หากข่าวการย้ายกลับเอฟเวอร์ตัน ของ เวย์น รูนีย์ (Wayne Rooney) คือเรื่องราวโรแมนติกของลูกหนัง และการปิดฉากตำนานที่สวยงามตามขนบแล้ว ข่าวการเปิดตัว โรเมลู ลูกากู (Romelu Lukaku) กองหน้าทีมชาติเบลเยียม ที่เดินสวนทางไปหา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เป็นเรื่องและอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทั้งสนุก มัน และฮา เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อ
ช็อตการเปิดตัวบน Red Carpet ริมสระน้ำ ใต้ท้องฟ้าที่สดใสตัดกับชุดสีเพลิงของ ‘ปีศาจแดง’ และสีผิวดำขลับของกองหน้าที่เชื่อกันว่าบางทีหากทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไข ค่าตัวของลูกากูน่าจะมีมูลค่ามากที่สุดในโลกเวลานี้
ตัวเลขนั้นจะไม่ใช่แค่ 75 ล้านปอนด์อันเป็นค่าตัวเบื้องต้น แต่อาจจะมากยิ่งกว่า พอล ป็อกบา (Paul Pogba) เพื่อนซี้ที่เป็นเจ้าของสถิติโลกเดิมในการย้ายจาก ยูเวนตุส กลับมาโอลด์ แทรฟฟอร์ด อีกครั้งเมื่อฤดูกาลที่แล้วด้วยค่าตัว 93 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำ
แน่นอนครับว่านอกเหนือจากความสนุกแบบวายป่วงที่ได้เห็นจากคลิปวิดีโอที่กลายเป็นไวรัลในช่วงก่อนหน้าจะมีการตกลงย้ายทีม ก็มีหลายสิ่งที่แฟนฟุตบอลหลายคนตั้งคำถามอยู่ลึกๆ ในใจ
เงินมหาศาลที่จ่ายไปนั้น ‘คุ้ม’ หรือไม่?
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ค่าตัวของกองหน้ารายนี้พุ่งทะยานถึงระดับนั้น
และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะได้อะไร? นี่คือนักเตะที่จะนำทีมกลับไปทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้งหรือเปล่า?
75 ล้านปอนด์ (ขั้นต่ำ) สมเหตุสมผล?
หนึ่งในเรื่องที่กลายเป็น ‘ปัญหา’ ของวงการฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปเวลานี้คือเรื่องราคาค่าตัวของนักฟุตบอลที่พุ่งทะยานจนน่าตกใจ
ยกตัวอย่างเช่น เวอร์จิล ฟาน ไดค์ (Virgil van Dijk) ปราการหลังของทีมเซาแธมป์ตัน และ นาบี เกอิต้า (Naby Keita) มิดฟิลด์ดาวรุ่งของทีม แอร์เบ ไลป์ซิก (RB Leipzig) ถูกตั้งไว้ถึง 75 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เดิมมีไว้จ่ายสำหรับนักฟุตบอลในระดับสูงสุดของโลกเพียงเท่านั้น
หรือล่าสุด กิลฟี ซิเกิร์ดส์สัน (Gylfi Sigurdsson) กองกลางตัวทำเกมของ สวอนซี ถูกตั้งค่าตัวเอาไว้ถึง 50 ล้านปอนด์
เรื่องนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยกังขาและคาใจว่าแล้วค่าตัวของ โรเมลู ลูกากู เหมาะสมหรือไม่?
ตามรายงานข่าวที่ปรากฏ กองหน้าวัย 24 ปีรายนี้จะมีค่าตัวแตะหลัก 75 ล้านปอนด์เป็นขั้นต่ำ และหากเป็นไปตามรายงานข่าวคือ เอฟเวอร์ตัน มีโอกาสได้รับเงินเพิ่มอีกตามเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ (เช่น ลงสนามครบตามกำหนด, พาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ ฯลฯ) อีกกว่า 15 ล้านปอนด์
ไม่นับการคิดรวมค่าตัวของ เวย์น รูนีย์ (Wayne Rooney) ที่ถึงจะย้ายกลับเอฟเวอร์ตันแบบไม่มีค่าตัว แต่มีการประเมินว่า รูนีย์ก็มีค่าตัวอยู่ที่ราว 10 ล้านปอนด์ ซึ่งหากนับรวมทั้งหมดแล้วจะทำให้ ลูกากู มีค่าตัวสูงถึง 100 ล้านปอนด์
กรณีของ ลูกากู ต่อให้คิดแค่ตัวเลข 75 ล้านปอนด์ ก็เป็นเรื่องที่แม้แต่ผู้สันทัดกรณียังตัดสินได้ยากว่า ‘คุ้ม’ หรือไม่ครับ
แต่อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ชวนให้ ‘ตกเก้าอี้’ เหมือนกรณีของ ฟาน ไดค์ หรือซิเกิร์ดส์สัน
เหตุผลเพราะถึงจะอยู่กับทีมระดับกลางอย่าง เอฟเวอร์ตัน แต่ผลงานของ ลูกากู เป็นที่ประจักษ์ในเวทีพรีเมียร์ลีกแล้วว่าเขาคือ ‘ของจริง’
ผลงาน 25 ประตูในฤดูกาลที่แล้วกับ เอฟเวอร์ตัน เป็นรองแค่ แฮร์รี เคน (Harry Kane) ที่ยิงไป 29 ประตูแค่คนเดียว
ต้องเพิ่มในวงเล็บเข้าไปด้วยครับว่า ลูกากู เล่นในทีมอันดับที่ 7 ของตารางพรีเมียร์ลีก ที่ไม่ได้สร้างโอกาสหรือให้การสนับสนุนเขามากเท่ากับทีมอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และทีมอื่นๆ ในกลุ่ม Top 6
ขณะที่หากนับผลงานการทำประตูในพรีเมียร์ลีก นับตั้งแต่ย้ายจาก เชลซี มาอยู่กับ เอฟเวอร์ตัน ตั้งแต่กันยายน 2013 เป็นต้นมา เขาอยู่ในอันดับที่ 3 ทำไป 68 ประตู โดย 2 คนที่เหนือกว่าคือ เซร์จิโอ อเกวโร่ (Sergio Aguero) ที่ทำไป 86 ประตู และ แฮร์รี เคน ที่ทำไป 78 ประตู
ผลงานนั้นไม่น่าเกลียด ในทางตรงกันข้ามถือว่าน่ายกย่องด้วยซ้ำ
เมื่อประเมินจากผลงาน ตลาดนักเตะที่ในปีนี้ค่าตัวเฟ้อมากกว่าปกติ ตำแหน่งการเล่นและประโยชน์ที่มีต่อทีม (กองหน้าที่การันตี 20 ประตูต่อฤดูกาล) อายุ ประสบการณ์การเล่นในพรีเมียร์ลีก
รวมถึงประเมินจาก ‘ศักยภาพ’ ที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดของโลก และการมีเอเจนต์ที่ชื่อ มิโน ไรโอลา (Mino Raiola) แล้ว
เงินจำนวน 75 ล้านปอนด์ ที่แมนฯ ยูไนเต็ด จ่ายให้ ลูกากู อาจเป็นตัวเลขที่ดูแล้วรู้สึกได้ชัดเจนว่ามีการ ‘ปั่น’ ไปบ้าง
แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นตัวเลขที่ทำใจยอมรับไม่ได้ครับ
กองหน้าในฝันของ ‘ปีศาจแดง’?
ความเปลี่ยนแปลงทางแท็กติกการเล่นฟุตบอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้นักเตะบางตำแหน่งเป็นของหายากถึงขั้นใกล้เคียงกับการขาดแคลน
หนึ่งในตำแหน่งนั้นคือศูนย์หน้าในแบบฉบับ ‘หมายเลข 9’ (No. 9) หรืออาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘สไตรเกอร์’ (Striker) ที่มีหน้าที่ในการทำประตูสร้างความแตกต่างให้กับทีม นักเตะตำแหน่งนี้ค่อนข้างขาดแคลนครับ หลายๆ ทีมต้องลงเล่นโดยใช้กองหน้าที่มีความเร็วเป็นจุดเด่น หรือบางครั้งก็อาจใช้กองกลางขยับขึ้นมายืนเป็นกองหน้าในแบบ False nine หรือกองหน้าที่ไม่เชิงเป็นกองหน้า
ทีมใดมีกองหน้าแบบนี้ในทีมก็มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าทีมอื่น เหมือนเช่น บาเยิร์น มิวนิค มี โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ (Robert Lewandovski) หรือ เชลซี มี ดีเอโก้ คอสต้า (Diego Costa)
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เองประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ได้ 2 รายการที่ผ่านมา ก็เป็นความดีความชอบของ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช (Zlatan Ibrahimovic) สุดยอดศูนย์หน้าชาวสวีดิชอยู่ไม่น้อย
อย่างน้อยหลายๆ นัดที่เขาสามารถสร้างความแตกต่างให้กับทีมได้ด้วยตัวของเขาเอง รวมถึงในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ลีก คัพ (ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น คาราบาว คัพ) ที่มีส่วนทำ 2 ประตูสำคัญ โดยเฉพาะประตูชัยในช่วงท้ายเกมให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะเซาแธมป์ตันได้
เพียงแต่ด้วยวัยที่มากถึง 35 ปี ‘ปีศาจแดง’ รู้ตัวดีว่าไม่สามารถฝาก ‘อนาคต’ เอาไว้กับเขาได้
และเมื่อรวมกับอาการบาดเจ็บร้ายแรงที่เอ็นหัวเข่าในช่วงปลายฤดูกาลที่ทำให้ ซลาตัน ต้องปิดฉากการเล่นยาว โซเซ่ มูรินโญ (Jose Mourinho) จึงไม่มีทางเลือกอื่นมากไปกว่าการมองหากองหน้าใหม่เข้ามาเสริมทีมทันทีในช่วงปิดฤดูกาลนี้
ชื่อของกองหน้าหลายรายปรากฏขึ้น โดยเฉพาะรายของ อัลวาโร โมราตา (Alvaro Morata) กองหน้าทีมชาติสเปนของทีม เรอัล มาดริด ที่ผิดหวังกับการกลับมาโดนดองเหมือนเดิมในถิ่น ซานติอาโก เบอร์นาบิว ทั้งๆ ที่ย้ายกลับมาจาก ยูเวนตุส ในฐานะหนึ่งในดาวจรัสแสงของปี 2016
แต่การเจรจาที่ยืดเยื้อและไม่มีวี่แววว่าจะหาบทสรุปได้โดยง่าย ทำให้ มูรินโญ ไม่สนใจจะดึงตัวกองหน้ารายนี้อีกต่อไป
และล่าสุดมีการเปิดเผยว่านอกเหนือจาก โมราต้า แล้ว มูรินโญ ยังเคยปฏิเสธ อเล็กซองเดร ลากาแซตต์ (Alexandre Lacazette) ศูนย์หน้าทีมชาติฝรั่งเศส ก่อนหน้าที่จะตกลงย้ายไปร่วมทีม อาร์เซนอล ด้วย ขณะที่ แฮร์รี เคน ไม่สามารถย้ายทีมได้ และ คีลิยอง เอ็มบัปเป้ (Kylian Mbappe) ไม่สนใจจะย้ายมาเล่นในอังกฤษ
มูรินโญ ตัดสินใจเลือก ลูกากู – กองหน้าดาวรุ่งที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้เขาผิดหวัง กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง
ย้อนหลังกลับไปในช่วงที่กุนซือชาวโปรตุเกสยังคุมทีม เชลซี ในช่วงก่อนเข้าฤดูกาล 2013-2014 ลูกากู เป็นหนึ่งในกองหน้าดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด หลังทำผลงานให้กับ เวสต์ บรอมวิช อัลเบี้ยน ในการไปเล่นแบบยืมตัวได้อย่างน่าประทับใจในฤดูกาล 2012-2013
หลายคนคาดหวังว่าเขาจะได้ขยับขึ้นมาทดแทน ดิดิเยร์ ดรอกบา (Didier Drogba) ‘ไอดอล’ ที่โรยราเสียที
แต่สุดท้าย ลูกากู ซึ่งพลาดจุดโทษในเกม ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ กับ บาเยิร์น มิวนิค ก็ตัดสินใจขอลา เชลซี เพื่อไปเล่นให้กับ เอฟเวอร์ตัน แบบยืมตัวแทน ก่อนจะจบที่การย้ายทีมอย่างถาวรในเวลาต่อมาด้วยค่าตัว 28 ล้านปอนด์
ครั้งนั้น มูรินโญ ตั้งคำถามถึง ‘ทัศนคติ’ ของ ลูกากู อยู่ไม่น้อย
แต่สำหรับกองหน้าดาวรุ่งชาวเบลเยียม เขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาต้องการในเวลานั้นคือการลงเล่นอย่างต่อเนื่องและไม่จำเป็นต้องเป็นทีมใหญ่เสมอไป
ตรงนี้ผมคิดว่า ลูกากู คิดถูกครับ เพราะการย้ายมา เอฟเวอร์ตัน ถึงจะเป็นทีมที่เล็กกว่าแต่เขาได้โอกาสลงสนามต่อเนื่อง และตัวเลขผลงานมันบ่งบอกชัดเจนว่าเขาดีพอที่จะยืนอยู่แถวหน้าของพรีเมียร์ลีกได้สบายๆ
จากเด็กมหัศจรรย์ของเบลเยียม ที่ถูกเชลซี ดึงตัวมาจาก อันเดอร์เลชต์ ตั้งแต่อายุ 18 ปี เขาพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในกองหน้าที่มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดคนหนึ่ง
อาจจะไม่ใช่ No. 9 ที่ ‘ถูกทุกข้อ’ เพราะมีความเป็นกองหน้าตัวเป้า (Target man) อยู่พอสมควร แต่อย่างน้อยก็นับว่าใกล้เคียง
รูปร่างสูงใหญ่และพละกำลังดังช้างสารนั้นแน่นอนอยู่แล้วครับ แต่ทักษะการเล่นฟุตบอลด้วยเท้าที่นุ่มนวล ความปราดเปรียวที่มหัศจรรย์
แน่นอนสิ่งสำคัญที่สุดคือเซนส์และพรสวรรค์ในการทำประตูที่ครบเครื่อง ไม่ว่าจะเท้าซ้ายข้างถนัด เท้าขวาที่ไม่ขี้เหร่ และการโหม่งทำประตู
มากกว่านั้นคือการที่เขาเป็นคน ‘ชงเองกินเอง’ ได้ ซึ่งเหมาะกับสไตล์การเล่นของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคของ มูรินโญ ที่จะพึ่งพาความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นในแนวรุกมากเป็นพิเศษ นักเตะแบบ ลูกากู ถือว่า ‘ตอบโจทย์’ และอาจพอจะเรียกได้ว่าเป็น ‘กองหน้าในฝัน’
ขณะที่ ‘จุดอ่อน’ ของเขาที่ชัดเจนคือความไม่สม่ำเสมอ บทจะดีก็ดีใจหาย บทจะร้ายก็หายไปดื้อๆ และที่สำคัญคือ ลูกากู ยังต้องพิสูจน์ว่าเขามีจิตใจที่แกร่งพอที่จะเล่นให้กับทีมใหญ่ เพราะไม่ใช่นักเตะทุกคนที่เก่งกับทีมเล็กแล้วจะมาเล่นเหมือนเดิมได้กับทีมใหญ่ มันต้องการอะไรมากกว่านั้น
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถือเป็น ‘โบนัส’ สำหรับทีมปีศาจแดงคือการที่ ลูกากู และ ป็อกบา เป็น ‘เพื่อนรัก’ กันมาตั้งแต่เด็กๆ ชนิดที่พอจะเรียกกันได้ว่า Bromance เลยทีเดียวจากภาพที่ได้เห็น
ดาวยิงเบลเยียมเองยอมรับว่า Agent P. (อันหมายถึง ป็อกบา) มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกย้ายมาโอลด์ แทรฟฟอร์ด
ถึงจะไม่มีสูตรสำเร็จบัญญัติว่าการเป็นเพื่อนรักกันนอกสนาม จะส่งผลดีต่อการเล่นด้วยกันในสนาม แต่อย่างน้อยมันก็เป็น ‘ปัจจัยบวก’ ที่ดี
และเมื่อเจาะลึกลงไปถึง ‘จุดเด่น’ ของทั้งสองคนแล้ว มันชวนให้จินตนาการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ป็อกบาเปิด ลูกากูจบ และมูรินโญปรบมือ
เพียงแต่มันจะเป็นดังจินตนาการหรือไม่นั้น ต้องให้เวลาเป็นผู้ตัดสินครับ
- หนึ่งในเรื่องที่เรียกรอยยิ้มให้แก่วงการฟุตบอลคือการที่หนังสือพิมพ์ Irish Herald ดันเข้าใจผิดคิดว่าแรปเปอร์ Stormzy เป็น ลูกากู ถึงขั้นเอาภาพในชุดแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปลงบนหน้าปก เรียกเสียงฮาได้ทั้งโลก
- ในการสัมภาษณ์กันเองระหว่าง ป็อกบา และลูกากู ทั้งสองเล่าถึงความหลังว่ารู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่พ่อของ ลูกากู กลับบ้านมาเล่าให้ไอ้หนู โรเมลู ฟังด้วยความตื่นเต้นหลังได้เห็น ‘No. 10’ ของทีมชาติฝรั่งเศส ‘ที่ชื่อ พอล ป็อกบา หรืออะไรเนี่ย… มันเตะได้ทั้งซ้าย ทั้งขวา แล้วก็เปิดบอลระยะ 60 หลาได้แบบสบายๆ’ วันนั้น ลูกากู ไม่เชื่อ ก็เลยถามพี่ชายว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า
- ที่ฮากว่านั้นคือเส้นทางหลังจากนั้นทั้งสองต่างแยกกันเดินก่อน โดย ป็อกบา ไปเล่นให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่วนลูกากู มาอยู่กับเชลซี และในเกมที่ทั้งสองทีมพบกันเอง ทั้งคู่ไม่ได้โอกาสลงสนามแต่ดันนั่งม้านั่งสำรองข้างกัน ก็เลยหันมามองหน้ากันเองแล้วพูดขำๆ กันว่า “พวกเรามาทำอะไรกันที่นี่ (วะ)”