รายงาน WWF Living Planet Report 2018 ที่จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมของโลก ระบุว่า โลกในปัจจุบันกำลังสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ซึ่งมีสัตว์ป่าล้มตายและสูญพันธุ์เป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
โดย WWF เผยว่า ในช่วงปี 1970-2014 ที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังไปมากกว่า 60% ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือแม้แต่สัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอย่างไม่หยุดยั้งของมนุษย์ โดยภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังล้มตายและสูญพันธ์ุไปมากที่สุดถึง 89% เมื่อเทียบกับช่วงยุคทศวรรษ 1970
ปัจจุบันทั่วทั้งโลกมีพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลกเท่านั้นที่ปลอดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ แต่คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะมีลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น ภายในปี 2050 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากความต้องการผลผลิตทางด้านอาหาร น้ำ พลังงาน และที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญคือ ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง
โดย WWF เสนอให้ทั่วโลกร่วมกันสร้างจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และธรรมชาติกันใหม่ ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วในสนธิสัญญาปารีส เมื่อปี 2015 โดยตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนร่วมกัน แม้ในภายหลัง ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะขอถอนตัวออกไปจากความตกลงก็ตาม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: