หลังจากเข้ามา ‘กระทำความป๊อป’ ในเมืองไทยได้พักใหญ่ เราเชื่อว่าตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Gudetama (กุเดทามะ) เจ้าไข่จอมขี้เกียจที่ไม่ทำอะไรนอกจากนั่งๆ นอนๆ และบ่นงึมงำไปวันๆ พอได้เห็นหน้าบ่อยๆ เราก็เริ่มตั้งคำถามว่า Gudetama มาจากไหน จุดเริ่มต้นของความป๊อปคืออะไร ความขี้เกียจสะท้อนวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้อย่างไร และตอนนี้เจ้าไข่จอมขี้เกียจโกอินเตอร์ไปไกลถึงไหนแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเรามีคำตอบ
Photo: @gudetama_sanrio, twitter/account
เริ่มต้นจากชื่อกันก่อน Gudetama เป็นการรวมกันของคำว่า Gude ซึ่งมาจากคำว่า Gudegude หรือ Gudenguden ที่แปลว่า ไม่สามารถทรงตัวได้ หรือหมดแรง (ซึ่งคนญี่ปุ่นมักจะใช้คำนี้กับคนที่เมาจนทรงตัวไม่ได้) และคำว่า Tama ซึ่งมาจากคำว่า Tamago ที่แปลว่า ไข่
จุดเริ่มต้นของ Gudetama คือความพ่ายแพ้
ในปี ค.ศ. 2013 Sanrio ได้จัดการประกวดค้นหาคาแรกเตอร์ที่เกี่ยวกับอาหารเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบในบริษัท และใช้สำหรับทดลองศักยภาพของคาแรกเตอร์ใหม่ ก่อนที่ทางบริษัทจะนำคาแรกเตอร์ดังกล่าวไปพัฒนาต่อ ซึ่งจากการประกวดในครั้งนี้ Gudetama ได้รับคะแนนโหวตเป็นอันดับที่ 2 โดยพลาดท่าเสียทีให้กับคาแรกเตอร์ปลาแซลมอนหน้าตาน่ารักแสนร่าเริงอย่าง Kirimichan (คิริมิจัง)
Photo: @kirimi_sanrio, twitter/account
ตัวสำรองที่ไม่ถูกมองข้าม
ถึงแม้ว่า Gudetama จะคว้าอันดับที่ 2 จากการประกวด แต่ในเมื่อความขี้เกียจมันฉายแววป๊อปขนาดนี้ ทำให้ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2014 Sanrio ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า Gudetama กำลังจะกลายเป็นแอนิเมชันซีรีส์ที่มีความยาวตอนละประมาณ 1 นาที และจะเริ่มออกอากาศครั้งแรกในเช้าวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2014 ทางช่อง TBS รวมถึงประกาศเปิดตัวออฟฟิเชียลทวิตเตอร์ของ Gudetama อย่างเป็นทางการ (@gudetama_sanrio)
ซึ่งแอนิเมชันซีรีส์นี้เองที่ทำให้ Gudetama กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น พิสูจน์ได้จากผลการประกวด Sanrio Character Ranking* ที่อันดับของ Gudetama เบียดแซง Kirimichan ขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 2014 ที่ Gudetama ได้อันดับที่ 7 ส่วน Kirimichan ได้อันดับที่ 8, ค.ศ. 2015 Gudetama ได้อันดับที่ 4 ส่วน Kirimichan ได้อันดับที่ 11 และ ค.ศ. 2016 Gudetama ได้อันดับที่ 4 ส่วน Kirimichan ได้อันดับที่ 9 (อันดับ 1 คือ Pompompurin อันดับ 2 Cinnamoroll อันดับ 3 My Melody ส่วนผลของการประกวดในปี 2017 จะประกาศในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้)
และด้วยความป๊อปที่มาแรงแบบฉุดไม่อยู่นี้ ทำให้ตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ Gudetama มีสินค้าออกวางจำหน่ายมากกว่า 1,700 รายการ โดยมีสินค้าครอบคลุมทุกการใช้งาน ไล่ตั้งแต่ ถุงเท้า ซอสถั่วเหลือง กระเป๋าเดินทาง และอื่นๆ อีกมากมายที่เราเองต่างก็อดใจไม่ไหวกับความน่ารักแบบขี้เกียจๆ จนต้องตกเป็นทาสเกือบทุกครั้งไป
นอกจากนี้ Gudetama ยังมีธีมคาเฟ่ของตัวเองตามรอยรุ่นพี่อย่าง Hello Kitty, My Melody, Pompompurin ฯลฯ ซึ่งมีทั้งคาเฟ่แบบถาวรและคอลลาบอเรชันกับร้านอาหารต่างๆ ทั้งในบ้านเกิดอย่าง Gudetama Cafe ที่โอซาก้า เกียวโต (สาขาเกียวโตเปิดให้บริการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม ถึง 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2016) โตเกียว (สาขาโตเกียวเปิดให้บริการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ถึง 15 มกราคม ค.ศ. 2017) และคาเฟ่ในต่างประเทศอย่างฮ่องกง (ร้าน Dim Sum Icon), ไต้หวัน (ร้าน Gudetama Chef), สิงคโปร์ (ร้าน Gudetama Cafe Singapore) และสหรัฐอเมริกา (ร้าน Plan Check*)
การเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารผ่านความขี้เกียจ
หากมองกันตามจริงแล้ว Gudetama นับว่ามีความแตกต่างจากคาแรกเตอร์ชื่อดังตัวอื่นๆ ของ Sanrio อย่าง Hello Kitty หรือ My Melody อย่างมาก เนื่องจากคาแรกเตอร์ของ Sanrio ส่วนใหญ่มักจะมีความสดใส ร่าเริง และเป็นมิตร ซึ่งต่างจาก Gudetama ที่มีบุคลิกไม่แยแส ไม่เป็นมิตร ไม่กระตือรือร้น
และที่สำคัญคือขี้เกียจมาก!
แต่ก็เพราะบุคลิกที่ไม่แยแสต่ออะไรใดๆ นี้เองที่ทำให้ Gudetama กลายเป็นดาวเด่นของ Sanrio และทวีความป๊อปมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้น ใครจะคิดว่า Gudetama จะเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารผ่านความขี้เกียจได้ด้วย
เรามักจะเห็น Gudetama อยู่ในสภาพของไข่ดิบที่นอนอยู่บนชามข้าวด้วยอากัปกิริยาขี้เกียจแบบต่างๆ แต่ด้วยฉายา ‘God of Egg’ ที่ไม่ว่าจะโดนเจียว ทอด ต้ม ตุ๋นไปกี่สิบครั้งก็ไม่มีวันตาย จึงทำให้เราได้เห็นการครีเอตคาแรกเตอร์เมนู Gudetama ในรูปแบบอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม เช่น Chawanmushi (ไข่ตุ๋น), Goya Chanpuru (มะระผัดเต้าหู้ไข่), Tamagoyaki (ไข่หวานย่าง) ฯลฯ
(Chawanmushi หรือไข่ตุ๋น)
(Goya Chanpuru หรือมะระผัดเต้าหู้ไข่)
(Tamagoyaki หรือไข่หวานย่าง)
Photo: @gudetama_sanrio, twitter/account
พี่น้องและผองเพื่อนของ Gudetama
ไม่ได้มาฟองเดียว เจ้าไข่ขี้เกียจยังมีเพื่อนอีก 12 ตัวที่เป็นเครือข่าย ได้แก่ Gyudechama, Rokku, Hadoboirudo, Uzura, Yudetamago, Guretama, Mentaiko, Tamago Doufu, Kurokkumadamu, DJ Gudetama, Nisetama และ Shakipiyo โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเป็นเพื่อนเล่นกับ Gudetama ในการทำภารกิจผ่านทีวีซีรีส์
Gyudechama
ไข่ที่พร้อมแจกจ่ายความรัก เรียกว่าเป็นเพื่อนที่คาแรกเตอร์
ตรงข้ามกับไข่ขี้เกียจไปเลย
Agetama หรือ Rokku
ไข่ทอดสายร็อก ที่หากมองใกล้ๆ จะเห็นลายเพนต์รูปดาวรอบดวงตา
แบบชาวร็อกอยู่ด้วย
Hadoboirudo
ไข่ต้ม ที่ถูกต้มมานานกว่า 15 นาที แล้วยังโดนหั่นครึ่งอีกต่างหาก
Uzura
ไข่นกกระทา นอกจากจะตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ แล้ว
เสียงของเขาก็ยังเล็กเหมือนขนาดตัวด้วย
Yudetamago
ไข่ต้มเบบี้ (ที่ไม่ระบุอายุ) หรือจริงๆ ก็คือ Gudetama ที่แต่งตัวเป็นเด็กทารก
Guretama
ไข่เน่า ที่นิสัยและคำพูดคำจาไม่ค่อยดีเท่าไร
Mentaiko
ไข่ปลาเมนไทโกะ
Tamago Doufu
เต้าหู้ไข่
Kurokkumadamu
ไข่ดาวที่วางอยู่ด้านบนแซนด์วิชแฮมชีส (เท่านั้น!)
DJ Gudetama
ไข่ดีเจผู้รักเสียงเพลง
Nisetama
ไข่ปลอม หรือชายปริศนาผู้ใส่บอดี้สูทสีเหลืองทั้งตัวและมีความสามารถด้านการเต้น
โดยเขาจะปรากฏตัวออกมาหลังจากแอนิเมชันจบ
Shakipiyo
ลูกไก่ที่ฟักออกจากไข่ หรือลูกเจี๊ยบ มีนิสัยหัวร้อนและเชื่อว่าตัวเองบินได้
Photo: www.sanrio.co.jp
การเดินทางกว่า 6,790 ไมล์เพื่อแจกจ่ายความน่ารัก
นอกเหนือจากเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารแล้ว การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงอเมริกาของ Gudetama ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความน่ารักแบบคาวาอิที่หลากหลายและซับซ้อน ในขณะที่คำจำกัดความของ ‘ความน่ารัก’ ในอเมริกานั้นแตกต่างกัน
เพราะสำหรับชาวอเมริกัน คาแรกเตอร์ต่างๆ ยังคงความชัดเจนว่าขาวหรือดำ ดีหรือชั่วร้าย เช่น Snow White กับ Evil Queen (จาก Snow White and the Seven Dwarfs), Ariel กับ Ursula (จาก The Little Mermaid) เป็นต้น
(Ursula และ Ariel จาก The Little Mermaid)
แต่สำหรับความน่ารักของญี่ปุ่น Gudetama ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคาวาอิแบบ Kimo-Kawaii และ Yuru-Kawaii
คำว่า Kimo แปลว่า น่ารังเกียจ มาจากคำว่า Kimochi Warui ส่วนคำว่า Kawaii แปลว่า น่ารัก ซึ่งคาแรกเตอร์ดาวเด่นของ Kimo-Kawaii คือ Gloomy Bear ที่ออกแบบโดย Mori Chack เจ้าหมีสีชมพูที่หน้าตาน่ารัก แต่กรงเล็บมักจะเต็มไปด้วยเลือด ซึ่งเกิดจากการทำร้ายเจ้าของของตัวเองเสมอ
Photo: www.chax.cc
ในขณะที่คำว่า Yuru-Kawaii นั้น Yuru หมายถึง ผ่อนคลายและสงบ ซึ่งคาแรกเตอร์ดาวเด่นของ Yuru-Kawaii คือเจ้าหมี Rilakkuma หมีสีน้ำตาลหน้าตาน่ารักที่มีไลฟ์สไตล์สบายๆ จากบริษัท San-X (บริษัทคู่แข่งของ Sanrio)
Photo: San-X, Facebook/Profile
ซึ่ง Gudetama เองก็มีทั้งองค์ประกอบของ Kimo-Kawaii และ Yuru-Kawaii คือภายนอกจะดูน่ารัก ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็มีลักษณะนิสัยที่ออกจะขี้เกียจ ซึ่งไม่ได้รุนแรงจนเกินไป จึงทำให้ Gudetama กลายเป็นส่วนผสมทางวัฒนธรรมแบบคาวาอิที่ออกจะซับซ้อนสำหรับชาวอเมริกันไปโดยปริยาย
Gudetama Therapy ความผ่อนคลายสไตล์คาวาอิ
เนื่องจากในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันต้องพบเจอกับการสูญเสียมากมาย ตั้งแต่ข่าวการก่อการร้าย ปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฯลฯ ทำให้กิจการด้านสปา โยคะ คลาสเรียนทำสมาธิ หรือกิจกรรมสร้างความผ่อนคลายต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นนั้นเพียงแค่มองไปที่คาแรกเตอร์แบบ Yuru-Kawaii เท่านั้นก็จะช่วยให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายได้
Gudetama สอดคล้องกับแนวคิด self-care หรือการดูแลตนเองที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการกดแชร์ภาพสัตว์โลกน่ารักบนไทม์ไลน์หรือ meme ต่างๆ ซึ่งการดูแอนิเมชันซีรีส์ของ Gudetama เองก็ถือเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่งที่ช่วยลดความตึงเครียดในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
ในท้ายที่สุด เจ้าไข่ขี้เกียจก็ไหลลื่นตัวเองเข้าไปอยู่ในใจของคนอเมริกันได้ไม่ยาก ด้วยความน่ารักในแบบขี้เกียจๆ แล้วยังช่วยแก้เครียดได้อย่างไม่น่าเชื่อนี่เอง
อ้างอิง:
– www.animenewsnetwork.com
– www.japansubculture.com/gudetama-the-lazy-egg-that-japan-loves/
– www.facebook.com/gudetamacafesg/
– www.travelandleisure.com/articles/los-angeles-gudetama-themed-restaurant
– www.sanrio.co.jp/character/gudetama/?relation
– www.vox.com/2017/4/3/14685348/gudetama-sanrio-hello-kitty-explained
– firstwefeast.com/eat/2016/02/gudetama-lazy-egg-internet-star
– www.tofugu.com/japan/kimokawaii/
– www.sanrio.co.jp/special/characterranking/2016/
- เมื่อเห็นความสำเร็จจากคาแรกเตอร์ที่แตกต่างอย่างเจ้าไข่ขี้เกียจ คาแรกเตอร์ใหม่ที่ชื่อ Aggretsuko จึงดำเนินรอยตามด้วยอาชีพพนักงานออฟฟิศที่ตกเย็นจะไปดื่มเบียร์และร้องคาราโอเกะเพลงเฮฟวีเมทัลเพื่อแก้เครียด
- Sanrio Character Ranking คือการประกวดคาแรกเตอร์ยอดนิยมประจำปีที่ตอนนี้เปิดให้แฟนๆ โหวตคาแรกเตอร์ที่ชื่นชอบได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 11 มิถุนายน ค.ศ. 2017 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ sanriocharacterranking.com
- Plan Check เป็นร้านมินิเบอร์เกอร์ยอดนิยมในลอสแอนเจลิสที่ร่วมมือกับ Sanrio ในปี 2015 ซึ่งครีเอตเมนูพิเศษจาก Gudetama โดยจัดเสิร์ฟอาหาร 3 คอร์สในราคา 39 เหรียญสหรัฐ
- การร่วมมือกันของร้าน Plan Check และ Sanrio ในการจัดทำเมนูพิเศษเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 จากการสร้างเมนู Hello Kitty Burger Bento