จีนได้ฤกษ์เปิดใช้งานสะพานและอุโมงค์ข้ามทะเลแห่งใหม่ที่มีระยะทางยาวที่สุดในโลกรวมกว่า 55 กิโลเมตร (34 ไมล์) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ดุจพญามังกรที่แหวกว่ายกลางท้องทะเล และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายความสำเร็จของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง หรือ Pearl River Delta รวมถึงในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ
สะพานแห่งนี้มีชื่อว่า Hong Kong-Zhuhai-Macau Bridge (HZMB) หรือ ‘กั่งจูเอ้าต้าเฉียว’ (港珠澳大桥) ในภาษาจีน ซึ่งเชื่อมต่อเกาะฮ่องกง มาเก๊า และเมืองจูไห่ในมณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง) เข้าด้วยกัน แต่เป้าหมายหลักของจีนไม่ใช่แค่ทำให้ 3 เมืองนี้มีความแนบแน่นยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่หมายมั่นจะทำให้เมือง 11 เมืองในภูมิภาคที่เรียกว่า Greater Bay Area เชื่อมต่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะรัฐบาลจีนต้องการผลักดันให้พื้นที่แถบนี้เป็นฮับทางเศรษฐกิจ หรือกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ (Cluster) ซึ่งมีประชากรมากถึง 68 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศรวมกัน)
แต่กว่าจะมาเป็นสะพานข้ามทะเลที่ครองสถิติโลกหลายรายการเช่นนี้ อภิมหาโครงการระดับเรือธงของคณะผู้นำจีนประสบปัญหามากมาย ตั้งแต่การก่อสร้างที่แล้วเสร็จล่าช้าไปจากกำหนดการเดิม 2 ปี เนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและแรงงาน ไปจนถึงการเสียชีวิตของคนงานก่อสร้าง ปัญหาคอร์รัปชัน และการทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรในทะเลจนยากจะฟื้นกลับคืน
นอกจากนี้การเปิดตัวสะพานแห่งนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางกระแสข้อกังขาต่างๆ นานาเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจนั่นก็คือ สะพานแห่งนี้จะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับเม็ดเงินลงทุนเกือบ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่
โอกาสทางเศรษฐกิจกับการดันเป็นฮับนวัตกรรม คู่แข่งนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก
ก่อนหน้านี้มีการประเมินเป็นตัวเลขว่า ในแต่ละปีจีนจะมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมใช้สะพานได้ประมาณ 83.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จีนจะต้องเสียค่าซ่อมบำรุงในปีแรกมากถึง 1 ใน 3 ของรายได้ดังกล่าว ซึ่งถูกมองว่าไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร
อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนมองว่า หากวัดที่รายได้จากค่าผ่านทางเพียงอย่างเดียวย่อมไม่คุ้มค่าแน่ ซึ่งจีนก็ไม่ได้มองแค่นั้น
เพราะเป้าหมายแท้จริงของโครงการสะพานแห่งนี้ก็คือ การสร้างตลาดเดียว (Single Market) บนพื้นที่ปากอ่าวขนาดใหญ่ ด้วยการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นตัวเชื่อมระบบการเงิน ห่วงโซ่การผลิต และศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมธุรกิจข้ามพรมแดน
อาจารย์อาร์มมองว่า โครงการสะพานนี้จะช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคแห่งนี้ก้าวขึ้นมาเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ แห่งใหม่ของจีน ตามรอยศูนย์กลางเทคโนโลยีในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เนื่องจากหลายเมืองใน Greater Bay Area มีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดีอยู่แล้ว
11 เมืองใน Greater Bay Area มีเมืองอะไรบ้าง
นอกจากฮ่องกง (香港), มาเก๊า (澳门), และจูไห่ (珠海) แล้ว เมืองและมหานครในพื้นที่ Greater Bay Area ยังประกอบด้วย เซินเจิ้น (深圳), กวางโจว (广州 – เมืองเอกของมณฑล), ฝอซาน (佛山), จงซาน (中山), เจียงเหมิน (江门), ฮุ่ยโจว (惠州), ตงกว่าน (东莞) และจ้าวชิ่ง (肇庆)
อันที่จริงแล้วสะพานฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค Greater Bay Area เท่านั้น เพราะยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 11,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเชื่อมต่อระบบรางของฮ่องกงเข้ากับโครงข่ายรถไฟไฮสปีดขนาดใหญ่ของจีนรวมระยะทางนับหมื่นกิโลเมตรด้วย ซึ่งเพิ่มช่องทางการคมนาคมขนส่งระหว่างศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียกับมณฑลกวางตุ้ง
นอกจากนี้ภายในพื้นที่ Greater Bay Area ยังมีโครงการสะพานเชื่อมระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับจงซาน และสะพานหู่เหมิน ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างมหานครกวางโจวและเมืองตงกว่านอีกด้วย
เมื่อมองจากตัวเลข GDP ข้างต้นจะเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย หากสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใน Greater Bay Area ที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าประเทศในกลุ่ม G20 หลายประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโกเสียอีก
ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคาร HSBC ยังคาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคแห่งนี้จะขยายตัวเพิ่มเกือบเท่าตัวเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025
ในบทวิเคราะห์ของ Financial Times ระบุว่า จีนไม่ได้มองว่าพื้นที่ Greater Bay Area เป็นดินแดนที่จะผนวกเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊าเพียงอย่างเดียว แต่คาดหวังให้เป็นฟันเฟืองที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตในภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ และหวังขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากที่มุ่งเน้นการผลิตและการส่งออกเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้านบริการ และพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
และการจะปลดล็อกการเติบโตในขั้นถัดไปได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายของประชากร เงินทุน และข้อมูลสารสนเทศระหว่างกันเสียก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการ HZMB นี้ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมธุรกิจข้ามพรมแดน และลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อสร้างตลาดเดียวในท้ายที่สุด
หากทำได้สำเร็จ พื้นที่แถบนี้จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของมหานครโตเกียวของญี่ปุ่น ซานฟรานซิสโก หรือแม้กระทั่งนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา
เมื่อมองเจาะลึกจุดเด่นของแต่ละเมืองจะพบว่า Greater Bay Area มีศักยภาพที่จะก้าวเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีแบบครบวงจร โดยมีฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่มาเก๊าเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจบันเทิงและท่องเที่ยว
ส่วนมณฑลกวางตุ้งเปรียบเหมือนเวิร์กช็อปของโลก โดยในปีที่แล้วมียอดส่งออกสินค้ารวมมูลค่า 670,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ามณฑลอื่นๆ ของจีน นอกจากนี้เศรษฐกิจของมณฑลนี้ยังขับเคลื่อนโดยบริษัทเอกชนในสัดส่วนที่มากกว่ามณฑลอื่นๆ ด้วย โดยที่ตงกว่านและฝอซานเป็นเมืองที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่เซินเจิ้น ซึ่งมีสมญานามว่าซิลิคอนแวลลีย์ของจีน เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และเป็นบ้านของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ตั้งแต่ DJI ผู้ผลิตโดรนชั้นนำของโลก ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง Huawei และ ZTE รวมถึงบริษัทเทคมาแรงอย่าง Tencent ซึ่งเป็นเจ้าของแอปแชตยอดนิยมอย่าง WeChat ด้วย ขณะที่กวางโจว เมืองเอกของมณฑล มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางด้านการค้าส่งและค้าปลีก
จุดประสงค์ทางการเมือง
แน่นอนว่าจีนทำอะไรย่อมมองถึงความจำเป็น แม้ว่าโครงการนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่จำเป็นต้องสร้างก็ได้ แต่อาจารย์อาร์มให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า โครงการสะพานเชื่อม 3 เมืองในบริเวณปากแม่น้ำจูเจียง เป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองที่จีนต้องการจะบอกให้ชาวโลกรับรู้ว่า ฮ่องกงและมาเก๊าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างแยกจากกันไม่ได้
การเดินทางมาเปิดสะพานของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเครื่องตอกย้ำว่า เมกะโปรเจกต์นี้เป็นวาระแห่งชาติและมีความสำคัญกับผู้นำจีนเป็นอย่างมาก
ย้อนกลับไปก่อนที่จะเปิดใช้งานสะพาน อวี๋เลี่ย รองผู้อำนวยการที่ดูแลโครงการนี้ยืนยันว่า สะพานฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
การเชื่อมฮ่องกงกับมาเก๊าด้วยระบบขนส่งทางบก จะช่วยให้สองเขตปกครองพิเศษมีความใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และความผูกพันระหว่างประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการมากกว่าตัวเลขเม็ดเงินที่เก็บได้จากค่าผ่านด่าน
นอกจากระบบโลจิสติกส์ที่จะดีขึ้นแล้ว ในด้านความมั่นคงก็เป็นสิ่งที่จีนให้ความสำคัญ เพราะเมื่อมองในด้านการทหารแล้ว การเปิดใช้สะพานแห่งนี้จะช่วยให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) สามารถลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์หนักมายังฮ่องกงและมาเก๊าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวฮ่องกงหวาดระแวง
ความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ
ปัญหาท้าทายสำคัญของโครงการนี้ก็คือ สะพานแห่งนี้สามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในบริเวณแถบนี้เป็นเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่หลายลูกในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า สะพานแห่งนี้มีความทนทานต่อลมพายุ และสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึงแมกนิจูด 8.0
กระแสต่อต้านในฮ่องกง
คนฮ่องกงจำนวนมากต่อต้านโครงการนี้ เพราะมองว่ารัฐบาลจีนมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง โดยหวังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายอิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่ง
นอกจากนี้สะพานแห่งนี้ยังจำกัดการสัญจรของรถยนต์ส่วนตัว โดยประชาชนทั่วไปในฮ่องกงจะต้องใช้รถบัสข้ามสะพานแทน ซึ่งทำให้คนฮ่องกงมองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากเท่าใดนัก
คนจำนวนมากยังมองว่าโครงการนี้มีลักษณะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เนื่องจากได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุนไป โดย BBC รายงานว่า โครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลฮ่องกงราว 15 ล้านเหรียญสหรัฐ
จะคุ้มค่าหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ แต่คงไม่ใช่ในแง่ของเม็ดเงินรายได้จากค่าผ่านทางเท่านั้น เพราะนั่นอาจเป็นมุมมองที่ตื้นเขินเกินไป สำหรับจีนและสีจิ้นผิงแล้ว พวกเขามองไกลกว่านั้นมาก หาก Greater Bay Area ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระดับเรือธงไม่ต่างจาก Belt & Road ประสบความสำเร็จขึ้นมา ย่อมประเมินค่าในทางเศรษฐกิจมิได้ โดยในอดีตจีนมีหลายโครงการที่พิสูจน์ให้เห็นมานักต่อนักว่าชาติตะวันตกอาจคิดผิด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.ft.com/content/fe5976d8-ab81-11e8-94bd-cba20d67390c
- uk.reuters.com/article/uk-china-hongkong-bridge/chinas-xi-opens-worlds-longest-sea-bridge-linking-hong-kong-macau-idUKKCN1MX05Q?utm_campaign=trueAnthem%3A+Trending+Content&utm_content=5bcf006d04d3013cceacf444&utm_medium=trueAnthem&utm_source=facebook&fbclid=IwAR3dO-bVkQAC7P2KAkhTsyPZ72E1EUDKx7mjWCqI1hVJVcSvBRWUo7I3Ynk
- www.straitstimes.com/asia/east-asia/mega-bridge-aims-to-create-single-market-in-pearl-river-delta
- โครงการสะพานเชื่อมจูไห่ ฮ่องกง และมาเก๊า ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 15 ปี แบ่งเป็นขั้นตอนการวางแผน 6 ปี และขั้นตอนก่อสร้าง 8 ปี ใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- โครงสร้างแบ่งเป็นตัวสะพานทอดยาวข้ามทะเลประมาณ 30 กิโลเมตร อุโมงค์ลอดใต้ทะเลยาว 6.7 กิโลเมตร และมีการสร้างเกาะเทียมขึ้น 2 แห่ง โดยหลังเปิดใช้จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาที
- เหล็กที่ใช้ก่อสร้างสะพานแห่งนี้สามารถนำไปสร้างหอไอเฟลแบบในกรุงปารีสได้ถึง 60 หอ