกาศเอกราชในปี 1980
แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงมากว่านิวแคลิโดเนียจะยังคงอยู่กับฝรั่งเศสต่อไปเพื่อผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เพราะในการเริ่มต้นเดินหน้าจัดตั้งประเทศใหม่นั้นจำต้องใช้การวางแผนที่เป็นระบบและงบประมาณจำนวนมหาศาล อีกทั้งการจะได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับดินแดนเล็กๆ แห่งนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: