ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 2560 – ก.ย. 2561) ได้กว่า 1.91 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ถึงกว่า 1.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 7% และสูงกว่าเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายถึงกว่า 4.66 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีทั้งการตรวจวิเคราะห์ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีผลขาดทุนหรือมีกำไรทางบัญชีสูง แต่ชำระภาษีต่ำ การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรผู้ออกและผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และการแนะนำทางภาษีอากรกับกลุ่มธุรกิจเงินสด (Cash Economy) และธุรกิจที่มีศักยภาพในการเสียภาษี ทำให้สามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากมาตรการเหล่านี้ถึง 2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นหลายรายการ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เก็บได้กว่า 6.6 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6% ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เก็บได้กว่า 6.36 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 61.7% เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการจัดเก็บเพิ่มขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริโภค เก็บได้กว่า 7.92 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6.8%
สิ่งที่สำนักข่าว THE STANDARD ตั้งข้อสังเกตคือรายได้จาก ‘ภาษีการรับมรดก’ (Inheritance Tax) ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ผู้ที่ได้รับมรดกมูลค่ารวมเกินกว่า 100 ล้านบาทต้องเสียภาษี ‘ส่วนที่เกินจาก 100 ล้านบาท’ ในอัตรา 10% แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานจะถูกเก็บลดลงที่ 5% จากรายงานของกรมสรรพากรพบว่าปีงบประมาณ 2560 เก็บภาษีมรดกได้ 65 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 เก็บได้กว่า 219 ล้านบาท หากคำนวณอย่างง่ายๆ โดยใช้อัตราภาษี 5-10% นี้ นั่นคือมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมามีมูลค่ารวมอยู่ในช่วง 2.19-4.38 พันล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงการคลังระบุว่าผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดกมี 3 กรณีคือ 1. มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ 2. เป็นหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ และ 3. เป็นบุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องภาษีมรดกยังคงเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างทั่วโลกจนถึงขณะนี้
สำหรับปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561 – ก.ย. 2562) กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บภาษี 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 กว่า 8.39 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4.4% จากนี้กรมสรรพากรจะนำเทคโนโลยีใหม่มาช่วยในการทำงานมากขึ้นเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนงานของกรมสรรพากร อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีอากรมากขึ้น เพิ่มการจัดการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ และจะเร่งการขยายฐานภาษีและการสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: กรมสรรพากร